ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศ ภายใต้ภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. ถือธงนำ คือการ ‘สร้างเศรษฐกิจสุขภาพ’ โดยเรื่องนี้ได้รับการบรรจุเป็น 1 ใน 13 ประเด็นสำคัญ การขับเคลื่อนงานตามนโยบายหลัก ‘ยกระดับ 30 บาทพลัส’

สำหรับ ‘เศรษฐกิจสุขภาพ’ บนความมุ่งหวังของ สธ. คือการก้าวไปสู่การเป็นกระทรวงสร้างความมั่งคั่ง (Health for Wealth) โดยมี ‘ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ’ (Medical Hub) เป็นหัวรถจักรขับเคลื่อน 

สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (MEDICAL HUB) (พ.ศ.2560-2569) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2559 ซึ่งได้ระบุถึงเป้าหมายใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ 2. ศูนย์กลางบริการสุขภาพ 3. ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ และ 4. ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย

4

5

เห็นได้ว่า 3 ด้านแรก เกี่ยวข้องกับการให้บริการโดยตรง ขณะที่ด้านสุดท้ายคือ ‘ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย’ นั้น ถือเป็นส่วนสนับสนุนและเป็นรากฐานในการสร้างความมั่นคง โดยมี ‘การวิจัยทางคลินิก’ (Clinical Research) เป็นจุดแข็งในการต่อยอดไปสู่การสร้างเศรษฐกิจสุขภาพ

เพื่อเป็นการยกระดับ ‘การวิจัยทางคลินิก’ ที่จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมา จึงมีการจัดการประชุมวิชาการ National Clinical Research Network (NCRN) conference 2023 ในธีม ‘Moving Thailand towards Asian Clinical Research Hub’ ขึ้น ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพมหานคร (กทม.) ท่ามกลางความสนใจจากนักวิจัย-นักวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์หลายร้อยชีวิต

เนื้อหาจากวงเสวนาวิชาการหัวข้อ Strategic Plans to Drive Innovation & Clinical Research : Perspective from Granters and Thai FDA สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางและโอกาสของการทำวิจัย ตลอดจนแนวทางการตั้งโจทย์งานวิจัยที่สังคมต้องการ และที่ขาดไม่ได้เลยคือมุมมองจาก ‘องค์กรผู้สนับสนุนทุนวิจัย’

1

ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวในวงเสวนาว่า ทุกวันนี้สามารถแบ่งงานวิจัยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. งานวิจัยที่พัฒนาระบบบริการเพื่อยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ช่วยเพิ่มจำนวนเทคโนโลยี นวัตกรรมเชิงระบบและนวัตกรรมสมัยใหม่ 2. งานวิจัยที่พัฒนาระบบสุขภาพในการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพและภัยสุขภาพ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มุ่งไปเรื่องนโยบาย มาตรการที่ประกาศใช้ในระดับประเทศหรือระดับพื้นที่ เพื่อรับมือกับปัญหา 3. งานวิจัยที่พัฒนาความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ช่วยให้ประชาชนได้รับบริการจากระบบสุขภาพแบบบูรณาการ

ในส่วนของนวัตกรรมที่เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ ประกอบด้วย 1. Sustainable Innovation หรือนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีความยั่งยืน ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีหรือบริการเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น เช่น เครื่องเอ็กซเรย์ ที่ต่อมามีการยกระดับและพัฒนาเป็นเครื่อง CT Scan และเครื่อง MRI โดยงานวิจัย Sustainable Innovation เป็นงานวิจัยที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง 

ขณะเดียวกันผู้รับบริการก็ต้องจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ที่สูงตามไปด้วย ฉะนั้นหากทำวิจัยหรือพัฒนานวัตกรรมในเรื่องนี้ นักวิจัยต้องคำนึงถึงการเข้าถึงบริการของประชาชน ซึ่งหน่วยให้ทุนวิจัยต้องบริหารจัดการงานวิจัยให้ตอบโจทย์ดังกล่าว 

4

2. Disruptive Innovation คือการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งลงทุนไม่มากและเป็นลักษณะของการค่อยๆ พัฒนา เน้นตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม เช่น การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งในช่วงแรกของการระบาด ประชาชนต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการรอรับการตรวจแบบ RT-PCR ที่โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการต่างๆ แล้วจึงมีการพัฒนาเป็นชุดตรวจ ATK ที่ง่ายและสะดวกขึ้น

หรือแม้แต่การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine การรับยาที่ร้านยาแทนโรงพยาบาล เหล่านี้นับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์และทำให้ระบบบริการสุขภาพของประเทศดีขึ้น และประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ 

ดร.ภญ.นพคุณ กล่าวต่อว่า สิ่งที่แหล่งทุนวิจัยต้องการ คือโจทย์วิจัยที่ตอบความต้องการของประเทศ และมีการบูรณาการงานวิจัยร่วมกันของนักวิจัย เพื่อให้เกิดงานวิจัยที่สเกลใหญ่ขึ้น นอกจากนี้นักวิจัยหรือนักนวัตกรที่สร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ควรมุ่งเป้าไปที่งานวิจัยที่มีผลกระทบสูง ซึ่ง สวรส. ในฐานะหน่วยงานที่จัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยระบบสุขภาพของประเทศ คำนึงถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญ และพยายามผลักดันให้เกิดงานวิจัยที่ส่งผลให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ พัฒนานโยบายสาธารณะ และสนับสนุนการนำผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน 

4

4

ทั้งนี้ในเวทีฯ ยังมีหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยนวัตกรรมร่วมให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับทิศทางการสนับสนุนทุนและภารกิจสำคัญของแต่ละองค์กร อาทิ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) TCELS, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ฯลฯ โดย ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) TCELS ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภารกิจหลักของ TCELS คือหนุนเสริมมิติของธุรกิจ อุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ เพื่อให้มีการวิจัยที่สามารถพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม รวมถึงการสร้างองค์ความรู้และการให้บริการทางวิชาการ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยาศาสตร์ 

ทั้งนี้ในด้านการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ รวมถึงบริการด้านการแพทย์และสุขภาพ TCELS จะสนับสนุนนวัตกรรมหรืองานวิจัยที่ผ่านการทดสอบแล้ว จนได้ระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (Technology Readiness Level: TRL) 7-9 ตามเป้าหมายของแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2566 - 2570 

5

สุดท้ายด้าน พญ.ขวัญชนก ยิ้มแต้ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาวิจัยในคนในประเทศไทย ได้กล่าวถึงทิศทางการสนับสนุนและต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านการแพทย์ว่า หน่วยงานที่เป็นแหล่งทุนหลักคือ สวรส. ซึ่งเป้าหมายของ สวรส.ที่มุ่งเน้นการให้บริการในระบบสุขภาพที่เป็นธรรม และเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม พร้อมกับสนับสนุนให้มีการพัฒนาเพื่อยกระดับการบริการให้ดีขึ้นนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากต่อระบบบริการสุขภาพ แต่หากมองด้านการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการลงทุนในงานวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าและยกระดับงานวิจัยเป็นเชิงพานิชย์ ต้องอาศัยกำลังจากภาคเอกชนร่วมด้วย เพื่อทำให้เกิดเป็นอุตสากรรมด้านการแพทย์ ซึ่ง สวรส. อาจต้องพัฒนาความร่วมมือกับภาคเอกชนหรือเครือข่ายภาคีในด้านนี้ให้มากยิ่งขึ้น