ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” ลงนามในข้อบังคับบอร์ด สปสช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงโทษปรับทางปกครอง และการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ พ.ศ. 2565


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ลงนามใน “ข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงโทษปรับทางปกครอง และการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ พ.ศ. 2565” ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2565

สำหรับข้อบังคับดังกล่าว มี 2 หมวดสำคัญ ได้แก่ หมวด 1 การลงโทษปรับทางปกครอง โดยคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน มีอำนาจออกคำสั่งให้หน่วยบริการชำระค่าปรับทางปกครอง เป็นจำนวนไม่เกิน 1 แสนบาท สำหรับการกระทำความผิดแต่ละครั้งที่มีการสอบสวน

ในกรณีที่ผลการสอบสวนปรากฏว่าหน่วยบริการใดไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขที่คณะกรรมการกำหนด โดยมีเจตนากระทำผิด และในกรณีที่หน่วยบริการไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการควบคุมฯ ในกรณีสั่งให้หน่วยบริการคืนเงินค่าบริการส่วนเกิน หรือไม่มีสิทธิเรียกเก็บให้แก่ผู้ร้องเรียน

สำหรับการลงโทษปรับทางปกครอง ให้คณะกรรมการควบคุมฯ กำหนดค่าปรับทางปกครอง ตามแนวทาง 3 ข้อ ได้แก่ 1. ในกรณีเป็นการกระทำความผิดครั้งแรก ให้กำหนดค่าปรับทางปกครองเป็นจำนวนร้อยละ 50 ของจำนวนค่าปรับทางปกครองสูงสุด 2. ในกรณีเป็นการกระทำความผิดครั้งที่สอง ให้กำหนดค่าปรับทางปกครองเป็นจำนวน ร้อยละ 75 ของจำนวนค่าปรับทางปกครองสูงสุด 3. กรณีเป็นการกระทำความผิดตั้งแต่ครั้งที่สามเป็นต้นไป ให้กำหนดค่าปรับทางปกครองเต็มจำนวนค่าปรับทางปกครองสูงสุด

หากเป็นการกระทำความผิดมีสภาพอันร้ายแรง คณะกรรมการควบคุมฯ อาจกำหนดค่าปรับทางปกครองแตกต่างไปจากแนวทางข้างต้นได้ แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท

ทั้งนี้ เมื่อหน่วยบริการได้รับแจ้งคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองแล้ว ให้หน่วยบริการดังกล่าวชำระค่าปรับให้เสร็จสิ้นในคราวเดียวภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โดยให้สำนักงานออกใบเสร็จรับเงินในการชำระค่าปรับให้แก่หน่วยบริการที่ถูกสั่งปรับไว้เป็นหลักฐาน ค่าปรับที่ได้รับชำระจากหน่วยบริการให้นำส่งเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เมื่อครบกำหนดระยะเวลาชำระค่าปรับตามคำสั่งลงโทษปรับทางปกครอง ถ้าหน่วยบริการที่ถูกสั่งปรับยังไม่นำค่าปรับมาชำระให้ถูกต้องครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนด ให้สำนักงานมีหนังสือแจ้งเตือนให้หน่วยบริการที่ถูกสั่งปรับนำค่าปรับมาชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเตือน

เมื่อครบกำหนดเวลาให้นำเงินมาชำระตามหนังสือแจ้งเตือน ถ้าหน่วยบริการที่ถูกลงโทษปรับไม่ชำระหรือชำระค่าปรับทางปกครองไม่ครบถ้วน ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับคดีทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับต่อไป

ในกรณีที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ดำเนินการบังคับตามคำสั่ง ให้เลขาธิการ สปสช. มีอำนาจฟ้องดีต่อศาลปกครองเพื่อบังคับชำระค่าปรับในการนี้ ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคำสั่งให้ชำระค่าปรับนั้นชอบด้วยกฎหมายก็ให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาและบังคับคดีให้มีการยึดหรืออายัทรัพย์สินขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าปรับได้

สำหรับหน่วยบริการที่ได้รับคำสั่งลงโทษปรับทางปกครอง หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวให้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ทั้งนี้ หลักเกณฑ์วิธีการอุทธรณ์และวิธีพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้ไปตามข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการอุทธรณ์และวิธีพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์

หมวด 2 การเพิกถอนการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ ในกรณีที่การกระทำผิดของหน่วยบริการตามมาตรา 58 และมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เป็นการกระทำผิดร้ายแรงหรือเกิดซ้ำหลายครั้ง ให้เลขาธิการ สปสช. รายงานต่อคณะกรรมการควบคุมฯ เพื่อพิจารณาดำเนินการสั่งเพิกถอนการขึ้นทะเบียนของหน่วยบริการ

การกระทำผิดร้ายแรงหรือเกิดซ้ำหลายครั้ง ซึ่งจะต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนการขึ้นทะเบียนของหน่วยบริการนั้น ให้คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานคำนึงถึงปัจจัย ดังต่อไปนี้ 1. ความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้รับบริการเสียหายหรืออาจได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือทุพลภาพอย่างถาวรหรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต 2. ผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของผู้มีสิทธิได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ 3. ประวัติการกระทำความผิด (ก) ความถี่ของการกระทำความผิด (ข) ประวัติการถูกลงโทษปรับทางปกครอง

สำหรับการออกคำสั่งเพิกถอนการขึ้นทะเบียนของหน่วยบริการ ให้คณะกรรมการควบคุมฯ ออกคำสั่งเป็นหนังสือและแจ้งให้หน่วยบริการนั้นทราบ

ทั้งนี้ หน่วยบริการที่ได้รับคำสั่งเพิกถอนการขึ้นทะเบียน หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวให้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โดยหลักเกณฑ์ วิธีการอุทธรณ์และวิธีพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้ไปตามข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการอุทธรณ์และวิธีพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์

อ่านข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

Attach Files