ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.-ดีอีเอส จับมือพัฒนา “ระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข” เชื่อมโยง-แลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพของหน่วยบริการทุกระดับ กระจายทุกเขตสุขภาพ รับการขับเคลื่อนนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ฯ” เพื่อประโยชน์ประชาชน มั่นใจระบบความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังการเปิดโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2567 ตอนหนึ่งว่า การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข แม้ว่า สธ. จะมีความพร้อมในระบบหลังบ้านและหน้าบ้านอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเชื่อมโยงข้อมูลเชิงระบบ

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ที่ผ่านมา สธ. ใช้คลาวด์จากเอกชนเข้ามาดำเนินการ มากไปกว่านั้นยังสามารถสร้างความมั่นใจให้กับเอกชน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน เช่น กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงกลาโหม (กห.) ซึ่งมีความจำเป็นต่อนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ที่จะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลกัน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว

อย่างไรก็ดี การวางระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขจะวางตามเขตสุขภาพ 12 เขต และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เนื่องจาก สธ. มีฐานข้อมูลที่ใหญ่และกว้าง ซึ่งหลังจากนั้นจะมีการเชื่อมเข้าส่วนกลาง โดยจะเป็นหลักประกันในการดูแลความมั่นคง ความปลอดภัยของระบบและข้อมูลส่วนบุคคลด้วย

“เมื่อเชื่อมได้ทั้งหมด สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อไปคือ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ จะเป็นจริงขึ้นมา จะสามารถเข้ารับบริการที่ไหนก็ได้เพราะมีฐานข้อมูลเดียวกัน ซึ่งนอกเหนือจะอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ยังสามารถเป็นฐานข้อมูลได้ว่าการใช้บริการที่เกิดขึ้นมีความจำเป็น ซ้ำซ้อน หรือไม่สมเหตุสมผลอย่างไร ซึ่งจะเป็นการปรับปรุง ปรับเปลี่ยนระบบได้” นพ.ชลน่าน ระบุ

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องความมั่นคง ปลอดภัยทางไซเบอร์ สธ. เองมีประสบการณ์จากการถูกโจมตีที่ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องในเฟสแรก ซึ่งขณะนั้นก็สามารถตรวจจับและป้องกันระบบได้ ฉะนั้นมั่นใจในสิ่งที่เตรียมพร้อมเอาไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้เป็นการท้าทาย เพราะต้องยอมรับว่าคนที่มีความรู้ความสามารถนั้นมีความหลากหลาย ฉะนั้น สธ. จึงมีหน้าที่พัฒนาตัวเองและป้องกันให้ดีที่สุด จึงอยากจะแจ้งเพื่อความมั่นใจว่าขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย 

ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ยังได้กล่าวถึงนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระบุว่า สธ. มีเป้าหมายที่จะยกระดับตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ธ.ค. 2567 โดยในเดือน ก.ย.นี้ จะเป็นเฟสที่ 3 ในเขตสุขภาพที่ 1, 3, 4, 8, 9 และ 12 รวม 40 จังหวัดที่จะสามารถให้บริการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ โดยใช้งบประมาณจากงบปี 2567 และจังหวัดที่เหลือจะใช้งบประมาณจากงบปี 2568

นายประเสริฐ จัทรรวงทอง

ด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐมีความเชื่อมโยงกับนโยบาย สธ. 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เนื่องจากเป็นการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญยังให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ฉะนั้นสำหรับการพัฒนาโครงการนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดคือประชาชน ที่จะได้รับบริการอย่างเต็มที่และมีคุณภาพ

อย่างไรก็ดี โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขนั้นเป็นความร่วมมือกันระหว่างดีอีเอส และสธ. ครอบคลุมไปยังโรงพยาบาลในแต่ละระดับ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในสังกัด สธ. ซึ่งตลอดระยะเวลาในการดำเนินการนั้นก็จะดำเนินการให้สำเร็จ โดยขณะนี้โครงการฯ อยู่ในระยะที่ 2 และคาดว่าในเดือน ส.ค. 2567 จะสามารถใช้ได้

“การที่เราเอาระบบคลาวด์มาใช้ หมายถึงเรามีความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งมีระบบป้องกันเป็นอย่างดี เดิมที่ผ่านมาในระดับภูมิภาคยังมีการบันทึกข้อมูลในระบบธรรมดา แต่ครั้งนี้เรานำข้อมูลมารวมที่ส่วนกลางเป็นศูนย์ข้อมูลกลางเก็บในที่ที่ปลอดภัย เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นการคุ้มครองและรักษาข้อมูลได้เป็นอย่างดี คลาวด์นี้จะเป็นระบบที่ช่วยให้ข้อมูลมีความปลอดภัยมากขึ้น” นายประเสริฐ ระบุ

1