ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมรังการแพทย์ฯ เผย สธ. ต้องการนักรังสีการแพทย์ปีละ 600 คน แต่ผลิตจริงทำได้แค่ 400 เตรียมทำใจจะขาดแคลนไปอีก 10 ปี ชี้ รพ. รัฐไม่จูงใจให้ทำงาน เหตุภาระงานเยอะ-รายได้น้อย จบใหม่เลือกเข้า รพ.เอกชน แนะรัฐต้องปรับโครงสร้างใหม่แก้ปัญหา เพิ่มอัตรา-สร้างแรงจูงใจ


ดร.สุชาติ เกียรติวัฒนเจริญ ที่ปรึกษาทางวิชาการ ชมรมรังสีการแพทย์ชุมชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงประเด็นจำนวนนักรังสีการแพทย์ในปัจจุบัน โดยระบุว่า ขณะนี้มีนักรังสีการแพทย์อยู่ประมาณ 5,000 คนกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในหน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลของรัฐ ที่มีอยู่ประมาณกว่า 3,000 คน ส่วนที่เหลือไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงศูนย์รังสีการแพทย์ และศูนย์เอกซเรย์ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม อัตราบุคลากรด้านรังสีการแพทย์ในขณะนี้ถือว่ามีความขาดแคลนอย่างหนัก และเป็นอัตราการขาดแคลนที่สะสมมาโดยตลอดด้วย อีกทั้ง ในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยอย่างมาก

ทั้งนี้ การขาดแคลนบุคลากรรังสีการแพทย์มีผลกระทบอย่างหนักในส่วนของการให้บริการในโรงพยาบาลชุมชน เนื่องจากมีโรงพยาบาลชุมชนถึง 198 แห่ง ที่ไม่มีนักรังสีการแพทย์เลย อีกทั้ง โรงพยาบาลของรัฐต่างๆ ตามระเบียบแล้วควรมีนักรังสีการแพทย์ประจำอยู่ 3 คน แต่กลับพบว่าบางแห่งมีอยู่แค่คนเดียว และต้องให้บริการผู้ป่วยนอกวันละนับพันคน ซึ่งอย่างไรก็ไม่เพียงพอ แม้ว่าจะมีการผลิตนักรังสีการแพทย์อยู่ทุกปีก็ตาม

ดร.สุชาติ กล่าวด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องการกำลังคนที่เป็นนักรังสีการแพทย์ปีละ 600 คนเพื่อเข้าสู่หน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลของรัฐ แต่ผลิตได้จริงปีละ 400 คน ซึ่งปัจจุบันขาดแคลนสะสมแล้วกว่า 1,200 ตำแหน่ง และน่าจะเป็นปัญหาระยะยาวไปอีก 10 ปี เพราะสาเหตุสำคัญมาจากแรงจูงใจในการทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ รวมถึงภาระงานที่หนัก รายได้น้อย ทำให้เด็กที่จบรังสีการแพทย์ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด เลือกจะไปทำงานกับโรงพยาบาลเอกชน ที่มีรายได้ดีกว่า รวมถึงยังมีเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพกว่าด้วย

ดร.สุชาติ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเคยมีแนวนโยบายโดยให้โรงพยาบาลของรัฐ ให้ทุนการศึกษาในด้านรังสีการแพทย์ เพื่อให้บัณฑิตรังสีการแพทย์ได้กลับมาทำงานใช้ทุน แต่ยังพบว่า โรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งไม่มีรายได้มากพอที่จะจัดสรรเป็นทุนการศึกษา อีกทั้ง รัฐบาลเองก็ยังไม่ได้สนับสนุนการให้ทุน รวมถึงปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่เป็นปัญหาอยู่ด้วย จึงทำให้บัณฑิตรังสีการแพทย์ที่จบออกมา ก็ไม่จำเป็นต้องไปทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ แต่เลือกไปทำงานที่โรงพยาบาลเอกชนมากกว่า เพราะมีรายได้ที่ดี และประเด็นสำคัญคือภาระงานที่ไม่ได้หนักเหมือนกับของรัฐ

"อีกทั้ง ที่ผ่านมาเรายังเคยเจอปัญหาที่โรงพยาบาลของรัฐบางแห่ง ไม่มีนักรังสีการแพทย์ทำหน้าที่ ก็ต้องมีการส่งตัวผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการอื่นที่พร้อมกว่า ทำให้ผู้ป่วยต้องลำบากเดินทาง หรือแม้แต่บางแห่งยังใช้บุคลากรด้านอื่นในโรงพยาบาล มาทำหน้าที่เอกซเรย์ผู้ป่วยแทนนักรังสีการแพทย์ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากต่อผู้ป่วย เพราะมีโอกาสูงที่จะเกิดข้อผิดพลาด และทำให้ข้อมูลสำหรับแพทย์ที่ต้องรักษาผู้ป่วยผิดเพี้ยน" ที่ปรึกษาทางวิชาการ ชมรมรังสีการแพทย์ชุมชนแห่งประเทศไทย กล่าว

ดร.สุชาติ กล่าวอีกว่า รัฐบาลต้องหันมาจริงจังกับเรื่องนี้ และใส่ใจปัญหาบุคลากรการแพทย์ที่ขาดแคลน เพราะต่อให้มีอุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จัดซื้อจัดหาเข้ามาให้บริการ แต่ขณะเดียวกัน คนทำงานหรือคนที่จะมาใช้เครื่องมือต่างๆ ไม่มี หรือมีน้อย ก็จะยิ่งทำให้เป็นการลงทุนที่สูญเปล่า รวมถึงพิจารณาการเพิ่มอัตรากำลังให้นักรังสีการแพทย์สามารถบรรจุเป็นข้าราชการ และพิจารณารายได้ค่าตอบแทน ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจที่ทำให้นักรังสีการแพทย์เข้าไปอยู่ในระบบ และเพียงพอต่อการให้บริการผู้ป่วยได้มากขึ้น

"การที่บางพรรคการเมืองหาเสียงเรื่องการจัดหาเครื่องฉายรังสีให้ทุกจังหวัด ก็นับเป็นเรื่องที่ดีอย่างมากที่จะช่วยให้การบริการสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ต้องคิดถึงคนมาทำงานและมาใช้เครื่องมือต่างๆ นั้นด้วย" ดร.สุชาติ กล่าวย้ำ