ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ย้อนไปเมื่อ 23 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่ “บัตรทอง” หรือโครงการ “30 บาทรักษาทุกโรค” ก่อกำเนิดขึ้นในประเทศไทยในฐานะ “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ของประเทศ

นโยบายในขณะนั้น ถูกโจษขานถึงในฐานะ ‘การปฏิรูประบบสุขภาพ’ ครั้งใหญ่ที่เขย่าประเทศอย่างสะเทือนเลื่อนลั่น

แน่นอน ภาพจำของผู้คนส่วนใหญ่ นี่คือผลงานมาสเตอร์พีซของ ‘พรรคไทยรักไทย’ โดยมี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและงบประมาณ ที่ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาพและภาคประชาชน

ผ่านไป 23 ปี … ในวันนี้ ‘พรรคเพื่อไทย’ หรือ ‘พรรคไทยรักไทย’ ในอดีต กลับมาอีกครั้งในจังหวะจะโคนคล้ายคลึงกับเดิม คือเป็นแกนนำรัฐบาล ครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และเบอร์ 1 กระทรวงสุขภาพ อย่าง รมว.สาธารณสุข (สธ.)

ครั้งนี้ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้ตอกย้ำแบรนด์ ‘30 บาท’ ให้ตรึงอยู่ในใจประชาชนอีกครั้ง

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 ตอนหนึ่งว่า จะมีการ “ยกระดับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค” ให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และมีคุณภาพยิ่งขึ้น ด้วยบริการขั้นพื้นฐานและบริการสาธารณสุขที่เพิ่มความสะดวกเข้าถึงได้ “ผ่านบัตรประชาชนใบเดียว”

หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ‘30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’

แน่นอน ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายนี้ สปสช. ยังคงเป็นกลไกหลักที่สนับสนุนการขับเคลื่อนเช่นเดิม

“The Coverage” พูดคุยกับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ที่ได้ฉายภาพให้เห็นถึงบทบาทและการทำงานของ สปสช. ภายใต้นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว

“ต้องยอมรับว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ถูกประกาศเป็นครั้งแรกโดยพรรคเพื่อไทยในลักษณะของแคมเปญหาเสียง ซึ่งในตอนนั้นทาง สปสช. ไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำหรือวางกระบวนการอะไรได้ เพราะเป็นเรื่องของพรรคการเมือง” คือประโยคแรกที่ นพ.จเด็จ กล่าว

ก่อนจะอธิบายต่อไปว่า แต่ก็เชื่อว่าพรรคการเมืองต่างๆ เวลาประกาศนโยบายในด้านสาธารณสุข หรือด้านไหนก็ตาม น่าจะมีการดูข้อมูลสถานการณ์ในด้านนั้นๆ ในแต่ละช่วง จากหน่วยงานต่างๆ และ สปสช. ก็เป็นหนึ่งในนั้น เช่น ด้านสาธารณสุข คือ การเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนที่โรงพยาบาลที่มีความแออัด ก่อนจะต่อยอดไปเป็นนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

“จริงๆ ตอนช่วงเลือกตั้งเราก็ได้ดูนโยบายพรรคการเมืองเพื่อดูทิศทางว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งไม่ได้ดูพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่ศึกษานโยบายของทุกพรรค ทั้งก้าวไกล เพื่อไทย ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ฯลฯ เพราะเราต้องเตรียมตัวของเรา ซึ่งไม่ว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล แต่ถ้ามีการประกาศนโยบายต่อสภา สปสช. ในฐานะหน่วยงานรัฐก็ต้องสนับสนุนอยู่แล้วตามกฎหมาย” 

เตรียมพร้อมไม่ต้องรอกดปุ่ม

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ฝุ่นหายตลบในช่วงจัดตั้งรัฐบาล และชัดว่า “พรรคเพื่อไทย” จะเป็นแกนนำอย่างชัดเจน นพ.จเด็จ เผยว่า ทาง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการเรียกประชุมทุกกรม กอง รวมถึง สปสช. ไปร่วมพูดคุยถึงนโยบายสาธารณสุขด้านต่างๆ ของพรรคเพื่อไทยอยู่หลายครั้ง แน่นอนว่าหมายรวมนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ด้วย

เนื่องจากการจะดำเนินนโยบายต่างๆ ไม่สามารถรอให้กระบวนการทุกอย่างมาเริ่มตอน รมว.สาธารณสุข มาถึงเพื่อกดปุ่มแล้วค่อยเริ่ม แต่ต้องมีการเตรียมข้อมูล ข้อจำกัด โอกาส ฯลฯ เพื่อเสนอข้อมูลประกอบการตัดสินใจของรัฐบาลผ่านทาง รมว.สาธารณสุข ได้เลยว่าขณะนี้มีความพร้อมอะไร และต้องเพิ่มเติมในส่วนไหนในการทำให้นโยบายเกิดขึ้นจริงได้

“ข้อดีคือท่าน ปลัด สธ. ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการนำในนโยบายนี้ ที่ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยตั้งแต่เนิ่นๆ อีกทั้งหลายหน่วยงานต่างมีประสบการณ์ในโครงการใหญ่ๆ มาแล้ว ทำให้เมื่อต้องเดินหน้านโยบายก็ทำงานกันได้อย่างรวดเร็ว

“อันนี้ต้องยกความดีให้กับ สธ. ว่าทำงานกันเร็ว เห็นได้จาก Quick win หรือ ของขวัญปีใหม่ ที่ออกมา มีรายละเอียดครบถ้วน ชัดเจน ว่าจะทำอะไร อย่างไร”

ขณะเดียวกันการจัดตั้ง  “คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “ซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ” ยังทำให้เริ่มเห็นรูปธรรมในเชิงนโยบายมากขึ้นจากรัฐบาล เพราะมีการเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วมเป็นกรรมการ ไม่ว่าจะภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เพื่อมาเสนอข้อมูลและร่วมพิจารณานโยบายนี้

ในส่วนบทบาท สปสช. นั้น นพ.จเด็จ บอกว่า เราได้วางระบบรองรับในการร่วมขับเคลื่อนนโยบายฯ อย่างมีประสิทธิภาพ ให้การเบิกจ่ายทำได้อย่างรวดเร็วหลังจากประชาชนรับบริการแล้ว ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับหน่วยบริการ ไม่แต่เฉพาะหน่วยบริการสังกัด สธ. เท่านั้น และรวมถึงหน่วยบริการสังกัดอื่นๆ และหน่วยบริการนวัตกรรม เป็นต้น ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. ที่มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เป็นหัวเรือใหญ่ ทำให้ สปสช. มีความพร้อมไม่ว่าจะเป็นการนำร่องในจังหวัดใด

“ท่าน รมว.สาธารณสุข ท่านเข้าใจบทบาทของ สปสช. นี้ และแม่นเรื่องกฎหมาย รวมถึงงบประมาณ และได้สื่อสารถึงความคาดหวังของนโยบาย และความคาดหวังของประชาชนต่อนโยบายฯ กับ บอร์ด สปสช. เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้นโยบายประสบความสำเร็จ”

30 บาทรักษาทุกที่ฯ ยุค ‘ปฏิรูปเทคโนโลยีสารสนเทศระบบสุขภาพ’

หลังจากที่นโยบายฯ ขับเคลื่อนมีเสียงสะท้อนเกิดขึ้นว่า ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลง ใช้บัตรประชาชนใบเดียวก็ใช้กันอยู่แล้ว นพ.จเด็จ ระบุว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือการปฏิรูปเทคโนโลยีสารสนเทศครั้งใหญ่ที่เป็นงานหลังบ้าน โดยนำข้อมูลการให้บริการสุขภาพในระบบมารวมกัน ที่จะเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนในการใช้สิทธิมากขึ้น ซึ่งอาจจะมองได้ว่าเป็นสิ่งธรรมดา แต่ถ้าในระดับโลก ประเทศที่ทำเรื่องนี้สำเร็จมีน้อยมาก รวมถึงถ้ารวมได้จริง ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากบิ๊กดาต้า เราอาจจะจินตนาการไม่ถูกเลยก็ได้

นอกจากนี้นโยบายนี้ยังได้สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบบริการปฐมภูมิ เพราะการไปที่ไหนก็ได้ ทำให้หน่วยงานต่างๆ ในระบบสุขภาพ ยิ่งต้องสร้างความเข้มแข็งของระบบบริการ ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในคุณภาพและบริการและรู้สึกได้ว่าการรับบริการปฐมภูมิไม่ว่าจะที่ไหนก็เหมือนกัน และเลือกที่เข้ารับบริการกับหน่วยบริการที่อยู่ใกล้ สะดวก ไม่ต้องเดินทางไกล และที่สำคัญคือช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล  นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับระบบสุขภาพของประเทศจากนโยบายนี้

สนใจ ‘ปัญหา’ มากกว่า ‘ความสำเร็จ’

นับตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2567 ที่ได้เริ่มนำร่องนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ มาในตอนนี้ก็เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว นพ.จเด็จ อธิบายว่า ขณะนี้สิ่งที่ทาง สปสช. กำลังติดตาม ไม่ใช่ในส่วนของความสำเร็จ แต่เป็นการมุ่งค้นหาปัญหาและอุปสรรค เพื่อที่จะได้ลงไปแก้ไข อุดช่องว่าง ซึ่งในการประชุมติดตามการดำเนินงานตามนโยบายฯ ของ สปสช. ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ สปสช. คอยมอนิเตอร์ในพื้นที่ และรายงานมายังส่วนกลาง แต่ยังไม่พบปัญหาที่ทำให้เกิดติดหล่มแต่อย่างใด

นอกจากนี้เรายังมีการขยายคู่สายของสายด่วน สปสช. 1330 ด้วยคาดการณ์ว่าอาจเกิดปัญหาที่หน้างาน เพื่อที่ สปสช. จะเข้าไปช่วยได้ทัน รวมทั้งได้ส่งเจ้าหน้าที่ สปสช. กว่า 100 คน ลงพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง แต่มาถึงวันนี้สายที่โทรเข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นการถามวิธีการรับบริการจากประชาชน และเชิงระบบจากหน่วยบริการมากกว่า ยังไม่มีการสะท้อนปัญหาหรืออุปสรรคในการรับบริการเข้ามา

“ปริมาณสายไม่เยอะอย่างที่เราคิด อาจจะเกิดปัญหาแล้วถามกันภายในจังหวัดก็รู้เรื่อง แต่ถ้าเกิดประเด็นปัญหาขึ้น สปสช. ก็พร้อมลงไปแก้ไข ส่วนประเด็นที่พูดกันมากคือ Shopping Around ไหม ตอนนี้ยังไม่พบปัญหาเช่นกัน ซึ่งในเรื่อง Shopping Around นี้ มีการเซ็ตระบบว่า ถ้าพบกรณีการรับบริการเป็นครั้งที่ 2 ในเวลาใกล้เคียงกัน จะส่งข้อมูลเพื่อเป็นสัญญาณเตือนไปให้สถานพยาบาลทันที โดยประสานจัดทำระบบในโรงพยาบาลจากทั่วประเทศร้อยแล้ว”

เกาะกระแสเปลี่ยนแปลง โอกาสปรับปรุงระบบ

แม้จะไม่ได้มีการสะท้อนปัญหามาโดยตรง แต่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า แต่จากข้อมูลการรับบริการก็มีบางเรื่องที่ควรต้องตรวจสอบ อย่างมีบางโรงพยาบาลที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณสูงมากหลังคิกออฟนโยบาย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สปสช. คาดการณ์ไว้ว่า จำนวนการรับบริการที่เพิ่มขึ้น ควรอยู่ในส่วนนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ เช่น คลินิกเวชกรรม ร้านยา มากกว่า เพราะมีความสะดวกมากกว่า อย่างไรก็ตามจากการติดตามทางโรงพยาบาลดังกล่าวก็แจ้งว่า ได้มีการสลับบริการบางอย่างมาไว้ที่โรงพยาบาล ซึ่งจากเดิมที่ผู้ป่วยต้องรับบริการดังกล่าวที่อื่น นอกจากนี้ในอดีตกรณีการส่งตัว โรงพยาบาลต้องตามจ่ายกันเอง แต่ตอนนี้ไม่ต้องมีใบส่งตัวแล้ว โดยระบบจะจ่ายตรงเลย ซึ่ง สปสช. กำลังดูรายละเอียดอยู่

“ตอนนี้เรากำลังเซ็ตระบบที่เรียกว่ามอนิเตอร์เชิงรุก คือข้อมูลทุกอย่างที่มาที่เราจะใกล้เรียลไทม์เลย และถ้ามีการเบิกผิดพลาดยังไง เราจะมีสิ่งที่เรียกว่า pre-audit กับ post-audit อย่างรวดเร็ว เพื่อให้โรงพยาบาลสบายใจว่าเราไม่มีโอกาสเรียกเงินคืน

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า สิ่งต่างๆ ที่ สปสช. ทำอยู่นี้ ถือว่าเป็นโอกาสในการปรับระบบที่เป็นการเกาะกระแสของการปฏิรูป ควบคู่กับปัจจุบันที่มีคลื่นของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม และจากการปฏิรูประบบสุขภาพจากนโยบายฯ นี้ คาดการณ์ว่าอีก 2-3 ปีจากนี้ ระบบสุขภาพของประชาชนดีขึ้น

ส่วนข้อกังวลที่ว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ จะทำให้คนแห่ไปที่โรงพยาบาลใหญ่กันนั้น นพ.จเด็จ อธิบายว่า จากข้อมูลการใช้บริการจริงพบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นจริง แต่ขณะเดียวกันฝั่งของนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ก็มีการรับบริการจำนวนมากเช่นกัน ฉะนั้นอาจสะท้อนได้ว่า ที่ผ่านมามีคนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะไม่ได้รับบริการ แต่ตอนนี้เข้าถึงบริการมากขึ้น

“ย้ำว่า ทั้งหมดมันเป็นการนำร่อง ไม่มีอะไรถูกต้องหรอก ออกแบบวันแรกกับวันสุดท้ายอาจจะไม่เหมือนกัน แต่เราอยากจะรู้ว่าที่ไม่ถูกต้องจะต้องปรับยังไง ซึ่งภายในสิ้นปีนี้จากงบประมาณที่เราขอเพิ่มไปกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อมารองรับนโยบายนี้ เป็นเม็ดเงินที่เพียงพอและหวังว่าจะทำให้ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ขยายไปทั่วประเทศได้”

กางแนวทางเฟส 2 สปสช. จะทำอะไรบ้าง

ส่วนเฟส 2 เดือน มี.ค. 2567 ในอีก 8 จังหวัดนั้น เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากที่ประชุมมาก็เริ่มเห็นแล้วว่าจะต้องมีการปรับอะไร เพื่อพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีราว 11 ประเด็น เช่น ระบบการจ่ายเงินบางบริการต้องเปลี่ยน ระบบข้อมูลข่าวสารต้องชัดเจนกว่านี้ การสร้างบุคลากรเข้าสู่ระบบมากขึ้น ฯลฯ พร้อมกันนี้ในด้านนวัตกรรมบริการสาธารณสุข โดยจะดึงหน่วยบริการภาคประชาชนเข้ามาร่วมให้มากขึ้น เช่น การให้บริการดูแลแบบประคับประคอง (ชีวาภิบาล) การให้บริการสุนัขบำบัด (Therapy Dog) สำหรับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่กำลังดูข้อมูลเพื่อพิจารณาเพิ่มเข้ามาเป็นนวัตกรรมใหม่

“เราพยายามทำให้หน่วยนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายบริการได้ง่ายขึ้นอย่างมีมาตรฐาน เพราะที่ผ่านมาด้วยความเป็นราชการเวลาเราออกแบบอะไร มักจะเต็มไปด้วยความยุ่งยากเสมอ เพราะป้องกันคนโกง พูดตรงๆ ก็จะมีแบริเออร์เต็มไปหมด จนบางที่หน่วยบริการเขาบอกว่าลดลงหน่อยได้ไหม เนื่องจากอยากเข้าร่วม แต่เจอกติกาเข้าไปไม่ไหว”

มากไปกว่านั้น ขณะนี้ สปสช. ได้เชื่อมกับระบบเชื่อมข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่หลากหลายแพลตฟอร์มทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว เช่น Health Link หมอพร้อม Financial Data Hub ฯลฯ เพื่อรับและคืนข้อมูลระหว่างกัน และที่สำคัญคือทำให้ไม่ว่าสถานพยาบาลจะใช้ระบบไหนของใคร ก็สามารถเบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช. ได้หมดอย่างรวดเร็ว

ทิ้งท้ายบทสนทนา นพ.จเด็จ ย้ำว่า หลักสำคัญที่สุดคือหน่วยบริการจะต้องมาเชื่อมข้อมูลกัน เพื่อให้ สปสช. มั่นใจว่าสามารถคืนข้อมูลไปถึงหน่วยบริการได้ และเวลาประชาชนไปรับบริการจำเป็นต้องมีการพิสูจน์การรับบริการด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งถ้าทำแบบนี้ได้ มีข้อมูลและพิสูจน์ได้ว่ามีการรับบริการจริง ค่อนข้างมั่นใจว่าหน่วยบริการจะได้รับเงินภายใน 3 วันอย่างแน่นอน