ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผ่านเครื่องมือส่งเสริมการท่องเที่ยว ขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงนำร่อง 4 จังหวัด และขยายเวลาการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ได้นำมาสู่การตั้งคำถามและแสดงความกังวลต่อผลกระทบมากมาย จากเครือข่ายหลากหลายกลุ่ม

ประเด็นคำถามที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการอ้างตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดูลางเลือน ไม่เป็นจริง ข้อสงสัยต่อนโยบายนี้ว่าจะเอื้อประโยชน์แก่รายใหญ่มากกว่าจะเปิดโอกาสให้รายย่อยในชุมชนได้ลืมตาอ้าปาก ผลกระทบเชิงสังคมมากมาย เช่น จำนวนอุบัติจากคนเมาแล้วขับเมื่อขยายเวลาจำหน่ายมีตัวอย่างมากมายและน่ากลัว สะเทือนความรู้สึกของคนในสังคม

นานาทัศนะหลายมุมมองข้างต้นนี้ เป็นสิ่งที่ถูกสะท้อนผ่านเวทีวิชาการ "การกระตุ้นทางเศรษฐกิจกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : เหตุผลทางเศรษฐกิจ และมุมมองทางสังคม" ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันวิจัยสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิชีววิถี (BioThai) เมื่อวันที่ 13 มี.. 2567 ที่ผ่านมา

มาตรการหลากรูปแบบ จากตัวอย่างหลายประเทศ

เวทีได้นำเสนอถึงผลการศึกษาและบทเรียนที่รวบรวมมาจากหลายประเทศ โดย 2 นักวิชาการคือ ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สรัช สินธุประมา นักวิจัยจาก 101 PUB ซึ่งสามารถไล่เรียงตัวอย่างต่างๆ ได้ดังนี้

สิงคโปร์ มีกลยุทธ์ดึงดูดเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และออกกฎหมายการควบคุมแอลกอฮอล์ ลดเวลาจำหน่ายไม่เกิน 22.30 น.ในร้านชำทั่วไป และไม่เกิน 23.59 น.ในผับบาร์ หากฝ่าฝืนจะโดนปรับสูงถึง 270,000 บาท โดยรัฐบาลสิงคโปร์มองว่า หากสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีมีคุณภาพ จะส่งผลให้ระบบการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งผลดีและเม็ดเงินด้านเศรษฐกิจที่มากกว่าด้วยซ้ำ

นอร์เวย์ กำหนดมาตรการในเรื่องวันเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนสามารถใช้เวลาร่วมกัน และมีสถาบันครอบครัวที่อบอุ่นมากขึ้น นำมาซึ่งทุนในด้านของทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ และส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมากมาย

เปรู พบว่าปัญหาการดื่มคล้ายประเทศไทย การดื่มที่อันตรายเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจในสังคมเกษตรที่ไม่สามารถเติบโตขึ้นมากกว่านี้ได้แล้ว นอกจากนั้นยังไม่สามารถควบคุมการดื่มของลูกหลานในชุมชนได้ เพราะว่า working hours ของผู้ปกครองสูง ไม่มีเวลาให้กับครอบครัว ทำให้เด็กต้องพึ่งพาสิ่งอื่นเพื่อเติมเต็มช่องว่างทางจิตใจรวมถึงการบริโภคแอลกอฮอล์ในที่สุด

แกมเบีย ผู้หญิงพึ่งพาตนเองได้จากการเป็นผู้ผลิตเบียร์ แต่หลังจากมีการตั้งโรงงานผลิตแบบอุตสาหกรรม ผู้ชายในชุมชนใช้เงินซื้อสุราแบบอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงเสียความสามารถในการพึ่งพาตนเอง และได้รับความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น

ส่วนกรณีศึกษาใน ไทย ที่ จ.ขอนแก่น ก่อนหน้านี้ผู้คนจะดื่มสุราแช่หรือเหล้าโท การดื่มที่เกิดอันตรายเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 30-40 ปีที่ผ่านมา เป็นการดื่มสุราขาวคราวละมากๆ ที่เกิดจากโรงงานอ้อย นายทุนอ้อยเลี้ยงดูปูเสื่อคนงาน และให้สุราเป็นแรงจูงใจ

ด้าน ผศ.ดร.อริศรา ร่มเย็น เณรานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ข้อตกลงการค้าเสรีที่รัฐบาลกำลังเร่งเจรจากับสหภาพยุโรป (EU) จะทำให้ราคาที่ขายในประเทศลดลง โดยจากการลงพื้นที่สอบถามผู้ประกอบการสุราชุมชนและรายใหญ่ พบว่าสุรามีกลไกทางการตลาดเฉพาะตัว สุรานำเข้าจากต่างประเทศสื่อถึงรสนิยม หากราคาเครื่องดื่มลดลงจะเกิดนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นไปอีก

1

รายใหญ่กินรวบ-รายย่อยตายเหมือนเดิม’ ?

ในมุมการเมือง สส.วรภพ วิริยะโรจน์  จากพรรคก้าวไกล ร่วมแสดงความเห็นว่า สิ่งที่ยังไม่เห็นจากรัฐบาลคือการปลดล็อกการผูกขาดเพื่อประโยชน์ของผู้ผลิตรายย่อย มองว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและยืดอายุสินค้าเกษตร นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว การขยายเวลาเปิดปิดสถานบริการยังอยู่แค่ใน 4 จังหวัด และอยู่ในพื้นที่โซนนิ่งที่ไม่ได้ปรับมาเป็นเวลาสิบกว่าปี

ทั้งนี้ ได้มีการอภิปราย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมี 3 ฉบับ รวมฉบับของพรรคก้าวไกลด้วย แต่มีข่าวว่าสภาเสียงข้างมากจะไม่รับทั้ง 3 ร่าง ในด้านต้นทุนทางสังคมมองว่า โทษเมาแล้วขับจะต้องเพิ่มขึ้นให้หนักกว่าเดิม และการทำโซนนิ่งเพื่อให้รัฐตรวจตราได้เป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดในประเทศไทย และต้องดำเนินการ

สุภัค ก่ออิฐ ตัวแทนจากประชาชนเบียร์ เล่าว่า สถานการณ์ในพื้นที่จริงหลายๆ จังหวัดที่มีมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น การมีโรงสุราท้องถิ่น (โรงเหล้า) เป็นการกระจายรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนในทุกส่วน ทั้งในแง่ใช้วัตถุดิบและแรงงานท้องถิ่น จึงอยากเห็นรัฐบาลสนใจเรื่องการสร้าง ecosystem ไม่ให้คนเมาได้ขับรถ ระบบรับส่งผู้ดื่ม เช่น Grab ไปจนถึงการเพิ่มโทษที่เกิดจากการเมาแล้วขับ และเชื่อว่ามาตรการการแก้ไขผลกระทบจากแอลกอฮอล์และการพัฒนาทางเศรษฐกิจสามารถไปด้วยกันได้

ดร.เฉลิมภัทร พงศ์อาจารย์ อาจารย์จากคณะบริหารธุรกิจเศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร มองว่า หากมีการลดมาตรการลงจะมีการเกิดการทดแทนกันของสินค้าเครื่องดื่ม สิ่งที่ผู้ผลิตสุราขาวกลัวคือมีเครื่องดื่มที่ทดแทนกันได้ และอยู่เหนือการควบคุม นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องของบรรจุภัณฑ์และปัญหาในเรื่องของโฆษณา เพราะถ้าหากมีการเปิดเสรีสุราจริงๆ กลุ่มที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุดคือผู้จำหน่ายสินค้าสุรารายใหญ่มากกว่ารายย่อย

ในมุมตัวแทนผู้ประกอบการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย คุณธนากร คุปตจิตต์ ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยถือว่ามีจุดเด่นในเรื่องของสินค้าเกษตร ถ้าหากมองในมุมนี้สินค้าเกษตรสามารถนำมาแปรรูปเป็นสินค้าทั่วไป เพื่อเพิ่มมูลค่าได้ไม่เกิน 5-10 เท่า แต่ถ้าหากนำสินค้าทางด้านการเกษตรไปแปรรูปเป็นสินค้าในรูปแบบสินค้าแอลกอฮอล์สามารถเพิ่มมูลค่าได้สูงถึง 50 เท่า

ขณะเดียวกันถ้าหากมองในมุมเศรษฐกิจ ประเทศไทยหรือทั่วโลกเพิ่งพ้นจากวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างหนัก เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้แต่ละประเทศต้องมีการแข่งขัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตนเอง และชัดเจนว่าสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องเป็นที่มีการควบคุมผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปว่า มองเห็นประเด็นร่วมที่ได้รับความสนใจ ว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรรายย่อยเติบโตและสร้างอาชีพได้จริงๆ ซึ่งเหล้าถือว่าเป็นสินค้าพิเศษและสิ่งที่รัฐพยายามขับเคลื่อน แต่กลับไม่ได้ไปปลดล็อคในเรื่องของทุนผูกขาด การคลายความเข้มงวดของการขาย และ นโยบายการทำ FTA กับ EU ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน กลับจะเข้าทางรายใหญ่ให้ยิ่งโต จนไม่มีพื้นที่ให้รายย่อยเติบโต และสลายไปในที่สุด

2