ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ลงพื้นที่เยี่ยมชม รพ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ชมบริการจัดการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังได้อย่างสมบูรณ์แบบ บูรณาการภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วมบริการ ด้าน ผอ.รพ.วางเป้าเพิ่มบริการ ลดผู้ป่วยโรคไต-การเสื่อมของไตในผู้ป่วย เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพ.กวี วีระเศษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 8 อุดรธานี และนายเสนีย์ จิตตเกษม ประธานคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพ เขต 8 อุดรธานี ลงพื้นที่โรงพยาบาลศรีสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เพื่อเยี่ยมชมระบบการจัดบริการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในพื้นที่ โดยมี นพ.วรกาล ธิปกะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสงคราม และ นายกามนิต มงคลเกตุ สาธารณสุขอำเภอศรีสงคราม พร้อมเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ

1

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากบุคลากรในพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมให้กับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือสิทธิบัตรทอง ที่ต้องล้างไตผ่านช่องท้อง (CAPD) ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD)

ทพ.กวี เปิดเผยว่า จากข้อมูลพบว่าใน อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม มีประชากรทั้งสิ้น 69,716 คน และมีสัดส่วนของผู้สูงอายุที่ 16% ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ในส่วนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในการดูแลของโรงพยาบาลศรีคราม จำนวนทั้งสิ้น 2,085 ราย แยกเป็นผู้ป่วยในอำเภอศรีสงคราม 1,000 ราย และนอกเขตอำเภอ 1,085 ราย ซึ่งโรงพยาบาลศรีสงคราม พร้อมด้วยภาคเอกชนให้การดูแลผู้ป่วยอยู่

ทั้งนี้ หน่วยไตเทียมโรงพยาบาลเริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2553 มีเครื่องไตเทียมเพื่อฟอกเลือดให้กับผู้ป่วยไตวาย จำนวน 9 เครื่อง เปิดบริการวันจันทร์-วันเสาร์ รวม 2 รอบต่อวัน ระหว่างเวลา 08.00 น.ถึง 17.00 น. โดยมีบุคลากรแพทย์ และพยาบาลเชี่ยวชาญ พยาบาลที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร หลักสูตร 6 เดือนจากสถาบันที่สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยรับรอง รวมถึงผู้ช่วยเหลือคนไข้ จำนวนรวมกัน 8 คน

นอกจากนี้ ในพื้นที่ อ.ศรีสงคราม ยังมีภาคเอกชนจาก 2 องค์กรที่เข้าร่วมบริการฟอกเลือดให้กับผู้ป่วยไตวาย และประชาชนสิทธิบัตรทองก็เข้ารับบริการได้ ภายใต้ชื่อ ‘ศูนย์ไตเทียมฟ้าสั่ง’ ที่เปิดให้บริการเมื่อปี 2563 โดยมีเครื่องไตเทียม 24 เครื่อง ทำให้สามารถเปิดบริการผู้ป่วยไตวายเพิ่มเติม และยังมีบุคลากรที่พร้อมดูแลผู้ป่วยอย่างได้มาตรฐานเช่นกัน

2

นพ.วรกาล กล่าวว่า โรงพยาบาลมุ่งเป้าลดผู้ป่วยรายใหม่ พร้อมกับการสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนได้มีความรู้เกี่ยวกับโรคไตวาย และสาเหตุที่เกิดโรค ซึ่งส่วนใหญ่พบว่ามาจากพฤติกรรมการกิน รวมไปถึงผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ที่มีโอกาสเสี่ยงป่วยเป็นโรคไตด้วย อย่างไรก็ตาม ในส่วนผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงคือโรคนิ่วในไต หากพบจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามค่าไตอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการคัดกรองประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานพบว่าจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการคัดกรองโรคไตจำนวน 4,792 คน หรือคิดเป็น 73% พบผู้ป่วยไตวายระยะ 3-4 มีอาการที่ดีขึ้นถึง 65% ซึ่งการลดผู้ป่วยไตวายมาจาการการจัดกิจกรรมให้ความรู้ และเพิ่มทักษะในการดูแลตนเองเพื่อลดการเสี่ยมของไตมากขึ้น

ขณะที่ นายเสนีย์ กล่าวว่า โรงพยาบาลศรีสงคราม วางระบบการดูแลผู้ป่วยโรคไตในคลินิกโรคไตเรื้อรังอย่างมีมาตรฐาน มีแพทย์ที่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางคลินิก หรือ CPG รวมถึงเภสัชกรที่ดูแลด้านยา และพยาบาลที่จะคอยให้คำแนะนำกับผู้ป่วยโรคไต หรือกลุ่มเสี่ยงทีจะป่วยอย่างใกล้ชิด

“สาเหตุหลักของโรคไตในพื้นที่พบว่ามาจากการพฤติกรรมการกินอาหารของคนอีสานด้วย ที่อาจจะชอบอาหารรสจัด ซึ่งหากมีการให้องค์ความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับด้านการกินอาหาร ก็จะทำให้ลดผู้ป่วยไตลงไปได้” นายเสนีย์ กล่าว

3

ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ขอชื่นชมการดำเนินงานอย่างสมบูรณ์แบบ และให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลศรีสงคราม และภาคีเครือข่าย รวมถึงภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมบริการในการดูแลและชะลอไตเสื่อม และลดผู้ป่วยรายใหม่ อีกทั้ง การลงพื้นที่ครั้งนี้ยังเห็นถึงการจัดระบบบริการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในพื้นที่โรงพยาบาลศรีสงคราม ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ สปสช. คือ “เลือกฟอกไตแบบที่ใช่ได้ทุกคน” เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองตัดสินใจร่วมกับแพทย์เพื่อเลือกวิธีฟอกไตที่เหมาะสมได้ ไม่ว่าจะเป็นการล้างไตทางช่องท้อง หรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

“ปัจจุบันผู้ป่วยโรคไตวายเรื้องรังระยะสุดท้าย ต้องรับการรักษาด้วย 2 แบบคือ การล้างไต้ทางช่องท้อง และการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน แต่ประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมกับตัวเองได้ร่วมกันกับแพทย์ ซึ่ง สปสช.มองว่า จะใช้วิธีไหนขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของคนไข้ ที่สามารถตัดสินใจได้เอง แต่ที่สำคัญคือต้องวางแผนร่วมกันกับแพทย์ และต้องได้รับข้อมูลการรักษาอย่างครบถ้วน” ทพ.อรรถพร กล่าว

วันเดียวกัน คณะผู้บริหาร สปสช. ยังได้ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมบ้านผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการดูแลรักษาจากสิทธิบัตรทองรวม 2 ราย ซึ่งแต่ละรายเลือกการบำบัดที่แตกต่างกัน โดยรายแรกเป็นเพศชาย อายุ 65 ปี มีโรคประจำตัว คือเบาหวานและเกิดภาวะไตวายระยะสุดท้าย ซึ่งตัดสินใจเลือกรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง เมื่อปี 2561 โดยปฏิบัติตามคำแนะนำและขั้นตอนในการล้างไตทางช่องท้องอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ทำให้มีผิวพรรณที่ดีขึ้น และยังมีกำลังกายที่แข็งแรง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ระบุด้วยว่า การล้างไตทางช่องท้องช่วยให้เกิดการขับของเสียได้ทุกวัน แตกต่างจากการที่ต้องรับการรักษาด้วยการฟอกเลือด ซึ่งไม่สะดวกในการเดินทาง

รายที่ 2 เป็นผู้ป่วยไตวายเพศชาย อายุ 48 ปี ตัดสินใจรับการบำบัดด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม แต่เดิมเมื่อมีอาการป่วยพบว่ามีความเครียดสูง เนื่องจากเป็นหัวหน้าครอบครัว และยังเครียดถึงภาระหนี้สิน เนื่องจากต้องเดินทางไปฟอกไตและมีค่าใช้จ่าย แต่ปัจจุบัน ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่หน่วยบริการ 3 ครั้ง/สัปดาห์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้สุขภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้น และสามารถเข้าถึงระบบบริการในการบำบัดทนแทนไตได้เร็วและช่วยเหลือตนเองได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

1.สายด่วน สปสช. 1330

2.ช่องทางออนไลน์

• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6

Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw