ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้เชี่ยวชาญได้มีการเสนอว่า 'ประเทศกลุ่มเอเชีย' ควรจับมือเพิ่มบทบาทตนเองในนโยบายสุขภาพโลก โดยชูแนวคิดความเป็น 'ชุมชน' ของชาวเอเชีย ที่จะช่วยยกระดับความร่วมมือข้ามพรมแดนเพื่อจัดการโรคระบาดในอนาคต

แนวคิดนี้ถูกนำเสนอโดยโดย นพ.เค ศรีนาถ เรดดี้ (K. Srinath Reddy) ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์แห่งมูลนิธิสาธารณสุขอินเดีย (Public Health Foundation India) และ ปรียา บาลาสุภามาเนียม (Priya Balasubramaniam) นักวิทยาศาสตร์ของมูลนิธิ และผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมสุขภาพยั่งยืน (Centre for Sustainable Health Innovations) ในสิงคโปร์

ทั้งสองได้ร่วมกันเขียนบทความซึ่งเผยแพร่ในนิตยสาร Foreign Policy เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 ระบุว่า มุมมองการรับมือโรคระบาดของเอเชีย มักถูกละเลยโดยกลุ่มนักวางแผนเชิงนโยบายสุขภาพที่มีอิทธิพลในโลก โดยเฉพาะผู้ที่มาจากรัฐบาลซีกโลกตะวันตกและองค์กรระหว่างประเทศ

'นโยบายสุขภาพโลก' ที่ผ่านมาอิงอยู่กับแนวคิดของ 'ชาวตะวันตก' ซึ่งมีรากฐานมาจากยุคอาณานิคม โดยเจ้าอาณานิคมเน้นทำมาตรการดูแลสุขภาพที่ปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง มากกว่าตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่ใต้การปกครอง

แนวคิดนี้สะท้อนผ่านนโยบายการให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ในระหว่างทศวรรษที่ 2520-2540 ซึ่งประเทศพัฒนาทำโครงการสุขภาพที่เน้นจัดหาวัคซีน ยาฆ่าเชื้อ และอาหารเสริม ซึ่งให้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมยาในประเทศของตน

ทั้งยังมุ่งเน้นหยุดยั้งโรคที่เป็นภัยคุกคามกับชาวตะวันตก เช่น โรคเอดส์ ไข้หวัดนก และไข้หวัดหมู แม้ว่าประเทศกำลังพัฒนาในขณะนั้นเผชิญความท้าทายจากโรคติดเชื้อ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของแม่และเด็ก

ในศตวรรษที่ 21 แนวคิดการเอื้อประโยชน์แก่ 'อุตสาหกรรมยา' ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศพัฒนาทำกำไรมหาศาลจากยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ลดอัตราการเสียชีวิตและการพิการจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ และเบาหวาน

แต่ประเทศพัฒนาเหล่านี้กลับไม่เคยจำกัดการค้า บุหรี่ แอลกอฮอล์ และอาหารรสหวาน ที่เป็นต้นตอการระบาดของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง

ในระหว่างวิกฤตโควิด-19 ผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยายังคงปรากฎให้เห็นเด่นชัด ประเทศพัฒนาอย่าง ออสเตรเลีย แคนาดา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ร่วมกันปกป้องสิทธิบัตรวัคซีนต้านโควิดในเวทีองค์การค้าโลก ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่าง อินเดีย และแอฟริกาใต้ ขอยกเว้นสิทธิบัตรชั่วคราวเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ

เรดดี้ และ บาลาสุภามาเนียม เสนอว่า วิกฤตโรคระบาดนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าเราไม่สามารถนำการค้าเข้ามาเป็นรากฐานของนโยบายสุขภาพโลกได้อีกต่อไป นานาประเทศต้องร่วมแบ่งปันค่านิยมที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรทุกคน

พวกเขาระบุว่า 'เอเชีย' สามารถนำพาการเปลี่ยนค่านิยมนี้ได้ด้วยปัจจัยหลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น ภูมิภาคนี้เป็นบ้านของประชากรโลกมากถึง 60% เพียงแค่ในจีนและอินเดียก็มีประชากรรวมกันมากถึง 3,000 ล้านคนแล้ว ที่มีแนวคิดความเป็น 'ชุมชน' และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวสูง

เอเชีย ยังมีความสามารถในการดูแลสุขภาพประชากร เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ต่างติดอันดับ 5 ประเทศที่มีอายุยืนที่สุดในโลก ในขณะที่ประเทศอย่าง ภูฏาน กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ศรีลังกา ไทย และเวียดนาม ก็สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตคนให้มีอายุยาวนานขึ้นได้ในระหว่างปี 2543-2562

นอกจากนี้ เอเชียยังมีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมและบริการสุขภาพ เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่เข้ามารับการรักษาในเอเชียเพิ่มขึ้น เพราะมีบริการคุณภาพสูง และมีการพัฒนาอุตสาหกรรมยาที่ก้าวกระโดด หลายประเทศมีนวัตกรรมด้านการเงิน การจัดบริการต้นทุนประหยัด เครื่องมือและแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับจีนและอินเดีย สามารถพัฒนาวัคซีนต้านโควิดได้เอง และได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก โดยอินเดียกลายเป็นศูนย์ผลิตวัคซีนของโลก สามารถจัดหาวัคซีนให้กับ 96 ประเทศทั่วโลก ขณะที่วัคซีนต้านโควิดของจีน ถูกใช้เป็นจำนวนเกือบครึ่งของวัคซีนที่ให้บริการทั่วโลกในปี 2564

ความร่วมมือร่วมใจของประเทศในเอเชียยังเห็นได้ชัดจากความพยายามสร้าง 'หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า' โดยมีหลายประเทศที่ไม่ต้องพึ่งพาประกันสุขภาพเอกชน ทั้งยังเห็นความก้าวหน้าในการจัดบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอย่างบุหรี่และอาหารแปรรูป

ในด้านงานวิจัย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศกลุ่มอาเซียน ได้ร่วมทำงานวิจัยข้ามพรมแดนและแบ่งปันทรัพยากรในการสร้างระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง ความร่วมมือนี้คือกุญแจสำคัญที่จะส่งเสริมบทบาทของเอเชียในการรับมือและตอบสนองต่อภัยคุกคามทางสุขภาพ แม้จะยังมีความท้าทายด้านความแตกต่างทางนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจอยู่บ้าง

ส่วน จีน ถือว่ามีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมสุขภาพมากที่สุด และนำนวัตกรรมนี้ผนวกเข้ากับโครงการเส้นทางสายไหมทางบกและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมความร่วมมือด้านสุขภาพกับประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งกลุ่มประเทศในแอฟริกา

การนำทางของจีนจะส่งผลโดยตรงต่อความร่วมมือของนานาประเทศในเอเชีย ซึ่งต้องพัฒนาโครงสร้างการบริหารความร่วมมือข้ามพรมแดนอย่างมีระบบ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อโรค บทเรียนจากวิกฤตโควิด-19 จะทำให้ประเทศในเอเชียเสาะหาความร่วมมือทางสุขภาพมากยิ่งขึ้น

เรดดี้ และ บาลาสุภามาเนียม ร่วมกันสรุปว่า การจะทำให้เอเชียเฉิดฉายในเวทีสุขภาพโลก จำเป็นต้องเกิดการผลักดันนโยบายร่วมกัน พร้อมพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่เหนี่ยวแน่นยิ่งขึ้นอีก รวมทั้งเป็นพันธมิตรที่มีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมประสิทธิภาพด้านการศึกษาทางการแพทย์ การฝึกอบรมบุคลากรสุขภาพ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพ

ความร่วมมือนี้คือโอกาสของเอเชียในการเปลี่ยนระบบการเมืองภายในภูมิภาค และเพิ่มอิทธิพลของเอเชียในพื้นที่นโยบายสุขภาพโลก เพื่อสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรอย่างเท่าเทียม และสร้างโลกที่เป็นอันหนึ่งอันเดียว พร้อมรับมือโรคระบาดครั้งต่อไป


อ้างอิง: https://foreignpolicy.com/2024/03/28/global-health-asia-leader-solidarity-innovation-covid-pandemic/