ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอออกกฎหมาย “Killer Pay” เอาผิดบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ เพื่อคุ้มครองการเจ็บ-ตายจากอุบัติเหตุรถมอร์เตอร์ไซค์ ระบุทำไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล พร้อมหนุนจับ-ปรับ พ่อแม่ให้ลูกอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่มอร์เตอร์ไซค์


นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยระหว่างปาฐกถาในการประชุมใหญ่ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนความปลอดภัยผู้ใช้จักรยานยนต์ โครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย

นายพิเชษฐ์ ระบุว่า เรื่องอุบัติเหตุจากรถมอร์เตอร์ไซค์ เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก ที่ผ่านมาได้ทราบว่าภาคีเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ ได้ช่วยกันรณรงค์ให้ความรู้ สื่อสารเรื่องความปลอดภัย ตลอดจนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมานานมากกว่า 30 ปีแล้ว แต่ยังไม่เป็นผล ในฐานะฝ่ายการเมืองและนิติบัญญัติ เห็นว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหาอีกทางหนึ่งคือการทำเรื่องของกฎหมายให้มีมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจัง

"ขณะนี้เป็นเรื่องน่ายินดีว่า ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน ขึ้นมา เพื่อที่จะทำหน้าที่หาแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุ" นายพิเชษฐ์ ระบุ

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ในความเห็นของตนหลังจากได้ฟังข้อมูลจากโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัยแล้ว รู้สึกตกใจที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงสุด เป็นเด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปี ซึ่งถือเป็นวัยที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการขับเคลื่อนประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อคนกลุ่มนี้ตายมาก เจ็บมาก หรืออาจจะต้องพิการ แน่นอนว่าจะส่งผลให้ประเทศสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

"ผมคิดว่าการแก้ไขปัญหาที่สำคัญทางหนึ่ง คือการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็ก และ เยาวชนจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะกฎหมายพื้นฐาน เช่น อายุของผู้ขับขี่ ถ้าพ่อแม่อนุญาตให้ลูกที่อายุไม่ถึง 15 ปี ขับขี่มอร์เตอร์ไซค์ กฎหมายต้องลงโทษ จับ ปรับ พ่อแม่ เพื่อให้ระมัดระวังมากขึ้น ไม่ใช่ซื้อมอร์เตอร์ไซค์ให้ลูกขี่ ทั้งที่ลูกยังอายุไม่ถึง" นายพิเชษฐ์ กล่าว

นายพิเชษฐ์ ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจังแล้ว ยังอยากเสนอให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากอุบัติเหตุจักรยานยนต์ แบบในต่างประเทศ เช่น ถ้าจักรยานยนต์ยี่ห้อไหนเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ทำคนเจ็บ คนตายมากที่สุด ผู้ประกอบการรถยี่ห้อนั้นๆ ต้องจ่ายเงินชดเชยให้รัฐบาลเป็นกองทุนเพื่อคุ้มครองคนเหล่านี้

"คล้ายๆ กฎหมายสิ่งแวดล้อม Polluter Pays Principle ที่ให้ผู้ประกอบการกิจการใดก็ตามที่ก่อมลพิษ หรือ ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายต้องจ่ายค่าชดเชยให้ชุมชน ให้กับคนที่ได้รับผลกระทบนั้นๆ" ประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน ระบุ

ขณะที่ น.ส.ศิริวรรณ สันติเจียรกุล นักวิจัยโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย กล่าวว่า อยากให้ฝ่ายการเมืองช่วยเป็นปากเป็นเสียงไปถึงผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้คนตาย 1 คน ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง ได้ออกมารับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง การไม่ยอมผลิตจักรยานยนต์ที่ซีซีต่ำ 50-70 ซีซี เพื่อให้เป็นรถสำหรับผู้ขับขี่หน้าใหม่ที่เป็น Beginner

น.ส.ศิริวรรณ ระบุว่า หากมีรถที่ซีซีต่ำ ในต่างประเทศให้ขับขี่ได้ แต่มีกฎชัดเจน เช่น ห้ามขับขี่ในเวลากลางคืน ไม่ให้มีการซ้อนท้าย สิ่งเหล่านี้ไม่มีในประเทศไทย จึงทำให้มีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นทุกชั่วโมงและทุกวันบนท้องถนน เมื่อผู้ขับขี่หน้าใหม่สามารถเริ่มต้นการขับขี่รถมอร์เตอร์ไซค์ที่ 110 ซีซีหรือ 125 ซีซีได้เลย

ด้าน นายพรหมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า หากรัฐสภาและฝ่ายนิติบัญญัติ ติดตาม กำกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนในเรื่องของอุบัติเหตุอย่างจริงจัง เชื่อว่า จะช่วยลดการตายบนท้องถนนได้อย่างน้อยปีละ 5,000 คน

อนึ่ง การจัดประชุมใหญ่ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนความปลอดภัยผู้ใช้จักรยานยนต์ โครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานความคืบหน้าโครงการจากวิชาการ งานวิจัย Policy Paper ด้านคน รถ ถนน ระบบและกลไก รวมทั้งเผยแพร่แนวทางของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภาครัฐ เอกชนที่เกี่ยวข้อง และภาคการเมือง ในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุจักรยานยนต์และการพัฒนาความปลอดภัยของผู้ใช้จักรยานยนต์และผู้ร่วมถนน ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างเครือข่ายฯ และแสวงหาแนวทางผนึกกำลังร่วมกันขับเคลื่อนความปลอดภัยผู้ใช้จักรยานยนต์และใช้ถนน