ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

… ณัฐชลภัณ หอมแก้ว

รู้หรือไม่ว่าการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกสุทธิของ ‘สถานพยาบาลในประเทศไทย’ มีปริมาณราว ‘33,766,720 tCO2-eq ต่อปี หรือคิดเป็น ร้อยละ 9.5’ ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิรวมทั้งประเทศ  (354,357,000 tCO2-eq tCO2-eq ตามรายงานปี พ.ศ. 2559)

และหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือการ ‘เพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจก’

งานวิจัยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในปี 2566 จากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้พูดถึงการประเมินการ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสถานพยาบาลไทย เอาไว้ โดยมีการประมาณสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสถานพยาบาลทั้งประเทศว่า สูงกว่าต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ พบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสถานพยาบาลร้อยละ 4 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ

ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาจาก Health Care Without Harm/Arup พบว่าการให้บริการทางการแพทย์ทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ ร้อยละ 4.4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมโลก (2,000,000 GgCo2-eq ต่อปี) 

สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้พาเราไปสำรวจปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสถานพยาบาลกรณีศึกษา (พ.ศ. 2562-2564) ในโรงพยาบาลทุกระดับ ทั้งระดับปฐมภูมิ ระดับทุติยภูมิ และระดับตติยภูมิ เพื่อให้ผลการวิจัยสามารถสะท้อนความแตกต่างของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจำนวนการให้บริการที่แตกต่างกันได้

ผลการวิจัยระบุถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยของของสถานบริการกรณีศึกษาในแต่ละระดับ โดยในระดับปฐมภูมิ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 32 tCO2-eq ระดับทุติยภูมิ ประมาณ 2,200 tCO2-eq และระดับตติยภูมิ ประมาณ 288,497 tCO2-eq 

งานวิจัยชิ้นนี้ยังระบุถึง ‘แหล่งกิจกรรมหลัก’ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงพยาบาลในประเทศไทย ประกอบด้วย เดินทางของผู้ใช้บริการ ในสถานพยาบาลแต่ละระดับ โดยในระดับตติยภูมิ (คิดเป็นร้อยละ 97) ตามมาด้วยระดับปฐมภูมิ (คิดเป็นร้อยละ 65) และระดับทุติยภูมิ (คิดเป็นร้อยละ 57) ขณะที่ การใช้พลังงานไฟฟ้า นั้นมากที่สุดคือสถานพยาบาลระดับทุติยภูมิ (คิดเป็นร้อยละ 26) รองลงมาคือระดับปฐมภูมิ (คิดเป็นร้อยละ 20) ตามมาด้วยระดับตติยภูมิ (คิดเป็นร้อยละ 3) 

มากไปกว่านั้น ยังมี การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ’ เช่น น้ำประปา การจัดการของเสีย การเดินทางของบุคลากรในสถานพยาบาล ในระดับตติยภูมิ พบร้อยละ 96 ระดับทุติยภูมิ พบร้อยละ 72 และระดับปฐมภูมิ พบร้อยละ 70 

การคาดการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายปีสุทธิของสถานพยาบาลในระดับของประเทศ จะพบว่าสถานบริการในระดับตติยภูมิ มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 31,734,723 tCO2-eq รองลงมาคือระดับทุติยภูมิ อยู่ที่ 1,718,668 tCO2-eq และระดับปฐมภูมิ อยู่ที่ 313,328 tCO2-eq 

หากจำแนกตามกิจกรรม จะพบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนมากเกิดจากกิจกรรมที่สถานพยาบาลไม่สามารถควบคุมได้ (Variable Emissions) โดยตรง หรือเป็นกิจกรรมที่สัมพันธ์กับจำนวนผู้เข้ารับบริการ ซึ่งมีการคาดการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 277,819 tCO2-eq ส่วนกิจกรรมที่สถานพยาบาลควบคุมได้ (Fixed Emissions) โดยตรง โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เข้ารับบริการ อยู่ที่ 12,921 tCO2-eq 

ทว่า งานวิจัยชิ้นนี้ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ตรงที่ ยังไม่ได้ประมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตยา ซึ่งก็อาจจะเป็นสัดส่วนที่สูงเช่นกัน 

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายปีของสถานพยาบาล ระหว่างปี 2562-2564 พบว่า ในปี พ.ศ. 2563 นั้นสถานพยาบาลในระดับทุติภูมิ และตติยภูมิมีความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยน้อยลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2562 ซึ่งสาเหตุอาจเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เมื่อมองในระดับปฐมภูมิในช่วงปี พ.ศ. 2562-2564 พบว่ามีแนวโน้มใกล้เคียงกัน 

อย่างไรก็ดี งานนวิจัยชิ้นนี้ยังได้ระบุถึงแนวทางการลด หรือควบคุมกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเอาไว้ โดยกล่าวแนะนำให้สถานพยาบาลเพิ่มมาตรการ ระบบบริการการแพทย์ทางไกล หรือ ‘Telemedicine’ เป็นการให้บริการด้านสาธารณสุขผ่านการวิดีโอคอล (Video Conference) ซึ่งจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางของผู้ป่วยได้ 

สำหรับข้อเสนอแนะดังกล่าว ได้หยิบยกผลการศึกษาจาก Whetten et al. เมื่อปี 2561 โดยศึกษาผลการให้บริการ telemedicine ในกลุ่มผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน และวิกฤติทางระบบประสาท (Neurological Emergency) ในสหรัฐอเมริกา จำนวน 2,020 ครั้ง (ช่วงปี พ.ศ. 2558-2560) พบว่าช่วยลดจำนวนผู้ที่ต้องเดินทางเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้ถึงร้อยละ 70 และยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 618,772 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็น 0.306 tCO2-eq ต่อผู้ป่วย 1 ราย 

รวมถึงให้สถานพยาบาลสำรวจการใช้พลังงานภายในองค์กรอย่างละเอียด เช่น ปิดใช้งานเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน (Split Type) บางตัวที่ไม่จำเป็น และปรับเปลี่ยนเวลาการใช้งานปั๊มน้ำ ซ่างจะส่งผลให้ลดค่าต้นทุนการใช้ไฟฟ้าลงได้ 0.099 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และเสนอแนะในการพิจารณาติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่างที่มีประสิทธิภาพสูงภายในอาคาร เช่น โรงพยาบาลพระสังฆราชองค์ที่ 17 จ.สุพรรณบุรี ซึ่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลได้ 1.7 ล้านบาทต่อปี และสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 3,573 tCO2-eq ต่อปี 

1

 

2


ที่มา: https://www.hitap.net/wp-content/uploads/2023/03/PB-154_PostCovidEnvironmentalHealth.pdf

        https://www.hitap.net/documents/186099