ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะผู้เข้าร่วมประชุม UNAIDS ลงพื้นที่ไปยัง ต.ทุ่งสะโตก อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เยี่ยมชม ‘การจัดบริการดูแลผู้ป่วยเอชไอวี’ ผ่านแผน ‘Huarin HIV Model’ โดย รพ.สต.บ้านหัวริน เชื่อมโยงชุมชนไปถึงอำเภอ สร้างเครือข่ายบริการสุขภาพ มุ่ง ‘รักษา-ลดตีตรา-ส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน’


เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2565 นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 1 เชียงใหม่ นพ.ทวิช แก้วประเสริฐ ผู้อำนวยการ รพ.สันป่าตอง นำคณะผู้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 51 (The 51st UNAIDS Programme Coordinating Board Meeting : PCB) มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) องค์กรพัฒนาเอกชนระดับนานาชาติ (NGOs) ลงพื้นที่ไปยัง รพ.สต.บ้านหัวริน ต.ทุ่งสะโตก อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมชม “การจัดบริการดูแลผู้ป่วยเอชไอวี ผ่านแผน Huarin HIV Model” ที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหัวริน (รพ.สต.) และภาคีเครือข่าย ในการดูแลรักษา ลดการตีตรา และกีดกัน ตลอดจนส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในชุมชน

3

2

นางวราภรณ์ รัตนาวิบูลย์ ผอ.รพ.สต.บ้านหัวริน เปิดเผยว่า ในพื้นที่ที่ รพ.สต.บ้านหัวรินดูแลอยู่มีผู้ป่วยเอชไอวีจำนวน 69 ราย โดยมีผู้ป่วยที่รับยาผ่าน Drop in Center ของ รพ.สต.บ้านหัวริน จำนวน 23 ราย ซึ่งในส่วนนี้ได้รับการสนับสนุนด้านยาต้านไวรัสตามสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติจาก สปสช. ทำให้ผู้ป่วยเอชไอวีสามารถรับการรักษาได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนอีก 42 ราย จะรับยาที่โรงพยาบาลสันป่าตอง และอีก 4 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับการรักษา 

ผอ.รพ.สต.บ้านหัวริน กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดูแลผู้ป่วยเอชไอวีในพื้นที่ ทาง รพ.สต.บ้านหัวริน มีจุดเด่นอยู่ที่การแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ โดยใช้ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายตั้งแต่ในระดับชุมชนไปจนถึงระดับอำเภอ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ผู้นำศาสนา และผู้นำชุมชน จนเกิดเป็นเครือข่ายบริการสุขภาพ และดำเนินการผ่านแผนที่มีชื่อว่า “Huarin HIV Model” โดยได้ปฏิบัติร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2563

3

ทั้งนี้ แผนดังกล่าวจะถูกแบ่งออกเป็น 5 ขั้น ประกอบด้วย 1. ระดับครอบครัว เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้ป่วยเอชไอวีได้รับการยอมรับ และสนับสนุนจากครอบครัว 2. ระดับกลุ่ม หรือชุมชน ของผู้ป่วยเอชไอวี โดยเป็นการทำให้ผู้ป่วยเอชไอวีเข้าสังคมมากขึ้น และต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพ 3. ระดับเจ้าหน้าที่ เช่น Care giver อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ติดเชื้อเอชไอวีมีส่วนมีบทบาทในการดูแลสุขภาพคนในชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

4. ระดับตำบล โดยดำเนินการผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต (พชอ.) ในการช่วยเหลือ และสร้างเสริมคุณภาพชีวิต และ 5. ระดับอำเภอ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันทั้งเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพในภาพใหญ่

“จากการดำเนินการตามแผนนี้ ต้องบอกว่าตอบโจทย์มาก เพราะปัจจุบันไม่มีการตีตราและกีดกันในสังคม ผู้ป่วยเอชไอวีสามารถอยู่ร่วมกันกับประชาชนทั่วไปได้ เกิดการยอมรับ เวลามารับยาที่คลินิกก็ไม่มีการแบ่งแยกว่าผู้ป่วยเอชไอวีต้องมาวันนี้ แต่สามารถมารับยาพร้อมกับผู้ป่วยทั่วไปได้ แล้วก็ผู้ป่วยทั่วไปก็พร้อมให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีบทบาทในการดูแลรักษา เช่น Care giver ให้การรักษากับเขาได้ปกติ” นางวราภรณ์ ระบุ

1

2

ด้าน พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู รอง ผอ.สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ รพ.สต.บ้านหัวริน นอกจากจะมีความโดดเด่นในเรื่องการจัดบริการการดูแลผู้ป่วยเอชไอวี ผ่านการทำงานร่วมกับชุมชน รวมถึงสถาบันทางศาสนาอย่างวัดหัวริน ในการลดดการตีตรา และเลือกปฏิบัติกับผู้ป่วยเอชไอวีแล้ว ยังเป็นศูนย์บริการด้านเอชไอวีที่ให้บริการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การค้นหาผู้ป่วยไปจนถึงการนำเข้าระบบการรักษา 

“ในส่วนของ สปสช. ได้มีการสนับสนุนในเรื่องสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในการจัดบริการ เช่น การให้ยาต้านไวรัสกับผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี การตรวจเชื้อเอชไอวีฟรี การตรวจไวรัลโหลดตามกำหนด การติดตามผลเลือดที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ รวมถึงเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ในการตรวจเชิงรุกให้กับทั้งหน่วยบริการของรัฐ และภาคประชาสังคมเพื่อให้กลุ่มเสี่ยงเข้าถึงการตรวจ และรับการรักษาได้ทันท่วงที” พญ.วลัยรัตน์ กล่าว

3

3

ทั้งนี้การดูงานดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 51 (The 51st UNAIDS Programme Coordinating Board Meeting : PCB) ระหว่างวันที่ 13-16 ธันวาคม 2565 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน

ประเด็นที่ในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย การดำเนินงานขององค์กรที่นำโดยชุมชน, ความคืบหน้าของการดำเนินงาน Global Partnership เพื่อการขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีทุกรูปแบบ, ผลการประเมินการดำเนินงานโครงการ UNAIDS และ เอชไอวีกับผู้ชายที่มีความหลากหลายในทุกรูปแบบ

การประชุม UNAIDS PCB ครั้งที่ 51 มีผู้แทนจากประเทศสมาชิก 22 ประเทศ หน่วยงาน UN Cosponsors 11 องค์กร และ NGOs จำนวน 5 องค์กร ซึ่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของโลก มาร่วมกันวางทิศทางและการบริหารจัดการแผนงานเอดส์ของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน การยุติปัญหาเอดส์ทั่วโลกภายในปี 2573 ตามปฏิญญาทางการเมืองเรื่องเอชไอวีและเอดส์ ปี 2564 และเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และถือเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพ อีกครั้งในรอบ 14 ปี หลังจากที่ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดเมื่อปี 2551