ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความสับสน สื่อมวลชนและประชาชนเรียกผิดเรียกถูก ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วชื่อนโยบายใหม่ที่ต้องการ ‘ยกระดับบัตรทอง’ ให้สามารถไปรักษาได้ทุกที่นั้น ชื่ออะไรกันแน่

บ้างก็ว่า 30 บาทอัปเกรด บ้างก็ว่า 30 บาทพลัส บ้างก็ว่า 30 บาทโปร บางคนหวังดีช่วยเติมเข้าไปอีกเป็น 30 บาทโปรแม็ก … เหมือนกับชื่อรุ่นสมาร์ทโฟน ว่าไปโน่น

‘รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’ ก็มีการพูดถึง ‘30 บาททุกที่’ ก็เข้าใจง่ายดีแต่ดูไม่เป็นทางการ ล่าสุดมี 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เข้ามาอีกชื่อนึง มึนกันเข้าไปอีก

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยช่วงหนึ่งของนโยบายที่ว่าด้วยเรื่องคุณภาพชีวิต ได้ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า จะมีการ “ยกระดับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค” ให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และมีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้นด้วยบริการขั้นพื้นฐาน และบริการสาธารณสุขจะเข้าถึงได้ “ผ่านบัตรประชาชนใบเดียว” 

กระทั่งวันที่ 22 ก.ย.2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะเจ้ากระทรวง และในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้ “มอบนโยบาย สธ.” บุคลากรทั่วประเทศภายใต้การยกระดับ 30 บาท โดยมีป้ายแปะกำกับไว้อย่างสวยงามว่า “30 Bath Plus” 

ทว่า นั่นก็เหมือนยังไม่ใช่ข้อสรุปเสียเดียว เพราะนับตั้งแต่มีการประกาศออกไป “ชื่อ” ของนโยบายที่ว่านี้ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้ง “ทั้งยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่” “30 บาทอัปเกรด” “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” อย่างที่ได้เห็นตามหน้าข่าวกัน และอย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น

จนมาถึงวันที่  7 ม.ค. 2567 ที่เป็น “วันคิกออฟ” นำร่องให้ประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ที่ใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง หรือบัตร 30 บาท) สามารถเข้ารับบริการได้ในโรงพยาบาลทุกระดับ ทั้งใน และนอก สธ. ด้วยการใช้ “บัตรประชาชนใบเดียว”

ภายในวันนั้น นอกเหนือจากจะมีเจ้ากระทรวงอย่าง นพ.ชลน่าน แล้ว ยังมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ และนายเศรษฐา ลงพื้นที่ติดตามนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ด้วย 

ในวันเดียวกัน ปรากฏชื่อ “30 บาท Pro” ผ่านทางหน้าแฟนเพจของ น.ส.แพทองธาร จนทำให้เกิดความสงสัยอีกที 

5

ยังไม่นับสติ๊กเกอร์โปรโมทโครงการ รวมถึงไฟแบทแมน ที่เตรียมใยิงขึ้นตึกในวันจัดงานที่ จ.ร้อยเอ็ด ก็มีหลากหลายโลโก้ ทั้ง 30 บาทอัปเกรด 30 บาทโปร และ 30 บาทรักษาทุกโรค รักษาทุกที่ 

1

ด้วยความที่เป็นนโยบายที่ผู้คนให้ความสนใจ แต่ขณะเดียวกัน “ชื่อเรียก” ก็มีมากมายจนเริ่มสับสน “The Coverage” ต้องการคลี่คลายข้อสงสัย และสร้างให้เกิดความชัดเจนต่อโครงการที่มีคุณูปการต่อคนไทย ด้วยการสอบถาม ‘นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว’ อย่างตรงไปตรงมา

“ท่านรัฐมนตรีครับ สรุปชื่อโครงการคืออะไรครับ”

นพ.ชลน่าน ที่เพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ก่อนจะมาให้สัมภาษณ์อย่างเป็นส่วนตัว ยิ้มให้กับทีมข่าว The Coverage

“เรื่องชื่อโครงการนั้น ในวันแถลงนโยบาย นายกฯ พูดชัดเจนว่าเป็นนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิต ยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน โดยใช้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว จากเดิมที่เป็น 30 บาทรักษาทุกโรค 

“แต่ก่อนหน้านั้น นโยบายพรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายนี้ ซึ่งเมื่อพูดในเชิงนโยบายพรรคก็จะเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ หรือบัตรประชาชนใบเดียวก็แล้วแต่คนจะพูด 

“แต่คำแถลงของนายกฯ ก็มีคำว่ายกระดับตามที่พูดถึงเชิงนโยบายตอนหาเสียง ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็น 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว 

“แต่ตอนที่จะมาทำเป็นโลโก้ ในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่าพลัส (Plus) ซึ่งเป็นการบวกเข้าไป แต่หลายคนก็บอกว่ายังไม่ตอบโจทย์ ก็มีการมาช่วยกันคิดจนเกิดเป็นอัปเกรด (Upgrade) เมื่ออัปเกรดก็ทำเป็นโลโก้พยายามจะใช้สื่อนี้ 

“แต่ทางคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ โดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขานุการ ก็อยากจะปรับถ้อยคำให้เป็นที่ถูกใจ จึงเสนอคำว่าโปร (Pro) เป็น “30 บาทโปร รักษาทุกที่” แต่โดยหลักแล้วที่ใช้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงคือ “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” มุ่งเน้นโดยตรงคือ 30 ที่เป็นแบรนด์ จึงเป็นชื่อ “30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย” นพ.ชลน่าน อธิบายข้อสรุป

รมว.สธ. อธิบายให้ The Coverage ฟังต่อไปว่า ในตอนที่เสนอนโยบายด้านสาธารณสุขก็มีคณะทำงานของพรรคที่ทำเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ หนึ่งในนั้นคือ นพ.สุรพงษ์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษา เพราะท่านมีประสบการณ์ที่ทำมา คณะกรรมการที่ทำเรื่องนโยบายก็มาดูว่าจะทำอะไรต่อ แต่สิ่งที่ทุกคนมีความเห็นร่วมกันคือ 30  บาทรักษาทุกโรคนั้นทำไว้ดีอยู่แล้ว แม้ในยุคนั้นจะมีข้อมีข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยี แต่ตอนนี้เทคโนโลยีเริ่มถึง พัฒนาขึ้น สามารถทำให้ประชาชนที่มีสิทธิการรักษาพยาบาลได้ถึงร้อยละกว่า 95 ให้สามารถเข้าถึงได้มีคุณภาพ ทั่วถึง เสมอภาคและมีมาตรฐาน จึงเป็นที่มาว่าเติม 30 บาทรักษาทุกที่ และเขียนเป็นนโยบายที่แจ้งกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการขับเคลื่อน 

นั่นคือคำอธิบายทั้งหมดในวันนั้น

อย่างไรก็ดี คล้อยหลังมาสู่การประชุมติดตามผลและการดำเนินงานตามนโยบาย สธ. ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2567 รมว.ชลน่าน ก็ได้มีการสรุปข้อสั่งการ และมอบนโนบาย ในประเด็นโครงการ 30 บาท รวม 7 เรื่อง 

หนึ่งในนั้นคือ ระบุให้ใช้คำว่า “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” และโลโก้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน 

นี่จึงเป็นข้อสรุป และเป็นข้อยุติในเรื่องชื่อของนโยบาย เอวัง ด้วยประการฉะนี้