ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เรื่อง ‘พิษวิทยา’ เป็นเรื่องยาก มีความสลับซับซ้อนและเป็นศาสตร์เฉพาะ การปั้นหรือสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ขึ้นมาสัก 1 คน ต้องลงทุนสูง 

หากพูดเรื่อง ‘ยาต้านพิษ’ ยิ่งแล้วใหญ่ เนื่องจากเป็นยาที่ ‘ใช้น้อย’ เพราะคนไม่ได้เจ็บป่วยหรือมีความต้องการโดยทั่วไป การลงทุน-วิจัย-พัฒนา จึงยิ่งน้อย เพราะไม่คุ้มค่าต่อการนำไปสร้างเป็น ‘mass production’ ในเชิงการตลาด 

ฉะนั้น หากประเทศไทยต้องการที่จะมี ‘ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษ’ กระจายทั่วประเทศ หรือประจำตามโรงพยาบาลต่างๆ จะต้องมีราคาที่ต้องจ่ายแพงมาก 

รวมทั้งหากแต่ละโรงพยาบาล หน่วยพยาบาลแต่ละระดับ จังหวัด-อำเภอ-ชุมชน จะสต็อกหรือจัดซื้อ ‘ยาต้านพิษ’ เอาไว้เอง ก็คงเป็นภาระงบประมาณอย่างสาหัส หนำซ้ำ ยาเหล่านี้มีอายุ ถ้าไม่ได้ใช้ก็ต้องเสียไป

แต่ข้อจำกัดที่กล่าวข้างต้นนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางหรือทำให้ประเทศไทยเปราะบางต่อ ‘การต้านพิษ’ แต่อย่างใด คนไทยมีความมั่นคงและมั่นใจได้ว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของประเทศ หากได้รับพิษ จะเข้าถึงยาต้านพิษได้อย่างแน่นอน

เห็นได้จากเคสล่าสุด กรณีการช่วยชีวิตเด็ก 5 ขวบจาก ‘ไซยาไนด์’ ซึ่งแม้ว่าโรงพยาบาลในพื้นที่ที่เกิดเหตุไม่ได้มีการสต็อกยาต้านพิษเอาไว้ แต่ด้วย ‘ระบบ’ และ ‘บุคลากรทางการแพทย์’ ที่มีประสิทธิภาพและศักยภาพ ทำให้เด็กน้อยเข้าถึงยาต้านพิษได้ในนาทีชีวิต

เมื่อพูดถึง ‘ระบบ’ จำเป็นต้องพูดถึง ‘ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี’ ที่เปรียบได้กับ ‘กระดูกสันหลัง’ ด้านพิษวิทยาที่ช่วยค้ำยันประเทศ ซึ่งนอกจากคอยทำหน้าที่ consultant โรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว ยังเป็น ‘คลังแสง’ ยาต้านพิษ มอนิเตอร์สถานการณ์ และทำหน้าที่จัดส่งเสบียงยาต้านพิษไปสต็อกตามโรงพยาบาลต่างๆ ด้วย

1

เป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง ที่ The Coverage ได้มีโอกาสพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับ ‘ศ.นพ.วินัย วนานุกูล’ หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี” ที่ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี อาคารสุโขเพลส ถ. สุโขทัย กทม. ซึ่งทำให้ภาพความสำคัญของ ‘ยาต้านพิษ’ ในประเทศไทย บนความหมายที่แจ่มชัดมากขึ้น 

โดยเฉพาะกับศักยภาพของการบริหารจัดการยาต้านพิษทั้งระบบ ที่ทุกวันนี้ประเทศไทยเราสามารถผลิตยาต้านพิษได้เอง ทำให้ลดการพึ่งพายาจากต่างประเทศ ประหยัดงบประมาณชาติไปได้มาก 

อีกทั้ง ยังมีระบบบริหารจัดการยาต้านพิษที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษ หรือถูกสัตว์มีพิษรุนแรงกัดต่อย สามารถรอดชีวิตมาได้เพราะเข้าถึงยาต้านพิษที่มีประสิทธิภาพสูงได้อย่างทันท่วงที

มากไปกว่านั้น ประเทศไทยยังเป็นมหามิตรให้กับอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่ต้องเผชิญกับปัญหาสารพิษ ด้วยการส่งยาต้านพิษไปช่วยมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง 

ไม่แน่ในว่าประชาชนในประเทศไทยรู้จัก ‘ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี’ มากน้อยเพียงใด หากแต่ในระดับโลกแล้ว หลายประเทศรู้จักเป็นอย่างดี แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังให้การยกย่อง ตลอดจนทำโครงการความร่วมมือ และเดินทางมาดูงานครั้งแล้วครั้งเล่า

ทั้งหมดนี้ เป็นความสำเร็จที่มีทีมบุคลากรทางการแพทย์ไม่กี่สิบชีวิตของ ‘ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี’ อยู่เบื้องหลัง โดยมี ศ.นพ.วินัย เป็นผู้นำ

1

ยาต้านพิษ เหมือนทหาร ไม่มี = ไม่ได้

ก่อนอื่น ศ.นพ.วินัย พาไปรู้จักกับยาต้านพิษกันก่อน โดยยาต้านพิษคือยาที่อยู่ในกลุ่มยากำพร้า เป็นยาที่มีราคาแพง หาซื้อยาก และไม่ค่อยมีในตลาด

สาเหตุเพราะเป็นยาที่บริษัทยามองว่าขายได้ยาก ปริมาณการใช้ยาต้านพิษก็ไม่ได้เยอะเหมือนกับยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดท้อง เป็นต้น 

หนำซ้ำยาต้านพิษที่ไม่ค่อยใช้กัน เว้นเสียแต่ว่ามีเหตุที่ต้องใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษ หรือสารอันตราย หรือแมลง-สัตว์มีพิษกัดต่อยรุนแรง ถึงจะเป็นโอกาสที่แพทย์จะได้ใช้ยาต้านพิษรักษาชีวิตผู้ป่วย 

ปัญหาดังกล่าวทำให้หลายประเทศเจอปัญหาการบริหารจัดการยาต้านพิษ ยิ่งกับประเทศที่ผลิตยาไม่ได้เองก็ยิ่งเป็นปัญหา เพราะจะต้องวางแผนสต็อกยาต้านพิษเอาไว้ และต้องวางแผนกระจายอย่างเหมาะสมด้วย 

“เราไม่รู้ได้เลยว่าจะต้องใช้เมื่อไหร่ เว้นแต่มีคนไข้ได้รับสารพิษอันตรายรุนแรงถึงชีวิตมา เราถึงได้ใช้เพื่อรักษา แต่ถ้าไม่ได้ใช้ ยาก็จะเสื่อมสภาพและหมดอายุไป ดังนั้น การวางแผนสต็อกยาเอาไว้จึงสำคัญมาก” 

ศ.นพ.วินัย เปรียบให้เห็นภาพยาต้านพิษ ก็เหมือนกับกองกำลังทหารที่เตรียมพร้อมเอาไว้ หากทหารออกไปทำหน้าที่นั่นแสดงว่าเกิดเรื่องร้ายขึ้นแล้ว แต่ถ้าไม่มีทหารได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ ดังนั้น สำหรับยาต้านพิษคือเป็นเรื่องของความพร้อม 

“ยาต้านพิษก็เหมือนกัน ที่เราต้องเตรียมพร้อม เพราะไม่รู้ว่าจะได้ใช้เมื่อไหร่ แต่ถ้าเมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้ ยาก็ต้องพร้อมให้ใช้ได้อย่างทันที เพราะชีวิตของคนไข้ที่ได้รับสารพิษ มันขึ้นอยู่กับเวลา” ศ.นพ.วินัย ย้ำความสำคัญของยาต้านพิษ 

ศ.นพ.วินัย พาเราไปต่อกับยาต้านพิษ และพบว่าก่อนปี 2553 ประเทศไทยไม่สามารถผลิตยาต้านพิษได้ แต่เรารู้ว่าสารพิษแต่ละชนิดที่เข้าสู่ร่างกาย มียาที่รักษาได้ และยังไม่มีระบบการบริหารจัดการยาต้านพิษที่เป็นระบบ ส่งผลให้โรงพยาบาลต้องสต็อกยาต้านพิษเอาไว้เอง และแพทย์ เภสัชกรที่รับผิดชอบก็ไม่รู้ว่าจะต้องสต็อกยาชนิดไหนที่เหมาะกับพื้นที่ ที่อาจจะเกิดเหตุพบผู้ป่วยสารพิษได้บ่อย 

เพราะหากสต็อกยาต้านพิษไปด้วยความไม่รู้ ยาก็จะเสียเปล่าเพราะอาจไม่ได้ใช้เลย แต่อีกด้าน ในพื้นที่ที่เจอผู้ป่วยสารพิษบ่อย กลับไม่มียาที่จะเอาไว้แก้พิษ เพราะโรงพยาบาลสต็อกยาไม่ถูกต้อง 

4

เกมพลิก เมื่อไทยผลิตยาต้านพิษได้เอง

หลังปี 2553 เกิดโครงการที่ชื่อว่า ‘โครงการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ’ ที่พลิกเกมเรื่องของยาต้านพิษในประเทศไทยไปเลย 

จากความร่วมมือกันหลากหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถานเสาวภา สภากาชาดไทย สมาคมพิษวิทยาคลินิกแห่งประเทศไทย โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง และศูนย์พิษวิทยารามาฯ 

ทั้งหมดเข้ามาร่วมผลักดันให้มีโครงการเข้าถึงยาต้านพิษอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และผลดังกล่าวทำให้ประเทศไทย มีศักยภาพก้าวขึ้นมาเป็นอีกประเทศทีมีการบริหารจัดการยาต้านพิษอย่างครอบคลุม ทั้งการผลิต การจัดซื้อ การสต็อกสำรองยา ที่เน้นการใช้ให้เกิดประโยชน์ และมีความคุ้มค่า 

ศ.นพ.วินัย ให้ภาพว่า จากจุดเริ่มของโครงการ ต้องให้เครดิตกับ สปสช. ที่เห็นปัญหาการบริหารจัดการยาต้านพิษ จึงขอข้อมูลทุกด้านของยาต้านพิษ ทั้งยาที่ใช้บ่อย พื้นที่ที่ใช้บ่อย ความเหมาะสมของการสต็อกยาต้านพิษในโรงพยาบาลเพื่อสำรองใช้ในทันที ซึ่งเป็นข้อมูลที่ศูนย์พิษวิทยารามาฯ มีอยู่แล้ว และพร้อมกับวิเคราะห์ส่งให้ สปสช. เอาไปจัดการต่อ 

จากจุดนั้น นำไปสู่ความร่วมมือจากอีกหลายหน่วยงาน เฉกเช่น สถานเสาวภา ผลิตยาต้านพิษบางชนิดได้ และยังผลิตเซรุ่มแก้พิษงูเพื่อใช้ในประเทศได้ด้วย ก็นำไปสู่การคัดยาที่ผลิตไม่ได้เอง แต่ยังจำเป็นต้องใช้ เพื่อรวบรวมให้กับองค์การเภสัชกรรมไปจัดซื้อจัดหา 

1

เมื่อได้ยามาแล้ว ก็ต้องมีวิธีการบริหารจัดการ และกระจายยา ซึ่งเราจะแบ่งกลุ่มยาต้านพิษเอาไว้ โดยลำดับแรกคือ ยาฉุกเฉิน หรือ Emergency Drugs คือยาที่ผู้ป่วยต้องได้รับภายใน 1 ชั่วโมง จากนั้นลำดับความสำคัญของยาตามระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับ

พอเราแบ่งกลุ่มยาได้ และแบ่งปริมาณขั้นต่ำที่ต้องการกระจายยาไปยังโรงพยาบาล เราก็เอาแผนที่ประเทศไทยมากางกันเลย ว่ายาแต่ละระดับจะกระจายไปไหนบ้าง และจากข้อมูลของศูนย์พิษวิทยารามาฯ วิเคราะห์และทำเป็นข้อเสนอว่า ยาต้านพิษฉุกเฉิน ควรสต็อกเอาไว้ที่โรงพยบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ใช้ภายในจังหวัด

“แต่หากโรงพยาบาลชุมชน ที่อยู่ประจำอำเภอซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร การเข้าถึงและคมนาคมลำบาก การส่งต่อผู้ป่วย หรือการส่งยาต้านพิษต้องใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมง หรือเคยมีเคสผู้ป่วยได้รับสารพิษรุนแรง ก็จะอนุญาตให้สต็อกยาต้านพิษฉุกเฉินไว้ในโรงพยาบาลชุมชนได้เช่นกัน” หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาฯ อธิบายถึงการบริหารจัดการยาต้านพิษ 

จากโครงการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ ที่เริ่มต้นและรุดหน้าพัฒนามาเกือบ 14 ปี ก็ทำให้ยืนยันได้ว่าเป็นระบบการจัดการยาต้านพิษที่ดีที่สุด และทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาการซื้อยาจากต่างประเทศ ทำให้มีการวางแผนการใช้ยาต้านพิษที่เหมาะสมกับพื้นที่ เกิดเป็นความคุ้มค่าที่เหลือยาทิ้งเพราะไม่ได้ใช้น้อยลงไปมาก

สิ่งสำคัญคือ เกิดเป็นกระบวนการจัดการที่ทำให้โรงพยาบาล ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านพิษบางชนิด ก็ไม่ต้องสต็อกยาชนิดนี้เอาไว้เพราะอาจเป็นการสิ้นเปลือง แล้วไปสต็อกยาต้านพิษที่เคยเกิดเหตุ หรือมีเคสผู้ป่วยเกิดขึ้นบ่อยในพื้นที่ได้ 

“มันทำให้การใช้ยามีความคุ้มค่ามากขึ้น แล้วทำให้เราวางแผนการใช้ยาต้านพิษอย่างถูกต้อง และมันแม่นยำมากขึ้น” หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาฯ ย้ำ 

4

สายด่วนศูนย์พิษวิทยารามาฯ 1367

สายด่วนศูนย์พิษวิทยารามาฯ 1367 อาจเรียกได้ว่าเป็นหน่วยพระเอกของศูนย์พิษวิทยารามาฯ ได้เลย เพราะเป็นจุดที่จะคอยให้คำปรึกษาในการรักษาผู้ป่วยสารพิษ ที่แต่ละวัน จะมีโรงพยาบาลทุกสังกัดโทรเข้าหาเพื่อขอคำแนะนำในการรักษาผู้ป่วย 

ศ.นพ.วินัย พาไปดูห้องทำงานของศูนย์ให้คำปรึกษายาต้านพิษ หรือคอลเซ็นเตอร์สายด่วนศูนย์พิษวิทยารามา 1367 ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง จุดนี้เต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่ ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านพิษวิทยา แพทย์พิษวิทยา เกือบๆ 10 ชีวิต กำลังนั่งรับสายที่โทรเข้ามาจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ 

พวกเขาทำหน้าที่ให้คำปรึกษากับแพทย์ เภสัชกร พร้อมคำแนะนำในการวินิจฉัย รักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทีมแพทย์ได้รักษาอย่างถูกต้อง และใช้ยาต้านพิษได้ตรงกับอาการ 

“ปี 2566 มีโทรเข้ามาประมาณ 4 หมื่นกว่าสาย เฉลี่ยก็วันละหลายร้อยครั้ง เรียกว่า 90% ที่โรงพยาบาลเจอผู้ป่วยได้รับสารพิษ จะโทรมาที่นี่” ศ.นพ.วินัย บอกกับเรา 

หรือแม้แต่การประสานหายาต้านพิษ อย่างเช่นเคสที่โรงพยาบาลขุนยวม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนในอำเภอขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน รักษาผู้ป่วยได้รับสารไซยาไนด์ได้ทันท่วงที ทั้งที่ไม่มีสต็อกยาไว้ในโรงพยาบาล 

แต่เพราะระบบในการประสานหายาต้านพิษที่ใกล้ที่สุด ซึ่งศูนย์พิษวิทยารามาฯ เป็นหน่วยประสานให้ ก็ไปเจอว่าที่โรงพยาบาลศรีสังวาล ที่เป็นโรงพยาบาลจังหวัด ก็ทำให้มีการรักษาผู้ป่วยรายนีได้ทันเวลา 

ศ.นพ.วินัย เล่าว่า สายด่วนศูนย์พิษวิทยารามาฯ 1367 จะมีเจ้าหน้าที่หมุนเวียนการทำงาน 3 กะตลอด 24 ชั่วโมง โดยแต่ละช่วงเวลานอกจากเจ้าหน้าที่แล้ว จะมีอาจารย์แพทย์ด้านพิษวิทยาที่เชี่ยวชาญ สแตนบายด์รอให้คำปรึกษาหากมีเคสที่ยาก และเกินกว่าจะรับมือไหว ซึ่งอาจารย์แพทย์จะหมุนเวียนเข้าเวรอยู่ตลอดทุกวัน และทั้งวันเช่นกัน 

ว่ากันเฉพาะสายด่วน 1367 ที่สตาร์ทให้บริการปรึกษาเรื่องสารพิษ และยาต้านพิษกับบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี 2539 ศูนย์พิษวิทยารามาฯ ใช้งบประมาณของคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ซึ่งแต่ละปีจะมีค่าใช้จ่ายประมาณกว่า 10 ล้านบาท 

แต่นอกเหนือจากนั้น ศูนย์พิษวิทยารามาฯ ยังมีค่าบริหารจัดการอื่นๆ ที่แฝงอยู่ในการทำงานอีก  อาทิเช่น ค่าโทรศัพท์กลับไปติดตามอาการของผู้ป่วยสารพิษ ค่าเดินทางอบรมบุคลากรทางการแพทย์ ที่เป็นการทำงานเชิงรุก ฯลฯ

กระนั้นก็ตาม ในปี 2567 ศ.นพ.วินัย บอกว่า ได้ตกลงกับ สปสช. ในการให้สายด่วนศูนย์พิษวิทยารามาฯ เข้าเป็นหน่วยบริการร่วมของ สปสช. ซึ่งจะทำให้ศูนย์พิษวิทยารามาฯ มีรายได้จากค่าบริการให้คำปรึกษาเรื่องยาต้านพิษกับโรงพยาบาล ที่ให้บริการกับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท 

ส่วนค่าใช้จ่ายรายการอื่นๆ นอกเหนือจากสายด่วน 1367 ยังเป็นความรับผิดชอบอันหนักหน่วงของคณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดีอยู่ 

4

ประเมินความคุ้มค่า ‘ยาต้านพิษ’ ช่วยลดงบประมาณ

จากโครงการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ ประสิทธิภาพของโครงการก็ได้เข้าไปช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาต้านพิษได้ทุกสิทธิ ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ หรือแม้แต่ต่างชาติที่เมื่อฉุกเฉินได้รับสารพิษ ก็จะได้รับยาต้านพิษเช่นกัน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด 

“เรายึดตามหลักมนุษยธรรม โรงพยาบาลทุกแห่งก็ไม่เคยถามผู้ป่วยว่าสิทธิอะไร แต่เมื่อได้รับสารพิษ ก็ต้องแก้ด้วยยาต้านพิษที่ถูกต้อง ทุกเคสจะเหมือนกันหมด” ศ.นพ.วินัย เล่า  

มากไปกว่านั้น ศ.นพ.วินัย บอกกับเราว่า ด้วยระบบการสต็อกยา และระบบการค้นหายาต้านพิษที่ใกล้ที่สุดโดยใช้จีพีเอสจับระยะทาง โดยไม่สนใจว่าจะเป็นพื้นที่เดียวกันหรือไม่ แต่หากอยู่ใกล้ที่สุดก็ไปรับยา หรือประสานขอยากันได้เลย 

แต่หลังจากทำโครงการได้ประมาณ 7 ปี การประเมินผลของโครงการก็เริ่มขึ้น เริ่มจากการประเมินทางคลินิก โดยวัดจากผู้ป่วยไซยาไนด์ที่เสมือนเป็นตัวแทนของโครงการเพราะเป็นสารพิษอันตราย รุนแรง และเจอได้บ่อยครั้ง อีกทั้ง ชีวิตของผู้ป่วยยังขึ้นอยู่กับการเข้าถึงยาต้านพิษได้เร็วแค่ไหนด้วย 

ผลพบว่าการรักษาผู้ป่วยได้รับสารพิษดีขึ้น ด้วยโรงพยาบาลทั่วประเทศ บุคลากรทางการแพทย์เกิดองค์ความรู้ด้านสารพิษทำให้วินิจฉัยอาการเบื้องต้นได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วขึ้น ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยสารไซยาไนด์ลดลงจาก 52% เหลือ 28% 

“ไม่ใช่ว่าเคสเยอะขึ้น แต่หมายความว่า เรารักษาได้มากกว่าก่อน แต่เดิมแพทย์ พยาบาล เภสัชกรอาจไม่รู้ว่าคนไข้ได้รับสารไซยาไนด์ แต่จากการเทรนนิ่ง อบรม และปรึกษากับศูนย์พิษวิทยารามาฯ ก็ทำให้การวินิจฉัยเร็วขึ้น และทำให้ช่วยชีวิตคนไข้ได้เร็วตาม” ศ.นพ.วินัย กล่าว 

หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาฯ บอกอีกว่า ยังมีการประเมินทางเศรษฐศาสตร์ ก็พบว่าโครงการนี้ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาต้านพิษเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะการรักษาพิษงูที่มีผู้ป่วยได้รับเซรุ่มแก้พิษงู 6,000 – 7,000 รายต่อไป แต่งบประมาณลดลงไปถึง 60% นั่นเพราะมาจากการบริหารจัดการยาให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ทำให้ใช้ยาได้คุ้มค่า 

4

ส่งยาต้านพิษช่วยเหลือหลายประเทศ

จากจุดนั้นคือศักยภาพของประเทศไทยในการรับมือกับสารพิษ ด้วยการมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และยังสามารถผลิตยาต้านพิษ ผลิตเซรุ่มแก้พิษงูได้เองด้วย

การผลิตยาต้านพิษได้เอง ก็ยังทำให้ประเทศไทยเป็นอีกทางรอดของประเทศต่างๆ ที่ขาดยาต้านพิษ ซึ่งที่ผ่านมา ศูนย์พิษวิทยารามาฯ ก็เข้าไปช่วยเหลือ ส่งยาต้านพิษที่ประเทศนั้นๆ ต้องการไปให้ 

ศ.นพ.วินัย ยกตัวอย่างหลายประเทศที่ศูนย์พิษวิทยารามาฯ ได้เข้าไปช่วยเหลือ เช่น ไต้หวัน ที่เคยขาดยาต้านพิษชนิดหนึ่งซึ่งไม่อยู่ในแผนการรับมือ เมื่อทางการไทยทราบเรื่องก็ประสานส่งยาต้านพิษไปให้ 

หรือที่ในจีเรีย ที่เกิดเหตุการณ์ระบาดของโรคหน่อไม้พิษ มีการประกาศขอความช่วยเหลือไปทั่วโลก แต่ไม่มีการตอบรับ กระทั่งศูนย์พิษวิทยารามาฯ ทราบเรื่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ส่งยาต้านพิษไปให้ทันที 

“ไนจีเรียประกาศขอความช่วยเหลือช่วงวันเสาร์ เราทราบเรื่องวันอาทิตย์ ก็เตรียมยาและจัดส่งทันทีทางเครื่องบิน ประมาณวันจันทร์ ไนจีเรียก็ได้รับยา เหตุการณ์นี้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ และทำให้ WHO เข้ามาศึกษาดูงานการบริหารจัดการยาต้านพิษของเรา และยกให้เป็นศูนย์พิษวิทยาที่ให้หลายประเทศได้มาศึกษาดูงาน หรือมาเข้าร่วมอบรม” ศ.นพ.วินัย เล่าด้วยรอยยิ้ม 

กระนั้นก็ตาม ศ.นพ.วินัย วางเป้าหมายให้ ประเทศสมาชิก WHO ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO SEARO) รวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่เป็นเพื่อนบ้าน ได้มีความเข้มแข็งในด้านการบริหารจัดการยาต้านพิษร่วมกัน โดยเฉพาะการสต็อกยาไว้แต่ละประเทศเพื่อแชร์ริ่งยาระหว่างกันกรณีที่เกิดการขาดแคลน หรือต้องการใช้อย่างเร่งด่วนและฉุกเฉิน รวมถึงการจัดซื้อยาร่วมกัน ภายใต้โครงการ iCAPS (Initiation for Coordinated Antidotes Procurement in the South-East Asia region) 

“ซึ่งที่ผ่านมา ศูนย์พิษวิทยารามาฯ พยายามผลักดันและเป็นแกนหลักของเรื่องนี้ แต่ติดขัดที่การระบาดของโควิด-19 แต่ตอนนี้เราก็พร้อมจะเดินหน้าร่วมกันแล้ว” หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาฯ ย้ำ  

1

ก้าวต่อไปของศูนย์พิษวิทยารามาฯ

ศ.นพ.วินัย ให้ความเห็นในตอนท้ายของบทสนทนา ถึงการจัดการยาต้านพิษในอนาคตของไทย โดยต้องให้มุ่งมาที่การเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลทั่วประเทศให้ดูแลผู้ป่วยสารพิษได้อย่างเหมาะสม และการมุ่งหวังที่จะเติมบุคลากรทางการแพทย์ในด้านพิษวิทยาเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น ก็น่าจะเป็นเรื่องยาก 

อย่างไรก็ตาม ในมุมของศูนย์พิษวิทยารามาฯ เมื่อมองไปถึงเป้าหมายข้างหน้าแล้ว ศ.นพ.วินัย มีเป้าหมายสำคัญอย่างที่บอกเอาไว้ คือ การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ WHO ภายใต้การทำงานด้านยาต้านพิษ เพื่อให้ประเทศอื่นๆ ได้เห็นศักยภาพของประเทศไทย และศูนย์พิษวิทยารามาฯ เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับเทรนนิ่งฝึกอบรมด้านยาต้านพิษที่ครอบคลุม 

จากนั้นก็จะเป็นเครือข่ายร่วมกันระดับประเทศ เกิดเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาค และระดับทวีปต่อไป เพื่อให้ทุกประเทศได้มีความพร้อมในการเตรียมรับมือกับอุบัติภัยสารเคมี โดยเฉพาะความสามารถในการรับมือสารพิษ