ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ลงพื้นที่ชมโครงการทันตกรรมเคลื่อนที่-บริการทันกรรมสำหรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ ม.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ร่วมกับหน่วยบริการในพื้นที่ ให้บริการประชาชนในพื้นที่ 3 เขตรอบมหาวิทยาลัย หวังให้ประชาชนเข้าไม่ถึงบริการได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ หลังพบการยังมีการเข้าถึงบริการทางทันตกรรมน้อย 


เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2566 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นางสาวจินตนา สันถวเมตถ์ ผู้อำนวยการกลุ่มจังหวัด สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ไปยัง โรงเรียนเมืองชุม ต.เมืองชุม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เพื่อเยี่ยมชม “โครงการทันตกรรมพระบรมราชชนนี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง” ที่ดำเนินการโดย สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง บูรณาการร่วมกับ โรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย (สสจ.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อให้บริการทันตกรรมเชิงรุกแก่เด็กนักเรียนในพื้นที่ รวมถึงผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท)

1

นพ.ธวัชชัย ใจคำวัง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร อ.เวียงชัย จ.เชียงราย กล่าวว่า กลุ่มเด็กนักเรียนบางพื้นที่ยังเป็นกลุ่มที่เข้าถึงบริการได้ยาก จึงต้องมีการออกหน่วยเชิงรุกเพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลจะทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยฯ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุม ซึ่งในกรณีที่พบว่ามีปัญหาทางทันตกรรมที่ซับซ้อนขึ้นจนเกินศักยภาพของหน่วยที่ออกเชิงรุก ก็จะมีการประสานและส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเพื่อให้เด็กได้รับการรักษาและดูแลอย่างต่อเนื่องต่อไป 

2

ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลจิต คณบดีสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า โครงการเชิงรุกออกหน่วยทันตกรรมเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สสจ. โรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ในการนำบริการเข้ามาหาประชากรในกลุ่มเด็ก เนื่องจากบางครั้งกลุ่มเหล่านี้ไม่สามารถเดินทางไปที่หน่วยบริการได้ โดยจะมีการออกหน่วยเคลื่อนที่ปีละ 24 ครั้ง หมุนเวียนสำหรับพื้นที่ 4 โซนใน จ.เชียงราย 

สำหรับการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ในการทำทันตกรรมเชิงรุกนั้นอุปกรณ์ เตียงทำฟัน เครื่องมือ วัสดุ ฯลฯ  ทางมหาวิทยาลัยฯ เป็นผู้สนับสนุนทั้งหมด ส่วนบุคลากรที่ลงมาช่วยกันจะมาจากโรงพยาบาลในพื้นที่ รวมถึงมีทันตแพทย์อาสาสมัครจากคลินิกเอกชนเข้ามาร่วมด้วย และจากการดำเนินการที่โรงเรียนบางชุมตลอดทั้ง 5 วัน มีเด็กนักเรียนได้รับบริการทันตกรรมประมาณ 600 คน 

2

“การทำเชิงรุกจะทำให้เด็กเข้าถึงบริการได้ดีขึ้น และเมื่อเด็กมาก็จะได้รับการดูแลตั้งแต่เด็ก สังเกตได้ว่าเด็กที่มาตรวจส่วนมากจะมีสุขภาพฟันดี การทำโครงการเชิงรุกแบบนี้ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ที่สุดก็คือตัวเด็กทุกคนในจังหวัดเชียงรายเองที่จะมีสุขภาพช่องปากที่ดี” ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล ระบุ 

ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ขณะเดียวกันที่สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงก็ได้มีการเปิดบริการทันตกรรม เพื่อเพิ่มสิทธิและการเข้าถึงบริการให้แก่ประชาชนในพื้นที่เขต 3 ตำบลรอบมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งมีทั้งหมด 15 ยูนิต เพียงพอต่อประชาชนที่เข้ามารับบริการ ขณะนี้พบว่ามีประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง เข้ามารับบริการตามสิทธิประโยชน์เดือนละเกือบ 1,000 คน 

2

2

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บริการทันตกรรมเป็นหนึ่งสิทธิประโยชน์ระบบบัตรทอง ครอบคลุมบริการอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ฯลฯ แต่ที่ผ่านมามีเพียง 10% ของประชากรผู้มีสิทธิที่เข้าถึงบริการ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงมอบให้ สปสช. ดำเนินการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ จึงได้มีการจัดบริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่เชิงรุกพร้อมกับประสานความร่วมมือกับคลินิกทันตกรรมเอกชนให้เข้ามาช่วยเสริมบริการ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองและเข้าสู่การรักษาตามสิทธิประโยชน์ ก่อนที่ปัญหาสุขภาพช่องปากจะลุกลาม

สำหรับโครงการทันตกรรมพระบรมราชชนนีฯ ของสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นโครงการที่มีประโยชน์ โดยความพร้อมการบริการเชิงรุกของสำนักวิชาการทันตแพทย์ฯ จะช่วยให้ประชาชนได้รับการตรวจคัดกรองและเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาต่อไป

“วันนี้ก็ได้มาดูงานที่สำนักทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งที่นี่ได้ให้บริการผู้ป่วยในระบบบัตรทอง รวมถึงมีการจัดบริการทันตกรรมเคลื่อนที่ไปยังจุดที่ยังไม่ถึงหรือยากที่เข้ามารับบริการ วิธีการแบบนี้ก็จะทำให้การเข้าถึงบริการเป็นไปได้ด้วยความทั่วถึง” ทพ.อรรถพร กล่าว

3