ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โฆษกสำนักนายกฯ เผยกรมควบคุมโรคกำลังเฝ้าระวังเข้มชายแดนติด สปป.ลาว หลังพบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ระบาดที่เพื่อนบ้าน เผย นายกฯ กำชับนพ.ชลน่าน คุ้มเข้มสาธารณสุขชายแดน หากพบมีอาการใกล้เคียงต้องสอบสวนโรคทันที 


วันที่ 28 มี.ค.2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังประสานหน่วยงานในพื้นที่ โดยเฉพาะกับด่านช่องทางเข้าออกที่ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อเฝ้าระวังโรคทั้งในคน และสัตว์ หลังจาก สปป.ลาว พบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ 54 ราย และพบสัตว์ป่วยตายในช่วงเดือนนี้ 

"หากเราพบผู้ป่วยทีมีอาการเหมือนกับโรคแอนแทรกช์ จะมีการสอบสวนโรคและรายงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทันที แต่ตอนนี้เรายังไม่พบ" นายชัย ย้ำ 

 โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า สำหรับประชาชน หากพบโค-กระบือป่วยตายผิดปกติ ให้รีบแจ้งหน่วยงานปศุสัตว์ในพื้นที่หรือแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สำคัญ ห้ามสัมผัสเคลื่อนย้ายซากหรือชำแหละเพื่อการบริโภคโดยเด็ดขาด และหากมีประวัติสัมผัสสัตว์ป่วยแล้วมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่มีรายงานพบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ตั้งแต่ปี 2544 โดยแอนแทรกซ์เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียแบบเฉียบพลันจากเชื้อ Bacillus anthracis เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เกิดหลังสัมผัสเชื้อขณะชำแหละสัตว์ป่วย หรือสัมผัสซากสัตว์ที่ป่วยตาย โดยเฉพาะวัว ควาย หรือสัตว์กินหญ้า มีความเสี่ยงน้อยมากที่จะแพร่โรคจากคนสู่คน

นายชัย กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้สั่งการอย่างเคร่งครัดไปยังนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. เพื่อให้ติดตามเรื่องนี้ และป้องกันการสาธารณสุขของประเทศโดยเฉพาะชายแดนอย่างเข้มงวด 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ได้ออกมาให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับโรคแอนแทรกซ์เมื่อ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า โรคแอนแทรกซ์ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียแบบเฉียบพลันจากเชื้อ Bacillus anthracis เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เกิดหลังสัมผัสเชื้อขณะชำแหละสัตว์ป่วย หรือสัมผัสซากสัตว์ที่ป่วยตาย โดยเฉพาะวัว ควาย หรือสัตว์กินหญ้า 

ขณะที่อาการป่วยแบ่งเป็น 3 ระบบตามการสัมผัสเชื้อ คือ 1.อาการทางผิวหนัง จะมีแผลลักษณะคล้ายบุหรี่จี้บริเวณที่สัมผัสเชื้อ คือ แผลเป็นสีดำและขอบบวมแดง 2.อาการระบบทางเดินอาหาร จากการรับประทานเนื้อสัตว์ป่วยตายดิบๆ หรือปรุงไม่สุก ทำให้มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้องอย่างรุนแรง มีอัตราป่วยตายร้อยละ 50-60 และ 3.อาการระบบทางเดินหายใจ จากการหายใจเอาสปอร์เชื้อเข้าไป ทำให้มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจขัด หายใจลำบาก หน้าเขียวคล้ำ ปอดอักเสบ และเสียชีวิตได้ อัตราการป่วยตายสูงถึงร้อยละ 80–90 แต่มีความเสี่ยงน้อยมากที่จะแพร่โรคจากคนสู่คน