ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา NHS ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของอังกฤษ ได้ออกกรอบการดำเนินงานทางดิจิทัลที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (A Framework for NHS Action on Digital Inclusion) ที่มีเป้าหมายสร้างการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลสุขภาพ เพิ่มความสามารถของสาธารณะและบุคลากรทางการแพทย์ในระบบ NHS ในการใช้เครื่องมือดิจิทัล รวมทั้งนำเครื่องมือเหล่านี้มาสร้างประสบการณ์รับบริการที่ดีในกลุ่มผู้ป่วย และอำนวยความสะดวกแก่บุคลากรทางการแพทย์ในระหว่างการให้บริการ

กรอบการดำเนินงานดังกล่าว มีแนวปฏิบัติเชิงยุทธ์ศาสตร์ 5 ข้อ ประกอบด้วย

  1. เพิ่มการเข้าถึงอุปกรณ์ทางดิจิทัลและการเชื่อมต่อ ได้แก่ ทำให้ประชาชนและชุมชนที่ต้องการเครื่องมือสุขภาพดิจิทัลสามารถเข้าถึงได้ และมีการเชื่อมต่อที่ยั่งยืน
  2. เพิ่มการเข้าถึงและเพิ่มความสะดวกในการใช้เครื่องมือดิจิทัล ได้แก่ ส่งเสริมการทำมาตรฐานการใช้เทคโนโลยี ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วยที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการทางร่างกาย ผู้มีปัญหาการสื่อสารหรือพัฒนาการ
  3. ยกระดับการพัฒนาทักษะและความสามารถทางดิจิทัล ทั้งในกลุ่มประชาชนทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ในระบบ NHS ตอบโจทย์ความต้องการของบุคลากร โดยควรทำผ่านความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ธุรกิจเพื่อสังคม รัฐบาลท้องถิ่น และชุมชน
  4. สร้างความน่าเชื่อถือในการให้บริการ โดยส่งเสริมบริการสุขภาพดิจิทัลที่มีข้อความที่น่าเชื่อถือ มีบริการนัดหมายแพทย์ และการแจ้งผลตรวจที่แม่นยำ
  5. นำเครื่องมือดิจิทัลมายกระดับการตัดสินใจและความมร่วมมือ โดยเน้นกลยุทธ์ เช่น การประเมินผลกระทบสุขภาพที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำ การเก็บข้อมูลสำหรับประเมินความเหลื่อมล้ำในการรับบริการสุขภาพดิจิทัล และการสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างองค์กร

กรอบการดำเนินงานยังเน้นประเด็นอื่นๆ เช่น การเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลและการเชื่อมต่อ สนับสนุนการให้บริการด้วยการออกแบบบริการที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และยกระดับการวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพดิจิทัล

อย่างไรก็ดี กลุ่มสมาพันธ์ NHS ซึ่งประกอบด้วยผู้นำและผู้ปฏิบัติการในระบบสุขภาพ ระบุว่าแม้กรอบการดำเนินงานที่ออกมาใหม่จะมีความชัดเจน ให้ข้อมูลบุคลากรทางการแพทย์ได้ริเริ่มดำเนินงานยกระดับสุขภาพดิจิทัล ทั้งยังระบุกรณีศึกษาและตัวอย่างการปฏิบัติการต้นแบบ

แต่กรอบการดำเนินงานยังขาดแนวทางที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติได้จริง ทั้งยังขาดแนวทางในการจัดสรรทรัพยากรทางแรงงาน และเงินทุนที่จะสนับสนุนการทำนโยบายยกระดับสุขภาพดิจิทัล

แม้การใช้บริการด้านสุขภาพดิจิทัลจะแพร่หลายมากขึ้น แต่ยังมีประชาชนมากกว่า 11 ล้านคนในสหราชอาณาจักรที่ขาดทักษะขั้นพื้นฐานในการใช้อินเทอร์เน็ต และประมาณ 5 ล้านคนไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ตเลย

ดังนั้นหากไม่มีมาตรการใดๆ ที่ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพดิจิทัลในประชากรกลุ่มข้างต้น ย่อมเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของพวกเขา ทางกลุ่มสมาพันธ์ NHS จึงมีความเห็นว่า กรอบการดำเนินงานด้านสุขภาพดิจิทัลต้องย้ำแนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยมีข้อเสนอใน 2 ประเด็นหลัก

ประเด็นแรกคือ “ความเสมอภาคและการเข้าถึง” ซึ่งกลุ่มสมาพันธ์ NHS ขอให้ผู้จัดทำนโยบายเน้นย้ำเป็นพิเศษ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำนโยบายที่อาจส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ทำให้ประชาชนการเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลที่ใหม่ล่าสุด ใช้ง่าย เข้าถึงได้แม้ในกลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อย หรือมีทักษะทางดิจิทัลไม่มาก

นอกจากนี้ ขอให้ผู้จัดทำนโยบายยังคงเดินหน้าสร้างคุณภาพการให้บริการแบบพบหน้า เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพดิจิทัล และข้อเรียกร้องของกลุ่มสมาพันธ์ NHS ยังครอบคลุมการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยเฉพาะการสำรวจจุดเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ชุมชน ซึ่งไม่ได้พูดถึงวิธีการที่ชัดเจนในกรอบการทำงานด้านสุขภาพดิจิทัลที่เพิ่งออกมาใหม่

ประเด็นที่สอง คือ การส่งเสริมทักษะและความรู้ด้านดิจิทัลให้บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งกรอบการดำเนินงานด้านสุขภาพดิจิทัลให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในด้านนี้ ทั้งยังส่งเสริมการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานสุขภาพและธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อเพิ่มทักษะดิจิทัลในภาคประชาชน และเสนอมาตรการสร้างความตระหนักรู้ด้านนี้ให้กับชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่เปราะบาง

หากแต่กรอบการดำเนินงานยังขาดความชัดเจนด้านนโยบายระยะยาว โดยเฉพาะในด้านการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการด้านดิจิทัลสุขภาพให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งต้องเฝ้าดูต่อไปว่าจะผู้จัดทำแผนการดำเนินงานจะเพิ่มเติมในกรณีนี้หรือไม่


อ้างอิง: https://www.nhsconfed.org/publications/inclusive-digital-healthcare-what-you-need-know