ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการ สปสช. เยี่ยมชมการจัดบริการการแพทย์ทางไกลหรือเทเลเมดิซีน รพ.ระนอง ชี้เป็นต้นแบบที่ดีในการเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพแก่กลุ่มเปราะบาง ย้ำถ้าผลักดันให้ดีเชื่อว่าระบบเทเลเมดิซีนจะช่วยลดภาระงานในโรงพยาบาลลงได้กว่า 25%


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่โรงพยาบาลระนอง จ.ระนอง ระหว่างวันที่ 14-15 ก.ย. 2566 เพื่อเยี่ยมชมการจัดการระบบสุขภาพแนวใหม่แบบ Telemedicine (การแพทย์ทางไกล) ผ่านหน่วยบริการปฐมภูมิในเรือนจำระนองดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเฉพาะ และการดูแลผู้ป่วยบนเกาะ โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลระนองและทีมงานให้การต้อนรับ

2

2

นพ.วุฒิชัย จ่าแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านปฐมภูมิ โรงพยาบาลระนอง กล่าวว่า บริบทของจังหวัดระนองนั้นเป็นเมืองที่มีเกาะต่างๆ หลายเกาะ ทำให้การดูแลผู้ป่วยตามเกาะ หรือการที่ผู้ป่วยจะเดินทางมาโรงพยาบาลเป็นไปอย่างลำบาก เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางหลายต่อ บางครั้งเมื่อเกิดมรสุม ฝนตกหนักน้ำท่วม คนไข้ก็ไม่สามารถมาตามนัดหรือมาไม่ตรงเวลานัด ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลระนองจึงนำระบบเทเลเมดิซีนมาเสริมการให้บริการ พยาบาลที่อยู่บนเกาะก็จะประสานมาทางโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยอาการเบื้องต้น หากจำเป็นต้องมาโรงพยาบาลก็จะนัดวันแล้วเข้ามาพบแพทย์เฉพาะทางได้เลย ไม่ต้องเสียเวลามานั่งรอ ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ป่วย ไม่ต้องมาโรงพยาบาล 2 ครั้ง คือมาพบแพทย์ทั่วไปก่อนแล้วถึงมาพบแพทย์เฉพาะทางในครั้งที่สอง 

นอกจากนี้ โรงพยาบาลระนองยังนำระบบเทเลเมดิซีนมาจัดบริการแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งปกติแล้วมีข้อจำกัดในการนำตัวมาโรงพยาบาลเพราะต้องมีผู้คุมมาด้วยและจำนวนผู้ป่วยที่มาแต่ละครั้งก็ไม่เกิน 2-3 คน ซึ่งเมื่อมีระบบเทเลเมดิซีนก็ทำให้ พยาบาลในเรือนจำสามารถปรึกษาแพทย์ของโรงพยาบาลได้ เมื่อมีความเร่งด่วนก็สามารถปรึกษาเข้ามาแล้วให้แพทย์ตรวจและวินิจฉัยอาการเบื้องต้นได้เลย และถ้าจำเป็นต้องพามาโรงพยาบาล ก็ให้ทางพยาบาลเรือนจำเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจสัญญาณชีพต่างๆ แล้วเมื่อพาผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลก็พบแพทย์เฉพาะทางได้เลยโดยไม่ต้องไปผ่านแผนกผู้ป่วยนอก 

2

ด้าน นพ.อรุณ สัตยาพิศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระนอง กล่าวว่า การใช้ระบบเทเลเมดิซีนกับประชากรบนเกาะและในเรือนจำ เป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการทำให้แพทย์ได้คุยกับผู้ป่วยโดยตรง ตรวจวินิจฉัยและสั่งยาเบื้องต้นได้ และยังช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ไม่ต้องมานั่งรอพบแพทย์เป็นชั่วโมงๆ ซึ่งจากการประเมินความพึงพอใจพบว่าคนไข้พึงพอใจมาก เพราะยังได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าจำเป็นก็สามารถมาโรงพยาบาลได้ ซึ่งทิศทางการจัดบริการเทเลเมดิซีนในอนาคตนั้น แพทย์ในแต่ละแผนกจะทำเทเลเมดิซีนกับผู้ป่วยให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลระนองก็จะขยายการให้บริการแบบเทเลเมดิซีนกับเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งในกรณีมีเคสที่ต้องการรับคำปรึกษา โรงพยาบาลชุมชนก็สามารถปรึกษากับแพทย์เฉพาะทาง ทำให้แพทย์เฉพาะทางเห็นผู้ป่วยและสั่งยาได้เลย

2

ขณะที่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า โรงพยาบาลระนองมีวิสัยทัศน์ในการนำเทคโนโลยีมาช่วยร่นระยะเวลาและการเดินทางของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางในเรือนจำและในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว โรงพยาบาลระนองยังมีการจัดบริการจิตเวชทางเทเลเมดิซีนแก่ผู้ต้องขังด้วย ซึ่งถือเป็นทิศทางใหม่ เพราะผู้ต้องขังส่วนหนึ่งอาจมีความเครียด ดังนั้นจึงมีการเตรียมความพร้อมก่อนออกสู่สังคม นอกจากนี้แล้ว บริการเทเลเมดิซีนของโรงพยาบาลระนองยังมีแม้แต่เรื่องของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายซึ่งก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ให้บริการได้ ถือเป็นนวัตกรรมที่ดีมากและโรงพยาบาลอื่นๆ ก็สามารถศึกษาเรียนรู้จากโรงพยาบาลระนองได้ 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า ประโยชน์ของการจัดบริการเทเลเมดิซีนนั้น ถ้าใช้อย่างเหมาะสม จะช่วยลดปริมาณงานในโรงพยาบาลได้ประมาณ 25%  จากข้อมูลของ สปสช.ในแต่ละปีมีผู้มารับบริการทั่วประเทศประมาณ 200 ล้านครั้ง หากผลักดันเทเลเมดิซีนให้ดี จะลดปริมาณลงได้ 50 ล้านครั้ง และช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้แน่นอน นอกจากนี้ ยังมีประชากรบัตรทองอีกจำนวนหนึ่งประมาณ 10 ล้านคนที่ไม่เคยเข้ามาใช้สิทธิเลย ถ้ามีบริการเทเลเมดิซีนที่ดี เชื่อว่าจะทำให้คนกลุ่มนี้เข้ามารับบริการมากขึ้น ถือเป็นการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพครั้งใหญ่ในด้านการเข้าถึงบริการ

4