ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ เผย Heath Link พร้อมสนับสนุน สธ. เชื่อมข้อมูล ภายใต้ ‘30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’ ยืนยันไม่มี Work load แน่นอน เพราะเชื่อมระบบ HIS แล้วกว่า 60 ระบบทั่วประเทศ 


นพ.ธนกฤต จินตวร รองผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ Heath Link ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลบนเวทีเสวนาในหัวข้อ “30 บาทรักษาทุกที่ Stakeholder Discussion ปัญหา การแก้ไข และความร่วมมือ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2567 ภายใต้การประชุมเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ครั้งที่ 83  Theme : We’re Strong Together ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 8 มี.ค. 2567 โดยได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้น ความเป็นมา เป้าประสงค์ และการทำงานของแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลอย่าง Health link ที่ได้เข้าไปตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบสุขภาพ และสนับสนุนการให้บริการของโรงพยาบาล

นพ.ธนกฤต กล่าวว่า อย่างที่ทราบกันว่าระบบเชื่อมข้อมูล Heath Link เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเป็นความร่วมมือจาก 5 หน่วยงานหลักในขณะนั้น คือ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย (มท.) และภาคเอกชน เพื่อตอบโจทย์ในกรณีที่ผู้ป่วยถูกส่งต่อจากโรงพยาบาลหนึ่งให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี ฯลฯ แล้วโรงพยาบาลปลายทางไม่มีข้อมูลของผู้ป่วย ทำให้เกิดความผิดพลาดในการรักษา หรือขาดประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เมื่อโจทย์ของระบบเป็นเรื่องของการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่แพทย์ในโรงพยาบาลแต่ละแห่งค่อนข้างมีความกังวล ฉะนั้นการออกแบบระบบการเชื่อมข้อมูลจึงเป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ให้บริการ (Provider) ได้เข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วย และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการรักษาต่อได้ โดยจะไม่ใช่การบันทึกข้อมูลแบบ Personal Heath Record (PHR) แต่ระบบ Health Link จะมีบทบาทในการเป็น Health Information Exchange (HIE) 

สำหรับการทำงานของ Health Link ด้วยตัวระบบจะถือว่าประชาชนเป็นเจ้าของข้อมูล เลยจะมีการให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ ซึ่งอาจจะผ่านทางแอปพลิเคชัน ThaiID เป๋าตัง Rama app ฯลฯ เพื่อยินยอมให้แพทย์เข้าถึงข้อมูล หลังจากนั้นจะระบบ Heath Link จะมีการส่งสัญญาณไปที่โรงพยาบาล เพื่อให้โรงพยาบาลเก็บข้อมูลตามที่ตกลงกันไว้ เช่น ข้อมูลการวินิจฉัย  ยาที่ใช้ในการรักษา ประวัติแพ้ยา ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ใบส่งตัว ฯลฯ โดย Health Link ใช้มาตรการข้อมูลแบบเดียวกับที่ทั่วโลกมีการใช้งานกัน หรือ HL7 FHIR 

“ในการเข้าใช้ข้อมูล เรายังมีการระบุไว้อีกว่าถ้าเป็นแพทย์จะต้องเป็นแพทย์จริงๆ มีใบประกอบวิชาชีพ จึงมีทำระบบยืนยันตัวตนโดยเชื่อมกับแพทยสภา เพื่อตรวจสอบใบประกอบวิชาชีพ และไม่เพียงเท่านั้น สภาวิชาชีพอื่นๆ เช่น พยาบาล เภสัชกร ฯลฯ ก็ใช้ระบบยืนยันตัวตนนี้เช่นเดียวกัน” รองผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ฯ ระบุ

นพ.ธนกฤต กล่าวอีกว่า ปัจจุบันจากโรงพยาบาลทั้งหมดในประเทศไทยที่มีอยู่ประมาณ 1,600 แห่ง ก็มีโรงพยาบาลกว่า 400 แห่งแล้วที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เข้าร่วมโครงการด้วย ซึ่งในจำนวนนี้จะมีส่วนที่พิเศษขึ้นมาคือในโรงพยาบาลสังกัด กทม. ทั้ง 11 แห่ง ที่ได้มีโอกาสร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการพัฒนาอีกฟังก์ชันหนึ่งขึ้นมา เพื่อลดขั้นตอนก่อนเข้ารับบริการทางการแพทย์ โดยเป็นการเชื่อมกับระบบเวชระเบียนผู้ป่วย ทำให้เมื่อแพทย์เข้าไปดูข้อมูลในระบบข้อมูลของโรงพยาบาล (Health Information System) และคลิกที่ปุ่ม Health Link ก็สามารถเห็นข้อมูลการรับบริการของผู้ป่วยได้เลย

“ตอนนี้การเชื่อมโยงข้อมูลอย่างที่บอกคือเราแกรนท์ตัวเซิร์ฟเวอร์ไว้ให้ แต่ว่าจะเชื่อมกันแบบหนึ่งต่อหนึ่งรายโรงพยาบาลก็ได้ เช่น ศิริราช จุฬาฯ รามาฯ เชื่อมกันรายโรงพยาบาลได้ หรือบางโรงพยาบาลจะสามารถดึงข้อมูลแบบ Real-time ได้ หรือเชื่อมเป็น Hub ต่อ Hub เช่น โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ สธ.

“ผมคิดว่าตอนนี้ Health Link ทำให้การเชื่อมข้อมูลเพื่อการรักษาสามารถทำได้แล้ว สองคือการซัปพอร์ตระบบเบิกจ่ายของ สปสช. แต่ที่ผ่านมาส่วนให้อาจจะช้าเพราะติดเรื่อง C ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือพอมีปัญหาเรื่องิด C จะเปิดประตูเพื่อเข้ามาดูข้อมูลทางการแพทย์ที่อยู่ในระบบ Health Link เพื่อทำให้ Transaction ดูข้อมูลได้ชัดเจนเลย และตอนนี้เราก็กำลังมีคุยกันอยู่ว่าจะมีการใช้ Big Data และ AI base ในการทำให้ปัญหาเหล่านี้ถูกแก้ไขได้เร็วขึ้น” นพ.ธนกฤต กล่าว

รองผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ฯ กล่าวว่า สำหรับสิ่งที่อยากเห็นหลังจากนี้ คือ การร่วมสนับสนุนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เพราะจริงๆ แพลตฟอร์ม Health Link ก็สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้โดยตรงอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าถ้าจะเปิดให้ไปเชื่อมกับฝั่ง สธ. ก็แค่เปิดประตูจากฝั่ง Health Link ข้ามไปยัง สธ. เท่านั้นเอง ซึ่งข้อมูลก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนกันเลย และเนื่องจาก Health Link ทำร่วมกันระบบ HIS กว่า 60 ระบบในประเทศไทย เพราะฉะนั้นจะไม่มี Work load เกิดขึ้นหลังจากเชื่อมกันแน่นอน