ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอการุณย์” ชี้ ระบบรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต 7 ปี พัฒนาต่อเนื่อง จาก EMCO สู่ UCEP หลังปรับเกณฑ์จ่ายค่ารักษาตามรายการ แก้ปัญหา รพ.เรียกเก็บเงินผู้ป่วยแนะแนวทางต่อยอด มองและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เพิ่มกลไกกำกับคุณภาพ พัฒนาระบบอุทธรณ์และร้องทุกข์ พร้อมเผย สปสช.เคลียริงเฮ้าส์ ผล 3 กองทุน/อปท. เป็นไปตามเป้า เว้นกองทุนสุขภาพอื่นยังเบิกจ่ายล่าช้าเนื่องจากขาดระเบียบรองรับ รอการปรับปรุงเพิ่มเติม    

ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมเสวนา “2 ปี UCEP ไทย จะก้าวต่อไปอย่างไร : Next Step for UCEP” ในการประชุมเสวนาและรับฟังความคิดเห็นการดำเนินงาน ตามนโยบายรัฐบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) จัดโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และกระทรวงสาธารณสุข

นพ.การุณย์ กล่าวว่า โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) ดำเนินการมา 2 ปีแล้ว แต่เรื่องนี้ถูกทำมาก่อนหน้านี้ 5 ปี ตั้งแต่โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ (EMCO) ที่ได้เริ่ม เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 และได้เปลี่ยนเป็นโครงการ UCEP ตอนเริ่มต้นเราพบปัญหาเกณฑ์การวินิจฉัย ภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ทำให้เกิดปัญหาที่หน้างาน ที่ห้องฉุกเฉิน เพราะความเข้าใจของประชาชนและแพทย์มองต่างกันเป็นที่มาของการจัดทำหลักเกณฑ์คัดแยกเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตเพื่อลดความขัดแย้งที่หน้างาน และการเรียกเก็บค่ารักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต จากแต่เดิมเป็นการจ่ายตาม DRG โดยอัตราการจ่าย อยู่ที่ร้อยละ 30 ของอัตราการเรียกเก็บ และเมื่อสู่โครงการ UCEP ได้ปรับเป็นการจ่ายตามรายการที่กำหนด (Fee Schedule) ทำให้การเบิกจ่ายชดเชยขยับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 49-50 ของอัตราการเรียกเก็บ ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้รับความร่วมมือจาก รพ.เอกชน  

คำถามคือหลัง 2 ปี โครงการ UCEP จะเดินหน้าอย่างไรต่อไป เนื่องจากข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ UCEP ยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง ทั้งผู้ป่วยในเมืองใหญ่ค่อนข้างเป็นปัญหาการเข้าถึงบริการเนื่องจากปัญหา การจราจร ดังนั้นก้าวต่อไปของ UCEP จะมองเฉพาะ UCEP ไม่ได้ แต่ต้องมองและแก้ปัญหาเชิงระบบ เริ่มตั้งแต่ประชาชน การสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในการเข้ารับบริการ ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลควรเป็นห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับบริการอย่างรวดเร็ว ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินรพ.ภาครัฐ ควรเป็นระบบบริการหลัก มีความพร้อมทั้งบุคลากรและเครื่องมือ สร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการภาคเอกชนเข้ามาช่วยเสริมระบบเนื่องจากระบบบริการภาครัฐไม่เพียงพอ

นพ.การุณย์ กล่าวว่า นอกจากนี้การจัดระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนถึง รพ. (EMS) ก็มีความสำคัญ จากข้อมูล สพฉ.พบว่าผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตนำส่งรักษาโดย EMS เพียงร้อยละ 15 ส่วนที่เหลือประชาชนนำส่งเอง การจัดระบบสั่งการและการกระจายรถกู้ชีพที่มีศักยภาพเพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับบริการรวดเร็วทันเวลา จะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในระบบ EMS ซึ่งระบบ EMS จะช่วยสนับสนุนระบบ UCEP ในการคัดแยกภาวะฉุกเฉินและนำส่งผู้ป่วยไปยัง รพ.ที่มีศักยภาพต่อไป

“บทบาท สปสช.ในโครงการ UCEP ตามมติ ครม.ทำหน้าที่รับข้อมูลการเบิกจ่ายจาก รพ.เอกชนมาประมวลผลภายใน 30 วัน และส่งข้อมูลไปยังกองทุนหลักประกันสุขภาพของผู้มีสิทธิจ่ายภายใน 15 วัน วันนี้ 3 กองทุนหลักประกันสุขภาพ และกองทุนรักษาพยาบบาลท้องถิ่นเบิกจ่ายตรงเวลา แต่มีกองทุนประกันสุขภาพอื่นที่ยังไม่มีระเบียบรองรับ ทำให้การเบิกจ่ายล่าช้า ตรงนี้เป็นปัญหาที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติมต่อไป" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว   

นพ.การุณย์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่มีโอกาสในการพัฒนาเพิ่มเติมในระบบ UCEP คือการกำกับคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการพูดถึง ต่างจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เน้นในเรื่องนี้ รวมถึงการพัฒนาระบบอุทธรณ์และรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการลดความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและโรงพยาบาล