ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องนานาประเทศหารือเป้าหมายการลดและขจัดเชื้อดื้อยาในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่จะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย. นี้ ย้ำปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นภัยคุกคามทางสุขภาพที่ก่อให้เกิดภาระทางสุขภาพและเศรษฐกิจ และต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน 

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา เจอเรอมี นอกซ์ (Jeremy Knox) หัวหน้าฝ่ายนโยบายโรคติดต่อ มูลนิธิเวลล์คัม (Wellcome) และ สเตฟเฟิน เพียรินี ลันเดอร์ (Steffen Pierini Lüders) รองประธานฝ่ายกิจการ มูลนิธิโนโวนอร์ดิสก์ (Novo Nordisk Foundation) ได้เผยแพร่บทความบนเว็บไซต์ World Economic Forum ระบุว่า ปี 2567 นี้ ถือเป็นปีที่ครบรอบ 10 ปีหลังจากที่นักเศรษฐศาสตร์ ลอร์ด จิม โอนิล ( Lord Jim O’Neill) เผยแพร่รายงานสถานการณ์เชื้อดื้อยา ซึ่งเผยให้เห็นภัยคุกคามของเชื้อดื้อยา และเสนอทางออกในการป้องกันการขยายตัวของเชื้อ

แต่ความคืบหน้าในการวางมาตรการแก้ไขและป้องกันเชื้อดื้อยากลับไม่มีความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด 

งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารเดอะแลนเซท (The Lancet) เปิดเผยถึงความเสียหายของเชื้อดื้อยาที่ทำให้ประชากร 1.27 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตทางตรงในปี 2562 และเสียชีวิตทางอ้อมอีก 3.7 ล้านคน เป็นจำนวนผู้เสียชีวิตที่มากกว่ากรณีการติดเชื้อเอชไอวีและมาลาเรียรวมกัน

นอกซ์และลันเดอร์ย้ำว่า นี่ไม่ใช่วิกฤตใหม่ แต่ปัญหาเชื้อดื้อยากลับยังไม่ได้รับความสนใจจากผู้นำอย่างเพียงพอ แม้มันจะเป็นภัยต่อระบบสุขภาพและเศรษฐกิจ และนานๆ ครั้งถึงจะถูกบรรจุไว้ในการหารือวาระระดับโลก 

แม้บางเวทีจะพูดคุยในเรื่องนี้ แต่ก็แตะเพียงประเด็นการยกระดับศักยภาพและความเข้าใจในการจัดการเชื้อดื้อยา ยังไม่เคยไปถึงการกำหนดเป้าหมายและกลไกที่ชัดเจนระหว่างประเทศ รวมทั้งแนวทางวัดความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาด้านนี้ 

ปัจจุบัน มีชุดข้อมูลจากหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อดื้อยาทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก เช่น โครงการวิจัยการดื้อยาระดับโลก (Global Research on Antimicrobial Resistance หรือ GRAM) และข้อมูลการดื้อยาเพื่อการปฏิบัติงานระดับท้องถิ่น (AMR Data to Inform Local Action หรือ ADILA) โครงการเหล่านี้เชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อดื้อยา การทำแบบจำลองการแพร่เชื้อ และนโยบายที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อดื้อยา

ในปี 2564 องค์การอนามัยโลกเปิดตัวกรอบการติดตามแผนปฏิบัติการระดับโลก (Global Action Plan Monitoring Framework) เพื่อติดตามความก้าวหน้าเป้าหมายด้านพัฒนายั่งยืนข้อที่ 3 ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

ทั้งยังทำฐานข้อมูล TrACSS ที่ช่วนให้นานาประเทศสามารถประเมินผลกระทบของการจัดการเชื้อดื้อยา อย่างไรก็ตาม เครื่องมือและข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อติดตามและประเมินการทำงานของรัฐบาล และอุตสาหกรรมยา 

นอกซ์และลันเดอร์เสนอว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนมีความจำเป็นเพื่อหยุดปัญหาเชื้อดื้อยา

ตัวอย่างมีให้เห็นแล้ว เช่น การลงทุนวิจัยเชื้อดื้อยาผ่านความร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ในโครงการ AMR Action Fund และ CARB-X ผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าด้านนวัตกรรม การพัฒนายาต้านเชื้อดื้อใหม่ๆ และการนำยาออกสู่ตลาด

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมผลิตยาต้านเชื้อยังคงอ่อนแอ เนื่องจากยังไม่มียาต้านเชื้อชนิดใหม่ตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและบริษัทยาเพื่อลงทุนวิจัยและพัฒนายาต้านเชื้อใหม่ๆจึงสำคัญ เพื่อหายาต้านเชื้อใหม่ๆที่ต่อสู่กับเชื้อดื้อยาได้

วัคซีนเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการป้องกันเชื้อดื้อยา งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารบริทิชเมดิคัล (British Medical Journal) เมื่อต้นปีนี้ ระบุว่าวัคซีนสามารถป้องกันการเสียชีวิตที่เกิดจากเชื้อดื้อยาได้มากถึง 500,000 รายต่อปี โดยเฉพาะในภูมิภาคแอฟฟริกา เอเชียตะวันออกและใต้ ซึ่งมีอตราการเสียชีวิตจาโรคที่ป้องกันด้วยวัคซีนได้สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ

การพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อดื้อยาอย่างยั่งยืน
ในเดือน ก.ย. นีั ผู้นำระดับโลกจะรวมตัวกันในการประชุมระดับสูงว่าด้วยการดื้อยา ในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 79 ณ กรุงนิวยอรก์ สหรัฐอเมริกา

นอกซ์และลันเดอร์เรียกร้องให้ผู้นำโลกใช้โอกาสในการประชุมนี้ เพื่อหารือการตั้งเป้าหมายกำจัดเชื้อดื้อยา ซึ่งจะลดอัตราการตายและภาระทางสุขภาพในระยะยาว

อ่านบทความค้นฉบับ: https://www.weforum.org/agenda/2024/01/drug-resistance-global-goals-worldwide-health-crisis/