ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผลการศึกษาจากวารสารทางการแพทย์ ‘The British Medical Journal (BMJ)’ ระบุถึงความเชื่อมโยงของการรับประทาน ‘อาหารแปรรูปสูง (Ultra-processed food: UPF)’ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ด้วยองค์ประกอบในการผลิตที่มีประบวนการของการแปรรูป ทั้งการใช้สี หรือสารเจือปน เช่น สารอิมัลซิไฟเออร์ (Emulsifier) รวมถึงการเติมน้ำตาล ไขมัน หรือเกลือในปริมาณที่สูง โดยอาหารแปรรูปสูงดังกล่าวนั้น ได้แก่ ขนมถุงอบกรอบ ขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม อาหารพร้อมทาน เป็นต้น 

แน่นอนว่าอาหารประเภทดังกล่าว มีปริมาณวิตามินและไฟเบอร์อยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่ด้วยปัญหาเศรษฐฐานะตามพื้นที่ด้อยโอกาส หรือแม้กระทั่งกลุ่มเยาวชนในพื้นที่สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ก็พบว่ามีการบริโภคอาหารแปรรูปสูงถึง 80%

ขณะเดียวกันในการศึกษาผ่านการประเมินความถี่ จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเรื่องการบริโภคอาหารย้อนหลังในช่วง 24 ชั่วโมง ก็พบว่ามีอัตราการบริโภคที่เพิ่มขึ้น

มากไปกว่านั้น จากการวิเคราะห์อภิมาน ซึ่งเป็นวิธีทางสถิติเพื่อเปรียบเทียบและรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยบนหลักฐานเชิงประจักษ์ระดับสูง โดยใช้ข้อมูล 45 ฉบับ จากการทบทวนวรรณกรรมจำนวน 14 ชิ้น ที่ตีพิมพ์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างอาหารแปรรูปสูง และผลลัพธ์ด้านลบต่อสุขภาพในจำนวนประชากร 9.9 ล้านคน

อย่างไรก็ดี จากการศึกษาที่เผยแพร่นี้พบว่าการบริโภคอาหารแปรรูปสูง สัมพันธ์กับผลลัพธ์สุขภาพด้านลบถึง 32 ประการ เช่น โรคมะเร็ง โรคทางจิตเวช โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน รวมถึงระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นถึง 50% ความเสี่ยงต่อการเป็นโรควิตกกังวล โรคทางจิต ประสาท และอารมณ์ถึง 48-53% และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ประมาณ 12% และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจถึง 40-68% อีกด้วย

พร้อมกันนั้น ยังมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ระบุถึงความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคอาหารแปรรูปสูง ต่อโรคหืด ระบบทางเดินอาหาร กลุ่มอาการที่มีระบบเมตาบอลิซึมในร่างกายผิดปกติ ไขมันในเส้นเลือด และมีปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดดีต่ำอีกด้วย

ด้าน ดร.คริส แวน ทูลเคน อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยลอนดอน หนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารแปรรูปสูงชั้นนำของโลก ระบุว่า ผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพจากการบริโภคอาหารแปรรูปสูงนั้น มีความสอดคล้องกันกับการศึกษาอิสระจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่าการบริโภคอาหารแปรรูปสูงหลายรายการ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย รวมถึงส่งผลกระทบต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอีกด้วย

“อาหารแปรรูปสูงเป็นกลไกหนึ่งที่ขับเคลื่อนให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เพราะในส่วนหนึ่งของอาหารเหล่านี้มีโภชนาการที่ต่ำ และมีการใส่ไขมันอิ่มตัว เกลือ สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในปริมาณที่ค่อนข้างสูงอีกด้วย” ดร.คริส ระบุ

การศึกษาเหล่านี้นับว่ามีความสอดคล้องกับข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อปี 2565 โดย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัยในขณะนั้น ได้ระบุว่า อาหารแปรรูปหรืออาหารสำเร็จรูปส่วนมากผ่านการตัดเตรียมปรุงรสกลิ่น ปรับเปลี่ยนรูปร่างบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ง่ายต่อการบริโภค และเก็บรักษา โดยบางชนิดอาจมีการเติมส่วนผสม เช่น สารกันบูดเพื่อยืดอายุ น้ำตาลฟรุกโตสชนิดพิเศษ ฯลฯ ซึ่งหากบริโภคในปริมาณที่มากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร ผิวพรรณเหี่ยวย่น หย่อนคล้อยดูแก่ก่อนวัยอันควร  และเสื่องต่อโรคสมองเสื่อมได้ 

ทั้งนี้ การบริโภคอาหารแปรรูปมากเกินไป อาจทำให้ร่างกายเสี่ยงขาดสารอาหารสำคัญ เช่น วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ ที่พบได้มากในผัก ผลไม้ ที่มีส่วนช่วยทำให้กระบวนการต่างๆ ของร่างกายทำงานได้เป็นปกติ โดยเฉพาะระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โปรตีน ที่เป็นองค์ประกอบโครงสร้างของเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย ผิวหนัง ฯลฯ หรือ ใยอาหาร ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยระบบขับถ่าย ทำให้เกิดกระบวนการหมักในลำไส้ได้ รวมถึง กรดไขมันสายสั้น ที่ช่วยชะลอภาวะการอักเสบของสมองที่เพิ่มขึ้นตามอายุอีกด้วย


ที่มา: https://www.theguardian.com/society/2024/feb/28/ultra-processed-food- 32-harmful-effects-health-review

        https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/280865/