ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในงานประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 24 ซึ่งมีสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. เป็นแม่งานหลัก ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ในฐานะประธานคณะกรรมการ สรพ. ได้บรรยายพิเศษภายใต้หัวข้อ “3P Safety ทุกการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เริ่มได้ด้วย Growth Mindset” ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจ

“The Coverage” ได้เก็บประเด็นสำคัญมานำเสนอ และขอเชิญชวนทุกท่านร่วมอ่านไปพร้อมกันตั้งแต่บรรทัดถัดไป

“แนวคิดเรื่อง Growth Mindset เชื่อว่าความสามารถต่างๆ ของบุคคลไม่ได้มีมาแต่เกิด แต่สามารถทำให้เกิดและพัฒนาได้โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ ความพยายาม ความมุ่งมั่นตั้งใจจริง สัมพันธ์กับทัศนคติของบุคคลต่อปัญหา ความท้าทาย การจัดการกับความผิดพลาดหรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่ผลลัพธ์

“คนที่มี Growth Mindset มักจะชอบเรื่องท้าทาย เรียนรู้จากความผิดพลาดมากกว่าจะจมปลักเสียใจกับความล้มเหลว สนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มองเรื่องท้าทายเป็นเรื่องที่ต้องเอาชนะหรือแก้ไข จึงเกิดความคิดนอกกรอบหรือความคิดสร้างสรรค์เพื่อที่จะเอาชนะหรือแก้ไขเรื่องท้าทายเหล่านั้น

“และเมื่อพบผู้ที่เก่งกว่าหรือประสบความสำเร็จมากกว่า ผู้ที่มี Growth Mindset ไม่รู้สึกว่าถูกคุกคามหรือเสียหน้า แต่กลับอยากคบหาคนเหล่านั้นเพื่อเรียนรู้และซึมซับแรงบันดาลใจจากความสำเร็จเหล่านั้น”

นพ.ประสิทธิ์ ยกตัวอย่างความสำเร็จของการมี Growth Mindset ในเรื่องการทำให้มนุษย์บินในอากาศ แนวคิดนี้ปรากฎในบันทึกของจีนและนิยายปรัมปราของตะวันตกมาตั้งแต่ก่อนคริสต์กาล และมนุษยชาติก็เริ่มมีการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการบินมาเป็นลำดับ ผ่านการสั่งสมองค์ความรู้และความล้มเหลวมากมาย จนกระทั่งพี่น้องตระกูลไรท์สามารถประดิษฐ์เครื่องบินและทดลองบินได้ในวันที่ 17 ธ.ค. 1933

“ก่อนการบินวันนั้น หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ลงบทความดูถูกว่าการเดินทางบนอากาศโดยพาหนะที่หนักกว่าอากาศเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถึงขนาดคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลา 1-10 ล้านปี กว่ามนุษย์จะเดินทางในอากาศได้ เรื่องนี้สะท้อนว่าการสร้างสิ่งใหม่ๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ จะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เชื่อ การดูถูกเหยียดหยามความคิดใหม่ๆ ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ถ้าไม่กล้าคิดทำอะไรใหม่ๆ โลกใบนี้จะเหมือนเดิม”

สามารถสรุปจากตัวอย่างนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ มักเริ่มจากความกล้าที่จะคิดในสิ่งที่คนทั่วไปไม่ได้คิด เริ่มจากจินตนาการถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแต่เทคโนโลยีหรือทักษะในการทำสิ่งเหล่านั้นยังไม่ปรากฎ ดังนั้นคนอื่นจึงยังไม่เคยเห็น และการพูดอะไรที่คนนึกภาพไม่ออกบ่อยครั้งจะถูกต่อต้านความคิด

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จ การพยายามป้องกันปัญหาหรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้นจำเป็นต้องอาศัยการขนขวายหาความรู้ ทั้งเรื่องที่มีอยู่แล้วแต่ไม่รู้ หรือไม่มีจึงสร้างขึ้นมาใหม่จากกระบวนการศึกษาวิจัยและพิสูจน์ความรู้เหล่านั้นโดยการค้นคว้าทดลอง

ขณะเดียวกัน ต้องไม่ยึดติดกับความสำเร็จจนกลายเป็น Comfort zone คนจำนวนมากเมื่อประสบความสำเร็จก็จะติดกับดักความสำเร็จและไม่พัฒนาต่อ ดังนั้นเมื่อประสบความสำเร็จเบื้องต้น ต้องคิดพัฒนาขยายผลต่อให้ได้สิ่งที่ดีขึ้น สุดท้ายคืออุปสรรคเกิดได้ตลอดเส้นทางการพัฒนา ต้องมองอุปสรรคว่ามีประโยชน์มากกว่าโทษ เพราะเป็นกระจกที่ทำให้มองได้รอบ กระตุกให้ฉุกคิด ยิ่งมีอุปสรรคยิ่งทำให้เกิดการพัฒนา

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า คนเรารู้แค่สิ่งที่เห็นและได้สัมผัส แต่ในตัวเราทุกคนยังมีอีก 2 สิ่ง คือ 1.สิ่งเราไม่รู้ว่ารู้อะไร และ 2.ไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร ซึ่งจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ต้องเข้าไปใน 2 พื้นที่นี้ โดยใช้วิธีการพูดคุยเพื่อทำให้เห็นปัญหาที่ต้องการคำตอบ

ยกตัวอย่างในปี 1957 ในร้านกาแฟแห่งหนึ่งแพทย์ระบบทางเดินอาหารมักจะมาดื่มกาแฟพูดคุยกัน และมีคนหนึ่งที่พูดสนุกๆ ว่าถ้ามองเข้าไปในกระเพาะคนเราได้ก็น่าจะดี เพราะสมัยนั้นวิธีการเดียวในการวินิจฉัยคือกลืนแป้งแล้วเอ็กซเรย์ ทุกคนฟังแล้วหัวเราะ

ทว่ามีแพทย์คนหนึ่งที่ฟังแล้วฉุกคิดและใช้เวลา 3 ปีในการร่วมมือกับนักฟิสิกส์พัฒนากล้อง Gastroscopy ที่ส่องเข้าไปดูกระเพาะอาหารได้ สิ่งที่ตามมาคือการขยายผลนอกจากดูได้อย่างเดียวแล้ว ยังพัฒนาให้ตัดชิ้นเนื้อได้ กลายมาเป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตคนได้จำนวนมาก

“เมื่อเราเห็นปัญหาบ่อยครั้ง ลองชวนกันคุยว่าทำอย่างไรให้ดีขึ้นแล้วช่วยกันหาคำตอบ ถ้าเจอปัญหาอะไรแล้วสิ่งที่เห็นยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อย่างเพิ่งคิดว่าทำไม่ได้ ลองหาอย่างอื่นจากข้างนอก ซึ่งเราอาจไม่รู้ว่ามันคืออะไร จึงต้องคุยกับคนอื่น การพูดคุยทำให้เรารู้ว่าเราไม่รู้อะไร และจะเริ่มเข้าไปในพื้นที่การเรียนรู้จนเกิดความรู้ขึ้นมา”

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า คนเราเคยผ่านกระบวนการของ Growth Mindset มากันทุกคน ตั้งแต่ตอนเป็นเด็กที่ยังเดินไม่ได้ เมื่อเห็นคนอื่นเดินได้ ก็เริ่มพัฒนาตัวเอง ตั้งแต่นอนแบเบาะ ไปสู่การยืน และสามารถเดินได้ในที่สุด เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้ใครสั่ง

“เราทั้งหมดเคยทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาแล้ว ไม่เคยเดินก็เรียนรู้ที่จะเดิน เคยหกล้มร้องไห้กับความผิดพลาดและเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น จนพัฒนาสิ่งที่รู้ให้ดีขึ้น เดินดีขึ้น เร็วขึ้น กลายเป็นวิ่งได้ แปลว่า 1. ทุกคนเคยมี Growth Mindset และ 2. Growth Mindset ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่คู่มากับสัญชาติญาณของสิ่งมีชีวิต 

“จากนี้เป็นต้นไป ถ้าเจอปัญหายากๆ ขอให้คิดกลับไปสมัยตอนเป็นเด็ก เราเคยล้มและกลับมายืนได้ มันเป็นสัญชาตญาณของชีวิตที่ต้องดีขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่เราหาทิศทางที่เข้มแข็งมากขึ้น”

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะของบุคลากรสาธารณสุขที่ดูแลสุขภาพคนอื่น Growth Mindset จึงไม่ใช่เพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่ขยายครอบคลุมไปถึงคนที่เอาชีวิตมาฝากไว้กับเราด้วย ดังนั้น ขอฝากไว้ว่าปัญหาปัจจุบันมีความซับซ้อน โอกาสที่จะแก้ปัญหาง่ายๆไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้น Growth Mindset ตอนนี้ไม่ได้ต้องการของคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องการ Growth Mindset ของทั้งกลุ่ม ทุกคนช่วยกันคิดแล้วมาผสมผสานให้มองได้รอบด้าน

“เราต้องการ Group Growth Mindset ถ้าทุกคนช่วยกัน เชื่อว่าจะทำให้ระบบสุขภาพของไทยดีขึ้น” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว