ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ที่ประเทศไทยได้เริ่มนโยบายสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนทุกคน หลังจากนั้นผลการดำเนินกงานได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในการนำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือที่ทุกคนรู้จักว่า “สิทธิบัตรทอง” มาใช้

จากตัวเลขของ World Economic Forum ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงได้มากกว่า 98% สอดคล้องกับข้อมูลจากวารสารความไม่เท่าเทียมทางสาธารณสุขนานาชาติที่เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม 2016 (International Journal for Equity in Health) ในหัวข้อ “Post universal health coverage trend and geographical inequalities of mortality in Thailand” ที่เปิดเผยว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นสามารถปรับสมดุลความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพและตัวเลขผู้เสียชีวิตจากความป่วยไข้ในรายภูมิภาคได้ กล่าวคือจากปี พ.ศ. 2544 มีประชากรเพียง 25 ล้านคน (หรือคิดเป็น 40% ของประชากรทั้งหมด) ที่มีประกันสุขภาพจากภาครัฐ ก่อนที่จะขยับขึ้นเป็น 59 ล้านคน (95.5% ของประชากรทั้งหมด) ในปี พ.ศ.2557

โดยรายงานดังกล่าวได้ทำการศึกษาตัวเลขผู้เสียชีวิตจาก 12 สาเหตุหลักที่คนไทยเสียชีวิตมากที่สุดตามข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้แก่ เอชไอวีและเอดส์ (HIV/AIDS) มะเร็งปอด (lung cancer) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease) โรคหอบหืด (asthma) โรคตับแข็ง (cirrhosis) มะเร็งตับ (liver cancer) โรคเบาหวาน (diabetes) โรคหลอดเลือดหัวใจ (ischemic heart disease) โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) โรคปอดบวม (pneumonia) โรคตับแข็ง (cirrhosis) และอุบัติเหตุจราจร (traffic injuries) ควบคู่ไปกับตัวเลขการแจ้งเสียชีวิตจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศไทย

ทั้งยังได้มีการนำวิธีคิดอัตราส่วนระหว่างจำนวนตายที่เกิดขึ้นจริงของประชากรกลุ่มหนึ่งกับจำนวนตายที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ถ้าประชากรนั้นมีอัตราตายรายอายุเช่นเดียวกับประชากรมาตรฐาน (Standardized mortality ratio: SMR) มาใช้ ทั้งยังมีการปรับกลุ่มใหม่โดยคำนึงถึงขนาดของประชากรและความใกล้ชิด ความไม่เท่าเทียมกันทางภูมิศาสตร์ของการเสียชีวิตของประชากรในเขตอำเภอนั้นวัดจากค่าสัมประสิทธิ์การเปลี่ยนแปลงอีกด้วย

โดยพบว่าตัวเลขการแจ้งเสียชีวิตทั้งหมดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 - 2557 มีทั้งหมด 5,539,154 ราย และจากการปรับอัตราส่วนใหม่คิดตามหลัก SMR พบว่ายอดผู้เสียชีวิตนั้นมีการลดลงอย่างเป็นนัยยะสำคัญ กล่าวคือ อัตราการเสียชีวิตจากทั้ง 12 สาเหตุนั้นลดลงจาก 672.12 ต่อ 100,000 คนในปี 2544 เหลือเป็น 574.94 ต่อ 100,000 คน ในปี 2557

นั้นหมายความว่า อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยต่อปีลดลง 6.07 ต่อ 100,000 คน

ทั้งนี้ การเสียชีวิตที่ไม่เท่าเทียมกันยังมีแนวโน้มลดลงในทุกภูมิภาค ยกเว้นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กล่าวคือ ภาคใต้ตอนบนมีการลดลงของความแปรปรวนของการตายสูงที่สุด (65.93%) ตามด้วยตะวันตก (60.54%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (57.11%) ภาคเหนือตอนล่าง (50.20%) และภาคเหนือตอนบน (47.71%) ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตที่ลดลงของประชากรไทยตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ทางทีมวิจัยได้ทำการศึกษาไม่ได้มีเพียงแค่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างเดียวเท่านั้น กล่าวคือ ยังมีเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยากจนที่ลดลง รวมไปถึงประชาชนได้รับการศึกษาเพิ่มมากขึ้น และอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากที่ส่งผลให้ประชาชนชาวไทยมีชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีกว่าเดิมหลายเท่าตัว

นอกจากนั้นแล้ว ในรายงานดังกล่าวกับพบว่า แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตในคนที่อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 15 ปีจะลดลงจริงสืบเนื่องจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ตัวเลขของเด็กที่อายุระหว่าง 0 - 14 ปี กลับเพิ่มมากขึ้นในเกือบทุกภูมิภาคยกเว้นกรุงเทพฯและปริมณฑล น่าสนใจกว่านั้นตัวเลขดังกล่าวยังใกล้เคียงกับในเมียนมาร์หรือมาเลเซีย

ด้วยเหตุนั้นเอง ทางทีมวิจัยจึงมองว่าจำเป็นต้องมีความพยายามมากขึ้นเพื่อลดความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพให้น้อยลง รวมทั้งติดตามผลของความไม่เสมอภาคจากการเสียชีวิตอย่างเป็นประจำเพื่อนำไปสู่การพัฒนาหรือสร้างนโยบายที่เฉพาะเจาะจงในการแก้ปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จ

ที่มา: https://link.springer.com/article/10.1186/s12939-016-0479-5