ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บรรดาเด็กเกิดใหม่กว่า 100 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี จะมีราว 15 ล้านคนที่เกิดก่อนกำหนด และในจำนวนนี้มี 1 ล้านคนที่ต้องเสียชีวิตในช่วง 5 ขวบปีแรก เพราะคลอดก่อนกำหนด หรือแม้หากทารกกลุ่มนี้รอดชีวิตมาได้ ก็อาจมีภาวะทุพพลภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวตามมา 

สภาพการณ์ดังกล่าวถือหนึ่งในปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของทุกประเทศ จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องประกาศให้วันที่ 17 พ.ย. ของทุกปี เป็นวันทารกเกิดก่อนกำหนด (World Prematurity Day) 

แน่นอนว่าไทยก็ด้วยเช่นกันที่ต้องเผชิญกับสภาพการณ์ดังกล่าว แถมจากผลการศึกษาสถานการณ์การป่วย การตาย และภาระโรคแม่และเด็กไทย จาก “โครงการศึกษาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย” (Burden of Disease Thailand) หรือ BOD Thailand ซึ่งเป็นการร่วมกันศึกษาระหว่าง สำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และ สธ. ในทุกๆ 5 ปี 

ที่ถูกนำมาสรุปสาระสำคัญผ่านงานสัมมนา “ชี้เป้าภาระโรค: ลดเสี่ยง เตรียมพร้อมเพื่อลูกรัก” เมื่อช่วงที่ผ่านมา ยังสะท้อนว่าไทยเราอาจอยู่ในกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมาก โดย ดร.ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าโครงการดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย บอกไว้ตอนหนึ่งว่า อัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศไทยต่ำลง จำนวนเด็กแรกเกิดลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากปี 2554 ที่มีจำนวนเกือบ 8 แสนราย ขณะที่ปี 2565 เหลือเพียงประมาณ 5 แสนราย 

อย่างไรก็ดี ตัวเลขจากสถาบันประชากรและสังคม แสดงให้เห็นว่าอัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมของประเทศไทยในปี 2554 อยู่ที่ 1.5 เพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ในช่วงระหว่างปี 2556-2561 ก่อนจะร่วงลงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะเหลือเพียง 1.1 ในปี 2566 สอดคล้องกับจำนวนเด็กแรกเกิดที่ต่ำลงเรื่อยๆ 

นอกจากนี้หากดูจากข้อมูลจากการศึกษาจาก BOD Thailand ในปี 2562 จะพบอีกว่ามีทารกและเด็กอายุ 0-4 เสียชีวิตจำนวน 8.4 ต่อ 1,000 การมีชีพ ซึ่ง 40% ของการเสียชีวิตในขวบปีแรกเกิดขึ้นในช่วง 28 วันหลังคลอด และในจำนวนนี้ราว 25% “เสียชีวิตภายใน 7 วันหลังคลอด” โดยเป็นผลมาจากการคลอดก่อนกำหนด 

ทว่า แม้อัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุ 0-4 ปีในไทยจะต่ำว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดเป้าหมายว่าในปี 2573 อัตราการเสียชีวิตของเด็กในกลุ่มนี้ต้องอยู่ที่ 25 ต่อ 1,000 การเกิดมีชีพ 

แต่หากดูภาพรวมของการสูญเสียปีสุขภาวะ (YLD) แล้วยังพบว่าสูง เพราะเด็กกลุ่มนี้ยังมีจำนวน YLD ที่สูญเสียเนื่องจากภาวะบกพร่องทางสุขภาพ ซึ่งจากข้อมูลในปี 2562 พบว่ามีการสูญเสียในภาพรวมอยู่ที่ 154,047 ปี 

4

เมื่อมองมายังภาพในระดับพื้นที่ อย่างเขตสุขภาพที่ 4 สระบุรี ซึ่งคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข (อคม.) ได้มีการจัดการประชุมขึ้นในวันที่ 14 ก.ย. 2566 และ นพ.สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 ได้นำเสนอผลการดำเนินการจัดบริการการป้องกันการคลอดก่อนกำหนดในหญิงตั้งครรภ์ของเขตสุขภาพที่ 4 โดยพบว่าในปี 2566 (ข้อมูล ณ วันประชุม) มีหญิงตั้งครรภ์จำนวน 2,159 ราย คลอดแล้วจำนวน 1,945 ราย คลอดครบกำหนด 1,859 ราย หรือคิดเป็น 95.58% ของจำนวนหญิงตั้งครรภ์ ขณะที่คลอดก่อนกำหนดมีอัตราอยู่ที่ 3.80% ของจำนวนหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด 

จากข้อมูลใน 8 จังหวัดของเขตสุขภาพที่ 4 ประกอบด้วย สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี พบหญิงตั้งครรภ์ที่คลอดก่อนมากที่สุดใน จ.นนทบุรี จำนวน 47 ราย 

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการเสนอให้ สปสช. เพิ่ม “บริการวัดความยาวปากมดลูก” และให้ยาฮอร์โมนเป็นสิทธิประโยชน์ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์เดิม ที่ครอบคลุม “ทุกสิทธิการรักษา” ซึ่งอยู่ในส่วนของบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) จำนวน 8 รายการ ประกอบด้วย 1. ทดสอบการตั้งครรภ์ 2. ตรวจเลือดและคัดกรองภาวะซีด ตรวจซิฟิลิส เอชไอวี (HIV) และตับอักเสบบี 3. ให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก 

4. ตรวจช่องปาก และฟัน 5. การคัดกรองธาลัสซีเมีย-ซิฟิลิสในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ 6.ธาลัสซีเมียและดาวน์ ตรวจปัสสาวะ ฉีดวัคซีนคอตีบ บาดทะยักและวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 7. ให้ยาบำรุงเสริมธาตุเหล็ก โฟลิก และไอโอดีน และ 8. ประเมินสุขภาพจิต ตรวจหลังคลอด และคุมกำเนิด ส่งเสริมการเลี้ยงบุตรด้วยนมแม่ และสมุดบันทึกสุขภาพ 

สำหรับการแก้ไขปัญหา นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เปิดเผยผ่านงานกิจกรรมวันทารกเกิดก่อนกำหนด เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2566 ว่า การป้องกันการคลอดก่อนกำหนดจึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด 

นพ.จินดา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติเคยคลอดก่อนกำหนด และตรวจพบปากมดลูกสั้นมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้น ฉะนั้น หญิงตั้งครรภ์ควรเข้ามาฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ เพื่อตรวจคัดกรอง และให้การป้องกันในรายที่อาจจะมีปัจจัยเสี่ยง ลดภาวะทุพพลภาพ หรือการเสียชีวิตของทารกแรกคลอดให้ได้มากที่สุด