ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภายหลังจากมีประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ 9 มิ.ย. 2565 รวมทั้งมีประกาศ สธ. เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ประกาศ ณ วันที่ 16 มิ.ย. 2565 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 17 มิ.ย. 2565 เป็นต้นมา 

ส่งผลให้สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ที่มีปริมาณสารเตตราไฮไดรแคนนาบินอล ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนักของปริมาณสารสกัดทั้งหมด เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ ไม่ถูกจัดเป็นยาเสพติด ให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่กลายเป็นสมุนไพรควบคุม ซึ่งอนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปสามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมนี้ได้ 

1

4

รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย สามารถใช้ประโยชน์จากสมุนไพรควบคุมนี้ให้กับผู้ป่วยของตน และอนุญาตให้ผู้ป่วยของผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านี้สามารถครอบครอง ขนย้าย ดูแล เก็บรักษา ใช้ประโยชน์ในปริมาณที่จ่ายให้สำหรับการใช้ประโยชน์เป็นเวลา 30 วัน 

ประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวส่งผลให้สามารถนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทั้งทางการแพทย์และสันทนาการรวมถึงประชาชนทั่วไปก็สามารถปลูก ซื้อหา ครอบครองได้ มีการจำหน่ายกัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชาในรูปแบบต่างๆ อย่างกว้างขวางมากขึ้นสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เล็งเห็นถึงความสำคัญของการติดตามสถานการณ์ ประเมินผลกระทบจากนโยบายกัญชา และผลกระทบต่อสังคม ประชาชนทั่วไป ตลอดจนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย สำหรับวางระบบการเฝ้าระวังทั้งการใช้ทางการแพทย์และทางสังคม โดย สวรส. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย เป็นหัวหน้าชุดโครงการวิจัย 

4

เพื่อประเมินและกำกับติดตามผลกระทบต่อสังคมและสุขภาพจากนโยบายกัญชา โดยได้มีการประชุมทีมนักวิจัยเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของงานวิจัย และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล, นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต, นางสาวสุพจนี ชุติดำรง ฯลฯ ในการกำกับติดตามคุณภาพงานวิจัยโดยมีการพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2566 ณ ห้องประชุมสถาบันยุทธศาสตร์ทางปัญญาและวิจัย อาคารนวัตกรรม ศ.ดร.สาโรช บัวศรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทร
วิโรฒ กรุงเทพฯ 

ด้าน ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. ให้ข้อมูลว่า ชุดโครงการประเมินและกำกับติดตามผลกระทบต่อสังคมและสุขภาพจากนโยบายกัญชา เป็นชุดโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ ผลกระทบ และมาตรการที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหลังจากมีการประกาศนโยบายกัญชาของ สธ. 

1

1

รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์แต่ละด้านในช่วง 1-2 ปีแรก ภายหลังมีการอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ อาทิ จำนวนของผู้ใช้กัญชา ความรู้/ทัศนคติต่อกัญชา มาตรการการควบคุม รูปแบบการใช้และการเข้าถึงกัญชา ผลกระทบจากการใช้กัญชาในกลุ่มประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา เยาวชนนอกสถานศึกษา เยาวชนในสถานพินิจฯ การปลูก/ผลิตกัญชาที่บ้าน การเฝ้าระวัง การประเมินต้นทุนจากการผลิต/จำหน่าย ฯลฯ 

ตลอดจนการศึกษาดังกล่าวเพื่อการพัฒนาแนวทางเฝ้าระวัง กำกับติดตาม หรือประเมินผลกระทบของนโยบายกัญชาของประเทศไทยในอนาคต และพัฒนารูปแบบพื้นที่นำร่องธรรมนูญสุขภาพกัญชาเพื่อเป็นต้นแบบของพื้นที่กำกับดูแล ควบคุมการบริโภค การผลิตและจำหน่าย ตลอดจนการลดผลกระทบจากกัญชา โดยมีกรอบแนวคิดการประเมินฯ ในประเด็นผลกระทบด้านต่างๆ ได้แก่ ผลกระทบทางสุขภาพ เช่น พฤติกรรมการใช้กัญชา ปัญหาสุขภาพระยะยาว โรคทางจิตเวช ผลกระทบด้านอาชญากรรม ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และผลกระทบอื่นๆ เช่น คดีจับกุมและเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากกัญชา, ค่าใช้จ่ายรวมในการซื้อกัญชา ตลอดจนการโฆษณาหรือส่งเสริมการขาย เป็นอาทิ

4

1

ชุดโครงการดังกล่าวประกอบด้วยโครงการย่อยต่างๆ เช่น 1. การเฝ้าระวังพฤติกรรมการใช้ การเข้าถึงกัญชาและสารเสพติดชนิดอื่น ผลกระทบจากการใช้ การรับรู้และความคิดเห็นต่อมาตรการด้านกัญชาในประชากรทั่วไป 2. การสำรวจพฤติกรรมการใช้กัญชาและสารเสพติดชนิดอื่น ความรู้และทัศนคติต่อกัญชาในนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและเยาวชนนอกสถานศึกษา 3. การสำรวจความคิดเห็นสาธารณะในสื่อสังคมออนไลน์ และข่าวอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับกัญชาในหนังสือพิมพ์ ก่อนและหลังการออกนโยบายกัญชา 

4. การศึกษารูปแบบการใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชาในผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จ.สงขลา 5. การศึกษาต้นทุนและผลได้ของผู้บริโภค ผู้ผลิตและจำหน่ายกัญชา และสังคมภายหลังการแก้ไขกฎหมายกัญชา 6. การศึกษาผลกระทบจากอันตรกิริยาของกัญชาและกระท่อมกับยาที่ใช้รักษาโรคเรื้อรัง 7. การพัฒนารูปแบบชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันการใช้กัญชาในทางที่ผิด 8. การเฝ้าระวังการใช้กัญชาในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลของรัฐ ฯลฯ

4

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า แม้ว่าประโยชน์ทางการแพทย์จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปลดล็อกเรื่องการใช้กัญชา หากแต่หลังจากการปลดล็อคในเชิงนโยบายแล้ว จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ดำเนินการคู่ขนาน เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้ การสื่อสารในสังคม หรือแม้แต่ศึกษารูปแบบการใช้เพื่อรักษาการเจ็บป่วยได้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันปัญหาหรือสร้างโอกาสใหม่ทางการแพทย์และสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ สวรส. เชื่อมั่นว่าการสนับสนุนทุนวิจัยภายใต้ชุดโครงการดังกล่าวจะสามารถสังเคราะห์เป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อประกอบการพิจารณาและทบทวนการกำหนดกฎหมาย มาตรการ และนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์ควบคู่กับความปลอดภัยจากการใช้กัญชาเป็นสำคัญ นอกจากนี้องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยจะนำไปสื่อสารต่อสังคม เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดประสิทธิภาพไปพร้อมกัน