ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตอก นพ.เอกภพ ส.ส.พรรคก้าวไกล ควรต้องทำการบ้าน หลังออกมาตั้งข้อสงสัยปมงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในระบบบัตรทอง ชี้ไม่ได้เพิ่มงบจาก 400 ล้านเป็น 2 หมื่นล้าน แถมสภาผ่านงบมานี้เอง เอกสารเขียนชัดเจนว่าสำหรับคน 66 ล้านคน


การจัดทำงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติผ่านการพิจารณาจากสภาแล้ว ยิ่ง นพ.เอกภพ (เพียรพิเศษ ..เชียงราย พรรคก้าวไกล) เป็น .. และเป็นกรรมธิการด้วยแล้ว ก็ควรต้องทำการบ้าน เพราะสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ผ่านงบนี้มาเอง

นี่คือคำพูดของ นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สัดส่วนผู้แทนองค์กรเอกชน ที่เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมชี้แจงข้อมูลแก่คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.สาธารณสุข) เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา

การเข้าชี้แจง กมธ.สาธารณสุข ของบอร์ด สปสช. รายนี้ มีขึ้นหลังจากที่ นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตเรื่องงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า การเสนอของบประมาณ PP เพิ่มขึ้นจาก 400 กว่าล้านบาทในปี 2564 เป็น 2 หมื่นกว่าล้านในปี 2566 ว่ามีอะไรซุกซ่อนในรายละเอียดหรือไม่

ตลอดจนการตั้งงบประมาณ PP ยังครอบคลุมรวมไปถึงประชากรสิทธิอื่นๆ นอกจากสิทธิบัตรทอง ซึ่งเป็นการขัดต่อมาตรา 9 , 10 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 รวมถึงขณะนี้มีความพยายามที่จะกดดันให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. ลงนามในประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรณีบริการด้านเสริมสุขภาพและป้องกันให้แก่ประชาชนไทยทุกคน ทั้งที่อาจเป็นการลงนามในประกาศที่ขัดกฎหมายหรือไม่

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องงบประมาณ PP ที่เพิ่มจาก 400 เป็น 2 หมื่นล้านนั้น ตัวเลข 400 กว่าบาท เป็นตัวเลขต่อประชากร ซึ่งเมื่อคูณด้วยจำนวนประชากร 66 ล้านคน ก็เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ไม่ใช่หลักหมื่นล้านตามที่เข้าใจ ส่วนตัวเลข 20,000 ล้านบาท ที่เป็นวงเงินรวมนั้น ตัวเลขที่รวมงบกองทุน Long Term Care งบประมาณจัดบริการเกี่ยวกับ HIV และงบอื่นๆ ไว้แล้ว

ส่วนประเด็นที่ให้สิทธิ PP ครอบคลุมถึงสิทธิอื่นนอกเหนือจากสิทธิบัตรทองนั้น คงเป็นความเข้าใจกฎหมายที่ต่างกัน โดยการดำเนินงานก็บอกชัดเจนว่าจำเป็นต้องดูแลการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคสำหรับคนทุกคน แต่เมื่อดูสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมและข้าราชการ สิทธิประโยชน์หลักคือการรักษา ส่วนเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคข้าราชการไม่เคยตั้งงบประมาณให้เบิกจ่ายเรื่องนี้เลย ขณะที่ระบบประกันสังคมเพิ่งมาเพิ่มเรื่องนี้ในระยะหลังแต่ก็ยังไม่ครอบคลุมเท่าบัตรทอง และในการดำเนินการก็มีการแยกแยะกันว่ารายการไหนที่ประกันสังคมจัดบริการแล้ว บัตรทองก็ไม่ต้องจัด จะได้ไม่เกิดความซ้ำซ้อน

“พอถือหลักนี้ ตามมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2565 ระบุว่าคนทุกคนมีสิทธิได้รับการดูแลสุขภาพจากระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะฉะนั้นเมื่อประกันสังคมกับข้าราชการได้สิทธิการรักษาพยาบาลไปแล้วก็มาใช้บัตรทองไม่ได้ แต่ถ้ารายการไหนไม่มีเหมือนที่ระบบหลักประกันสุขภาพจ่ายให้ เขาก็มาใช้ตรงนี้ พอถือหลักการนี้ก็เลยตั้งงบประมาณสำหรับคนทุกคน โดยให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการ” นายนิมิตร์ ระบุ

นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญคือตอนที่จัดทำงบประมาณในส่วนของ PP ก็ระบุชัดเจนว่าเป็นงบประมาณสำหรับ 66 ล้านคน และตอนที่เสนอของบประมาณก็ขอสำหรับ 66 ล้านคน ระบุในเอกสารชัดเจน แต่เมื่อคณะที่ปรึกษาของนายอนุทินเข้าใจว่าทำไม่ได้ และนายอนุทินในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ไม่ยอมลงนามในประกาศ และต้องการทำหนังสือสอบถามคณะรัฐมนตรีให้มอบหมายให้ สปสช. ดำเนินการก่อน ดังนั้นในขณะนี้ก็คงต้องรอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายอย่างชัดเจนมา สปสช. ดำเนินการ เมื่อคณะรัฐมนตรีมอบหมายแล้ว สปสช. ก็จะสามารถดำเนินการได้ตามมาตรา 18 (14)

อย่างไรก็ดี ในขั้นตอนการสอบถามและขอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ สปสช.ดำเนินการนั้น ไม่มีใครทราบว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใด ผลกระทบที่จะตามมาจากการที่นายอนุทินไม่ยอมลงนามประกาศฉบับนี้คือเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จัดทำแผนงบประมาณไว้ จะไม่สามารถโอนไปให้หน่วยบริการได้ ดังนั้นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพทุกประเภททุกสังกัดจะได้รับผลกระทบก่อน เพราะสถานพยาบาลต้องเปิดบริการทุกวัน เมื่อมีผู้ป่วยมารับบริการก็ต้องให้บริการ ต้องรักษาไปก่อน แต่เมื่อให้บริการไปแล้วก็ไม่สามารถเบิกเงินได้

“คนที่เดือดร้อนอันดับแรกคือหน่วยบริการ หากหน่วยไหนพอมีเงินเหลือก็อาจกระทบไม่มาก เรื่องยาก็อาจมียาเหลือในสต๊อก หรือมีเงินบำรุงเหลือพอจัดซื้อยาได้ แต่หน่วยบริการในสังกัดอื่นที่ไม่ได้มีเงินเยอะจะเริ่มมีปัญหา การรอคำตอบจากคณะรัฐมนตรีใช้เวลานานแค่ไหนไม่มีใครตอบได้ กระทรวงสาธารณสุขคงต้องดูว่าตัวเองจะเอาอย่างไร เพราะถ้ายังไม่ลงนาม ความเดือนร้อนก็ไปตกอยู่กับหน่วยบริการ” นายนิมิตร์ กล่าว

นอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกแนวทางหนึ่งที่มีการเสนอขึ้นมา คือปรับปรุงประกาศให้สิทธิในการรับบริการ PP แยกเฉพาะคน 48 ล้านคนในสิทธิบัตรทอง ส่วนผู้มีประกันสังคมและข้าราชการยังไม่ต้องใช้สิทธินี้ ซึ่งแนวทางนี้บอร์ด สปสช. ไม่เห็นด้วย เพราะจะเกิดความเหลื่อมล้ำ คน 2 กลุ่มนี้รวมกันกว่า 10 ล้านคนก็จะไม่สามารถรับบริการได้ อาจต้องรอความชัดเจนหรือจ่ายเงินเอง เช่น ลูกของข้าราชการที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนก็ต้องจ่ายเงินเอง รวมทั้งการส่งเสริมป้องกันโรคอื่นๆ เช่น การป้องกัน HIV วัคซีนตับอักเสบซี การคัดกรองมะเร็ง คัดกรองเบาหวาน-ความดัน ก็ต้องรอไปก่อนหรือไม่ก็จ่ายเงินเองยังไม่รวมเรื่องเงินส่งเสริมสุขภาพอื่นๆ เช่น Long Term Care งบประมาณกองทุน กปท. ซึ่งถ้าไม่ลงนาม เงินก็โอนเข้ากองทุนไม่ได้ แต่ถ้าแก้ไขให้ได้สิทธิเฉพาะสิทธิบัตรทอง โครงการแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่ที่เป็นนโยบายของนายอนุทินก็จะแจกได้แค่สิทธิบัตรทองเท่านั้น

“ถ้าเลือกแนวทางนี้มันจะเกิดความเหลื่อมล้ำ ถ้าประสงค์จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำวุ่นวายแบบนั้นก็เอา ซึ่งนายอนุทินก็ต้องพิจารณาตัดสินใจว่าจะเลือกทางไหน ส่วนบอร์ด สปสช. ทั้งหมดมีความเห็นร่วมกันแล้วว่าควรลงนามให้ประกาศมีผลบังคับใช้โดยเร็ว” นายนิมิตร์ กล่าว