ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยคุณยายนอนติดเตียงอายุ 81 ปี ในซอยเรวดี จ.นนทบุรี ยังไม่ได้รับผ้าอ้อมผู้ใหญ่จากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ด้านผู้อำนวยการกองการแพทย์ เทศบาลนครนนทบุรีแจงคุณยายอยู่ในรายชื่อที่ต้องได้รับสิทธิแล้วแต่ยังอยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อ วอน สปสช. ผ่อนปรนหลักเกณฑ์ให้ท้องถิ่นจัดซื้อผ้าอ้อมสำรองเผื่อผู้ป่วยรายใหม่ระหว่างปีงบประมาณได้


ผู้สื่อข่าว The Coverage ได้รับแจ้งว่ามีผู้สูงอายุรายหนึ่งในซอยเรวดี ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียงมานาน 3 ปี และยังไม่ได้รับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ตามสิทธิที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด จึงได้สอบถามรายละเอียดจาก นางศิริพร รัตนถาวร ผู้เป็นบุตรสาว โดยนางศิริพร ให้ข้อมูลว่า มารดาของตนชื่อนางกุหลาบ ก้านสัญชัย อายุ 81 ปี เมื่อ 3 ปีก่อนหกล้มจนกระดูกสะโพกแตก ต้องรับการผ่าตัดสะโพก แต่หลังจากผ่าตัดแล้วเวลาเดินรู้สึกเจ็บเลยไม่กล้าเดิน ในที่สุดจึงกลายเป็นคนป่วยติดเตียงมาตั้งแต่นั้น

สำหรับสิทธิการรักษาของนางกุหลาบ เป็นสิทธิสวัสดิการข้าราชการ เนื่องจากมีลูกชายรับราชการตำรวจ และตั้งแต่เริ่มป่วยติดเตียงตนก็ต้องซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้มารดาใช้มาโดยตลอด มีค่าใช้จ่ายในส่วนของผ้าอ้อมผู้ใหญ่ประมาณเดือนละ 1,000 บาท จนกระทั่ง 2 ปีก่อนได้ทราบว่า สปสช. มีนโยบายแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่แก่ผู้ป่วยติดเตียง จึงไปสอบถามที่ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 4 วัดสมรโกฏิ แต่ในขณะนั้นได้คำตอบว่ายังจำกัดเฉพาะผู้ใช้สิทธิบัตรทอง จนกระทั่งปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ได้รับทราบจากคนรู้จักว่าขณะนี้ สปสช. สามารถแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้แก่ผู้ป่วยติดเตียงทุกสิทธิแล้ว จึงไปสอบถามอีกครั้งและได้รับคำตอบว่าไม่ทันปีงบประมาณนี้ ต้องรอปีงบประมาณถัดไป ตนจึงนำรายชื่อของมาดาลงทะเบียนรอรับสิทธิดังกล่าวไว้ก่อน

1

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ทีมงานจากศูนย์บริการสาธารณสุขที่4 วัดสมรโกฏิ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมนางกุหลาบ และมอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้จำนวนหนึ่ง จึงได้สอบถามไปยัง นพ.ปิยะ ฟองศรันย์ ผู้อำนวยการกองการแพทย์ เทศบาลนครนนทบุรี จ.นนทบุรี โดย นพ.ปิยะ ให้ข้อมูลว่า นางกุหลาบ อยู่ในความดูแลของศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 4 วัดสมรโกฏิ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของเทศบาลนครนนทบุรี และอยู่ในรายชื่อที่ต้องได้รับผ้าอ้อมผู้ใหญ่อยู่แล้ว แต่สาเหตุที่ยังไม่ได้รับผ้าอ้อมเนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการจัดซื้อ ต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ดังนั้นจึงได้นำผ้าอ้อมผู้ใหญ่ไปมอบให้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระหว่างนี้ก่อน และเมื่อจัดซื้อเสร็จนางกุหลาบก็จะได้รับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ตามสิทธิไปจนครบปีงบประมาณ

“ในพื้นที่ของศูนย์บริการสาธารณสุขอื่นๆ ที่จำนวนผู้ป่วยติดเตียงไม่เยอะก็จะจัดซื้อได้รวดเร็วและทยอยแจกแล้ว แต่เนื่องจากพื้นที่ของศูนย์บริการสาธารณสุขที่  4 มีผู้ป่วยติดเตียงจำนวนมาก ประมาณ 100 กว่าคน ยอดจัดซื้อจึงเกิน 500,000 บาท และต้องจัดซื้อด้วยวิธี e-Bidding จึงต้องใช้เวลาสักระยะ เบื้องต้นจึงทีมงานจึงนำผ้าอ้อมผู้ใหญ่ไปบรรเทาความเดือนร้อนให้ก่อน แล้วเมื่อจัดซื้อเสร็จก็จะนำส่วนที่จัดซื้อไปสนับสนุนให้ครบ”นพ.ปิยะ กล่าว

2

นพ.ปิยะ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการค้นหาผู้ป่วยติดเตียงและจัดซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในพื้นที่อื่นอาจจะไม่ซับซ้อนมากนัก แต่ในพื้นที่เทศบาลนครนนทบุรีเป็นพื้นที่ใหญ่ ประชากรหนาแน่น มีผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องจัดหาผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้เกือบ 500 คน ทำให้มีปัญหาในการดำเนินการ เช่น ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยบางรายเพิ่งทราบข่าว หรือบางรายเพิ่งเจ็บป่วยแล้วมีความจำเป็นต้องใช้ระหว่างปีงบประมาณ รวมทั้งด้วยการประชาสัมพันธ์ทำให้คนที่ตกสำรวจก็จะเข้ามาแสดงตัวมากขึ้น แต่มาแสดงตัวตอนที่ปิดยอดเสนอของบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นไปแล้ว กลายเป็นว่าต้องรอปีงบประมาณต่อไป

“ปีงบประมาณที่ผ่านมาผมก็เสนอในที่ประชุมกองทุนฯ ของเทศบาลไปว่าควรจัดซื้อสำรองเผื่อไว้ส่วนหนึ่งเพราะมีเคสเกิดใหม่ทุกวัน แต่เวลาไปทำเรื่องเบิกจ่ายจริงปรากฏว่าทำไม่ได้เพราะ สปสช. มีหลักเกณฑ์ว่าต้องมี Care Plan ของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย จะซื้อเผื่อโดยไม่มี Care Plan ไม่ได้ หรืออย่างปีงบประมาณนี้ก็มีผู้ป่วยแสดงตัวขอรับสิทธิหลังจากปิดยอดไปแล้วอีกประมาณ 10 คน ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ สปสช. ปรับแก้หลักเกณฑ์ อนุโลมให้จัดซื้อสำรองไว้ส่วนหนึ่ง เผื่อคนที่มีความจำเป็นต้องใช้ระหว่างปีงบประมาณก็จะทำให้การดำเนินงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น” นพ.ปิยะ กล่าว