ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องในพื้นที่อุทกภัย มั่นใจน้ำยาล้างไตไม่ขาด สปสช. จับมือ ไปรษณียไทยดิสทริบิวชั่น ลงพื้นที่อุทกภัยน้ำท่วมอ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ตรวจเยี่ยมบริการจัดส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้านผู้ป่วย ครบถ้วนตรงเวลา ขณะที่ สสจ.สุพรรณบุรี เตรียมทำแคมเปญเชิงรุกตรวจคัดกรองผู้ป่วยรายใหม่ตลอดทั้งปี


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายพีระ อุดมกิจสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด นพ.กิตติพงษ์ อยู่สุวรรณ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี นพ.พีระมน นิงสานนท์ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 5 ราชบุรี และะ นายธนากร มโนธรรม ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลองครักษ์ ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านพร้อมจัดส่งน้ำยาล้างไตทางช่องท้องแก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ตำบลองครักษ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การบำบัดทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมี 2 วิธี คือการฟอกเลือด และการล้างไตทางช่องท้อง ทั้ง 2 วิธีนี้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท โดยมีข้อดีต่างกันขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่าจะเลือกวิธีไหนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตตัวเองมากที่สุด อย่างกรณีที่มาเยี่ยมบ้านวันนี้เป็นผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งหากเป็นการฟอกเลือด ผู้ป่วยต้องเดินทางไปที่หน่วยบริการฟอกเลือด 2 - 3 วัน/ครั้ง แม้สิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองฯ จะครอบคลุมค่ารักษาแล้ว แต่ผู้ป่วยก็ยังมีค่าใช้จ่ายการเดินทาง ยิ่งเมื่อประสบกับภาวะน้ำท่วมก็ยิ่งเดินทางยากขึ้นไปอีก แต่หากเป็นการล้างไตทางช่องท้องก็จะได้รับความสะดวก ทางบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด จะจัดส่งน้ำยาล้างไตมาให้ถึงบ้าน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางออกไปไหน ยิ่งในภาวะอุทกภัยก็ยิ่งเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างมาก

1

ด้าน นายพีระ กล่าวว่า โครงการจัดส่งน้ำยาล้างไต เป็นอีกหนึ่งในบริการด้านขนส่งด้านยาและเวชภัณฑ์ ที่ทางบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด มีความภูมิใจในการมีส่วนร่วม ช่วยดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในระบบบัตรทองทั่วประเทศ โดยบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่นฯ ได้พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่ง มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้รับน้ำยาล้างไตครบถ้วน ตรงเวลา โดยจะมีการส่งน้ำยาล้างไตให้ถึงบ้านผู้ป่วยจำนวน 20 ลัง หรือ 120 ถุง สำหรับผู้ป่วย 1 ราย กำหนดส่ง 1 รอบ/เดือน พร้อมทั้งจัดเรียงน้ำยาล้างไตตามวันหมดอายุแบบ FEFO (First Expire First Out ) เพื่อสะดวกในการหยิบใช้ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบการขนส่งยาและกระจายสินค้าเพื่อให้บริการตามมาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการจัดเก็บและขนส่งยา ทั้งระบบ GSP(Good Storage Practice) /GDP (Good Distribgution Practices) ที่เป็นระบบสากลที่ทันสมัยครบวงจร

2

นายธนากร กล่าวว่า บทบาทในส่วนของท้องถิ่น ทาง อบต.องครักษ์ ได้ประสานหารือแนวทางการดูแลประชาชนในพื้นที่อุทกภัยร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลในพื้นที่มาโดยตลอด ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องการเดินทางเข้าออก การรับสิ่งของต่างๆ  อบต. ได้จัดเตรียมเรือท้องแบนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน ทั้งการลำเลียงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปเยี่ยมบ้านดูแลด้านสุขอนามัยและความเรียบร้อยในการล้างไต รวมทั้งการสนับสนุนอาหารที่จำเป็นต่อผู้ป่วย เช่น อาหารจำพวกโปรตีนต่างๆ และในเร็วๆ นี้ จะมีการประชุมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมความคิดเห็นในการดูแลผู้ป่วยให้รอบด้านในทุกมิติ

นายจิตร์ คำนวนสิน อายุ 75 ปี ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้อง กล่าวว่า ตนล้างไตทางช่องท้องมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว ซึ่งในระยะแรกก็ต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตพอสมควร รวมทั้งต้องระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหารเป็นอย่างมาก ปัจจุบัน ตนไม่สามารถทำงานหนักได้ ทำได้แต่งานเล็กๆน้อยๆ ดังนั้น การการมีบริการจัดส่งน้ำยาล้างไตให้ที่บ้านถือว่าสร้างความสะดวกเป็นอย่างมาก ไม่ต้องเดินทาง ยกเว้นไป รพ.สต. ใกล้บ้าน

3

พญ.วนิดา สมบูรณ์ศิลป์ อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า ตั้งแต่ สปสช. เปิดให้ผู้ป่วยเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตได้ พบว่าสัดส่วนผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ามาในระบบ ประมาณ 80% จะเลือกการฟอกเลือด สาเหตุหลักเพราะคนไข้มีความเชื่อว่ายุ่งยากเพราะต้องทำเองที่บ้าน และอาจเกิดการติดเชื้อได้ง่าย แต่ในมุมของแพทย์แล้วก็พิจารณาความเหมาะสมทางคลินิกก่อน ทั้งสภาพของคนไข้ โรคร่วมต่างๆ ความเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งปัจจัยทางสังคม เช่น ความสะดวกในการเดินทางและความพร้อมของครอบครัว ในกรณีที่ผู้ป่วยสามารถรับการบำบัดทดแทนไตได้ทั้ง 2 วิธี ก็จะให้บริการตามวิธีที่ผู้ป่วยเลือก แต่ในกรณีที่คนไข้เหมาะจะล้างไตทางหน้าท้องแต่ตัวผู้ป่วยอยากจะรับการฟอกเลือด ก็จะแจ้งข้อดีข้อเสียให้ทราบก่อน เช่น การฟอกเลือดอาจจะต้องรอคิวนาน ต้องหาหน่วยบริการที่อื่นมารองรับ หรืออาจต้องล้างไตทางช่องท้องรอไปก่อน เป็นต้น

ขณะที่ นางน้ำฝน แลเพชร พยาบาลวิชาชีพ หน่วยล้างไตทาง โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช กล่าวว่า เมื่อมีผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องรับการบำบัดทดแทนไต ตนจะแจ้งให้ทราบถึงข้อดีข้อเสียของวิธีการบำบัดทดแทนไตทั้ง 2 แบบ เพื่อให้ผู้ป่วยตัดสินใจเลือกวิธีที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของตัวเอง ทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย ความพร้อมของญาติในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งส่วนมากผู้ป่วยจะมองว่าการฟอกเลือดดีกว่าเพราะให้บริการโดยแพทย์และพยาบาล น่าจะมีความปลอดภัยมากกว่าการล้างไตทางช่องท้อง แต่หลายครั้งที่เมื่อพูดคุยลงลึกในรายละเอียด คนไข้ก็เปลี่ยนใจมาเลือกการล้างไตทางช่องท้องแทน เช่น ไม่สะดวกกับการเดินทางมาที่หน่วยล้างไต เสียเวลานานและกลับบ้านมืดค่ำ เป็นต้น

3

ด้าน นพ.กิตติพงษ์ กล่าวว่า ในปีนี้ สสจ.สุพรรณบุรี จะเพิ่มน้ำหนักในด้านการให้ความรู้ สุขศึกษาแก่คนทั่วไปและผู้ที่รับประทานอาหารรสเค็มในสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุ เฟสบุ๊ค ติ๊กต็อก ทวิตเตอร์ ฯลฯ รวมทั้งการบริการตรวจคัดกรองเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิต อันจะนำมาซึ่งภาวะไตเสื่อม ขณะที่ในกลุ่มผู้ป่วยรายเก่าก็จะเน้นการลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดกับคนไข้ โดยได้จัดตั้งกลุ่มงานสื่อสารและประชาสัมพันธ์ขึ้นมา และมอบนโยบายให้ทุกโรงพยาบาลและทุกอำเภอ ให้มีช่องทางการสื่อสารกับประชาชนให้มากขึ้น เพื่อให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรค การบริโภคอาหารที่ปลอดภัย การดูแลเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ และการลดภาวะแทรกซ้อน รวมทั้งจะร่วมมือกับ รพ.สต. องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อยจ.) หน่วยงานราชการ และสถานประกอบการต่างๆ จัดมหกรรมตรวจเชิงรุกทั้งคัดกรองเบาหวาน ความดัน สำหรับผู้ป่วยใหม่ โดยเป็นแคมเปญที่ทำทั้งปี

5

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1. สายด่วน สปสช. 1330 
2. ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw