ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หากมองย้อนกลับไปไม่กี่ปีย้อนหลัง เขตสุขภาพที่ 12 พื้นที่ด้ามขวาน หรือภาคใต้ของไทย ซึ่งประกอบไปด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ครองแชมป์ “แม่ตายหลังคลอดแบบมีชีพ” สูงที่สุดในประเทศ 

ด้วยตัวเลขสถิติการเสียชีวิต 65 คนต่อแสนประชากรการเกิดแบบมีชีพ ซึ่งถือว่าสูงทีเดียวเมื่อเทียบกับตัวเลขขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ไม่ควรเกิน 17 คนต่อแสนประชากรการเกิดแบบมีชีพ 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าว หน่วยงานที่มีส่วนในการรับผิดชอบในเขตสุขภาพที่ 12 ไม่ได้นิ่งดูดาย อีกทั้งยังเอาจริงเอาจังในการหาทางออกอย่างเป็นระบบ โดยเชื่อมโยงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

จนในที่สุดในปี 2566 เขตสุขภาพที่ 12 สามารถกดตัวเลขมารดาเสียชีวิตหลังคลอดลดเหลือเพียง 23 คนต่อแสนประชากรการเกิดแบบมีชีพ อีกทั้งยังทำให้สาเหตุการเสียชีวิตที่เกิดจากการตั้งครรภ์โดยตรงหายไปด้วย 

มากไปกว่านั้น ยังคงพยายามเดินหน้าต่อ เพื่อให้อย่างน้อยที่สุดในปี 2567 ตัวเลขมารดาเสียชีวิตหลังคลอดลดเหลือแค่ 17 คนต่อแสนประชากร 

4

“The Coverage” ชวนดูกลยุทธ์ของเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งนำโดย พญ.เสริมศรี ปฐมพาณิชรัตน์ ประธานคณะกรรมการทำงานระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาอนามัยแม่และเด็ก เขตสุขภาพที่ 12 ที่มีปัจจัยสำคัญคือการผนึกกำลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่

ตั้งแต่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ไปจนถึงอาจารย์แพทย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขนาบข้างด้วยการสนับสนุนการบริการจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 สงขลา (สปสช. เขต 12 สงขลา)

มาร่วมกันวางแผนและออกแบบการดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ใหม่ทั้งหมด เริ่มจากคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ เพื่อให้เข้าสู่การฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะวินิจฉัยสุขภาพของครรภ์และมารดา หากผิดปกติจะได้วางแผนทำการรักษาได้ทันท่วงที โดยหากครรภ์ผิดปกติ หรือมีความเสี่ยง แต่ รพ.สต. ประเมินเบื้องต้นแล้วดูแลได้ ก็จะดูแลโดย รพ.สต. และอสม. พร้อมมีการติดตามจากโรงพยาบาลชุมชน

แต่หากพบว่าความเสี่ยงสูงเกินกว่า รพ.สต. จะรับได้ ก็จะส่งต่อไปรักษาดูแลอย่างใกล้ชิดที่โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งแพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชนจะดูแล และได้รับการติดตามดูแลอีกชั้นจากทีมสูตินรีแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 

นอกจากนี้ ถ้าอาการหรือความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่โรงพยาบาลชุมชนจะรับได้ ก็จะส่งต่อผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งจะมีสูตินรีแพทย์ประจำ และจะได้รับการติดตามดูแลอีกชั้นหนึ่งจากอาจารย์แพทย์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งหากอาการหนักก็จะส่งต่อมายังโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย 

อีกทั้ง ในทุกๆ วันที่ต้องตรวจอาการของมารดาที่ตั้งครรภ์ในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ก็จะมีการตรวจผู้ป่วยผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างแพทย์โรงพยาบาลชุมชนที่ดูแลผู้ป่วยโดยตรง กับสูตินรีแพทย์เพื่อติดตามอาการผู้ป่วย และได้รายงาน รวมถึงวางแผนการรักษาร่วมกันกับทีมแพทย์ เสมือนหนึ่งว่าอยู่ในวอร์ดห้องคลอดเดียวกันทั้งจังหวัด หรือ 1 จังหวัด 1 ห้องคลอด 

“เราให้ทีมสูตินรีแพทย์ของโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปในแต่ละจังหวัด ให้เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย เพื่อให้คำปรึกษา และวางแผนการรักษาหญิงตั้งครรภ์ที่ดูแลรักษาอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน โดยจะประชุมและติดตามอาการทุกเคสผ่านระบบออนไลน์ในเวลา 08.40 น. ทุกวัน ซึ่งก็เหมือนเป็นการให้สูตินรีแพทย์จากโรงพยาบาลแม่ข่าย ได้เดินตรวจผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนได้ทุกวัน ทำให้ดูแลคนไข้ได้ใกล้ชิดมากขึ้นด้วย” พญ.เสริมศรี บอกกับ “The Coverage” 

4

กลยุทธ์นี้ นราธิวาสทำแล้วได้ผล

ในเขตสุขภาพที่ 12 จ.นราธิวาส เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มารดาเสียขีวิตหลังคลอดสูงที่สุดด้วยตัวเลข 120-150 คนต่อแสนประชากรการเกิดแบบมีชีพ 

แต่ด้วยกลยุทธ์ใหม่ในการจัดการดูแลหญิงตั้งครรภ์อย่างเป็นระบบ ทำให้ จ.นราธิวาส กดตัวเลขมารดาเสียชีวิตหลังคลอดเหลือเพียงแค่ 20 คนต่อแสนประชากรการเกิดแบบมีชีพ ในเวลา 2 ปี 

พญ.เพ็ญแข รถมณี หัวหน้าแผนกสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ให้ภาพการทำงานกับ “The Coverage” ว่า การคัดกรองตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ แยกกลุ่มเสี่ยงการตั้งครรภ์ หากไม่มีความเสี่ยงจะดูแลตามระบบพร้อมกำหนดห้องคลอดไว้เลย แต่หากเสี่ยงตามเกณฑ์คัดกรอง ก็จะมีระบบส่งต่อที่กำหนดเอาไว้แล้ว ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนเข้าใจแนวปฏิบัติ 

“หากพบว่าเป็นกลุ่มตั้งครรภ์ปกติ หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงน้อย จะดูแลโดย อสม. และ รพ.สต. แต่หากเป็นกลุ่มที่เสี่ยงปานกลาง จะส่งต่อให้กับโรงพยาบาลชุมชน ส่วนกรณีมีอาการเสี่ยงสูง ก็จะให้โรงพยาบาลทั่วไป คือ โรงพยาบาลนราธิวาสฯ ที่มีสูตินรีแพทย์ประจำ ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ 

“แต่หากเป็นเคสที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ก็จะส่งต่อไปโรงพยาบาลศูนย์ที่เป็นเครือข่ายของเรา คือโรงพยาบาลยะลา โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นระบบการส่งต่อผู้ป่วยมารดาตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ที่ไร้รอยต่อ และรวดเร็ว” พญ.เพ็ญแข กล่าว 

อีกทั้ง หลังคลอดไปแล้วก็จะมีทีม อสม. และ รพ.สต. ออกไปเยี่ยมตามกลุ่มอาการ หากคลอดปกติไม่มีความเสี่ยง ก็จะเยี่ยมบ้านในระยะ 7 วัน แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงจะเยี่ยมบ้านใน 3 วัน 

มากไปกว่านั้น พญ.เพ็ญแข เสริมว่า ระบบการดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยทุกเคสของมารดาตั้งครรภ์ที่เสียชีวิต จะต้องรายงานผู้บริหารทันทีภายใน 24 ชั่วโมง และทบทวนการดูแลผู้ป่วยร่วมกันทั้งสูติแพทย์ทีมโรงพยาบาลนราธิวาสฯและทีมในเครือข่ายภายใน 7 วัน 

และในทุก ๆ 3 เดือนจะทบทวนระดับเขตร่วมกับอาจารย์แพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก รพ สงขลานครินทร์เพื่อร่วมให้ความเห็นและวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก 

4

วางระบบดีแล้ว รุกพื้นที่ทำงานกับชุมชน

ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้ระยะเวลาแค่ 2 ปีเศษก็ทำให้เขตสุขภาพที่ 12 สามารถลดตัวเลขของมารดาเสียชีวิตลงไปได้มากกว่าครึ่ง ด้วยการวางแผนการดูแลใหม่ทางด้านการแพทย์ที่ครอบคลุม และรวดเร็ว พร้อมกับประสานการทำงานกันเป็นทีมเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

อีกด้านก็ยังขับเคลื่องเชิงรุกเข้าไปยังพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความพร้อมของสุขภาพร่างกายก่อนการตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ อย่างเข้าใจและครอบคลุม 

แรงหนุนอีกด้านอย่าง สปสช.เขต 12 ซึ่งก็ส่งทีมเข้าไปสนับสนุนกับหน่วยบริการ และบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ด้วยการเข้าไปประสานพูดคุยกับผู้นำท้องถิ่นของชุมชน โดยเฉพาะกับโต๊ะบีแด หรือหมอตำแยโบราณในวิถีชุมชนชาวมุสลิม เพื่อให้ช่วยสื่อสารกับชาวชุมชนในการดูแลตัวเองเมื่อตั้งครรภ์

นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 12 สงขลา บอกกับ “The Coverage” ว่า ได้ร่วมกันเข้าไปขับเคลื่อนเชิงรุกในการให้องค์ความรู้สุขภาพสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ร่วมกับโต๊ะบีแดที่ชาวบ้านในพื้นที่เคารพเชื่อฟัง ร่วมให้คำแนะนำหญิงตั้งครรภ์ในการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมตามแนวทางสาธารณสุข ซึ่งได้นำร่องที่จังหวัดนราธิวาส และได้รับการตอบรับอย่างดี ก่อนมีการขยายผลและแนวทางไปยังจังหวัดปัตตานี และยะลา

ที่สำคัญ สปสช. เขต 12 สงขลา ยังสร้างแรงจูงใจให้กับหน่วยบริการ โรงพยาบาลในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ในการช่วยกัน ลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาหลังคลอดแบบมีชีพ ให้ภาพรวมของทั้งสามจังหวัดเหลืออยู่ที่ 19 คนแต่แสนประชากรการเกิดแบบมีชีพได้ ก็จะมีงบประมาณเพิ่มเติมสนับสนุนให้กับหน่วยบริการ โรงพยาบาลที่ทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย 

“สปสช. ก็เข้าไปช่วยหนุนเสริมให้การขับเคลื่อนลดการเสียชีวิตของแม่หลังคลอดให้ได้ตามเป้า เรายังหนุนให้หญิงตั้งครรภ์สิทธิบัตรทอง 30 บาทได้ลงทะเบียนครั้งเดียวแล้วเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาตั้งแต่ฝากครรภ์ไปจนคลอดเลย ก็ช่วยให้หน่วยบริการไม่ต้องเสียเวลาลงทะเบียนใหม่แต่ละครั้ง ก็เชื่อว่าถ้าเราร่วมกันแบบนี้ ก็จะไม่เป็นแชมป์แม่ตายหลังคลอดสูงสุดในประเทศอีกแล้ว” นพ.วีระพันธ์ กล่าววในตอนท้าย