ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข เผย หน่วยงานสาธารณสุขใน จ.กาญจนบุรี มุ่งแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ด้วยระบบ Telemedicine ระหว่าง โรงพยาบาลชุมชน กับโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ช่วยผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาพบแพทย์หลายครั้ง และได้รับการผ่าตัดภายในวันเดียวแล้วกลับมาพักฟื้นใกล้บ้าน 


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จ.กาญจนบุรี เป็นจังหวัดมีความแตกต่างของบริบทพื้นที่ ทั้งพื้นที่เมือง พื้นที่ชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน และพื้นที่เขา เช่น อ.ทองผาภูมิ และ อ.สังขละบุรี ซึ่งการเดินทางเข้าเมืองต้องใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง บางพื้นที่ต้องเช่าเหมารถครั้งละ 2,500 บาท สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี (สสจ.กาญจนบุรี) จึงได้วางระบบเครือข่ายโรงพยาบาลในการให้บริการ

1

ได้แก่ การผ่าตัดในรูปแบบ One Day One visit One stop service “เริ่มที่อำเภอ เจอที่พหลฯ จนได้ตัดไหมในอำเภอ” ซึ่งเป็นการนำระบบ Telemedicine มารวมกับระบบบริการผ่าตัดวันเดียวกลับ (One Day Surgery) โดยจะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจ LAB ผู้ป่วย ที่โรงพยาบาลชุมชน จากนั้นพบแพทย์โรงพยาบาลอำเภอ พร้อมกับศัลยแพทย์/วิสัญญีแพทย์ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ผ่านระบบ Telemedicine เพื่อประเมินความพร้อม ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว และนัดหมายวันผ่าตัด หลังผ่าตัดจะมีกระบวนการดูแล ประเมินความพร้อม ก่อนส่งกลับมาพักฟื้นที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน และติดตามอาการใน 24 ,48 และ 72 ชั่วโมง พร้อมทั้งพบศัลยแพทย์เจ้าของไข้ผ่านระบบ Telemedicine ที่โรงพยาบาลอำเภอ ไม่ต้องเดินทางเข้าเมือง

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า จ.กาญจนบุรี ถือเป็นต้นแบบที่ดีในการนำเทคโนโลยีมาใช้ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เป็นการทำงานแบบ One Province One Hospital ที่มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน จากปกติที่ผู้ป่วยจะต้องเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลในเมืองประมาณ 4 ครั้ง ถึงจะได้รับการผ่าตัด ก็พบแพทย์เตรียมการผ่านระบบ Telemedicine แทน ก่อนเดินทางเพื่อไปรับการผ่าตัดครั้งเดียว 

2

ทั้งนี้ ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยและญาติได้อย่างมาก นอกจากนี้ ยังพัฒนาเครือข่าย Sky Doctor ช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติในพื้นที่ห่างไกลได้รับการรักษาทันเวลา เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันมีทีมปฏิบัติการลำเลียงทางอากาศ 4 ทีม ได้แก่ โรงพยาบาลสังขละบุรี โรงพยาบาลทองผาภูมิ โรงพยาบาลค่ายสุรสีห์ และ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา 

ช่วงปีงบประมาณ 2563-2566 มีการส่งต่อ 22 ราย เป็นผู้ป่วยวิกฤติ 10 ราย ผู้ป่วยเร่งด่วน 12 ราย โดยส่งจากหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สุขศาลาบ้านจะแก สุขศาลาบ้านทิไล่ป้า สุขศาลาบ้านปางสนุก ไปยังหน่วยบริการทุติยภูมิ คือ โรงพยาบาลสังขละบุรี และ โรงพยาบาลทองผาภูมิ และมีระบบประสานกับศูนย์ Refer โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา เพื่อส่งต่อผู้ป่วยที่เกินศักยภาพ

3

4