ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมฟ้าสีรุ้ง 1 ใน 16 องค์กรภาคประชาสังคมด้านเอชไอวีในชุมชน ยื่นจดทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านในระบบบัตรทอง ดูแลกลุ่มเป้าหมายในชุมชนให้ตรวจวินิจฉัย-รักษาเร็วขึ้น ตามเป้าหมายยุติปัญหาเอชไอวีภายในปี พ.ศ. 2573 ระบุ การเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบฯ เป็นกลไกที่ทำให้เกิดความยั่งยืน


นายธีรศักดิ์ ประสานพิม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักระบบบริการสุขภาพ พื้นที่ 2 สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า สมาคมฟ้าสีรุ้งเป็น 1 ใน 16 องค์กรภาคประชาสังคมด้านเอชไอวีในชุมชนที่เข้ายื่นจดทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวีในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของสมาคมฯ ที่ต้องการยุติปัญหาเอชไอวีในประเทศไทยภายใน พ.ศ. 2573

อย่างไรก็ดี การให้คนในชุมชนลุกขึ้นมาจัดบริการเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย จำเป็นจะต้องพัฒนาทั้งองค์ความรู้ ความสามารถ เพราะมีส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ เวชกรรม และเภสัชกรรม เมื่อเกิดการพัฒนาแล้ว เป้าหมายต่อไปคือจะต้องสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กร ซึ่งการขึ้นทะเบียนเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ในมาตรา 3 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 นั้นจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะทำให้องค์กรมีความยั่งยืนมากขึ้น

นอกจากนี้ สมาคมฟ้าสีรุ้งก็ได้มีการจัดตั้งเป็นคลินิกเทคนิคการแพทย์ ให้บริการตรวจวินิจฉัยเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงบริการด้านสุขภาพจิต และการคัดกรองวัณโรคร่วมด้วย

“สิ่งที่ผู้ป่วยจะต้องเจอคือการตีตรา ซึ่งอาจจะเกิดจากความรู้หรือไม่รู้ อย่าลืมว่ากลุ่มประชากรที่เราทำงานด้วยค่อนข้างเปราะบาง บางครั้งแค่การใช้คำเรียกก็สามารถสร้างความไม่สบายใจให้แก่ผู้รับบริการได้ รวมไปถึงระยะเวลาให้บริการกับวิถีชีวิตผู้รับบริการ บางครั้งไม่สอดคล้องกัน จะเห็นได้ว่าคลินิกชุมชนที่เปิด นอกเหนือจากฟ้าสีรุ้งแล้วยังมีที่อื่นๆ ที่เปิดเหลื่อมกับเวลาราชการเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ที่จะเข้ามารับบริการ ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรชุมชนและองค์ภาครัฐในการลดช่องว่างในระบบสาธารณสุข” นายธีรศักดิ์ ระบุ

นายธีรศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองนั้น จะมีหลักๆ 3 ด้านจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แก่ 1. ด้านการบริหารจัดการ 2. ด้านบุคลากรที่จะต้องให้บริการ และ 3. ระบบที่สามารถจะให้บริการได้ ฉะนั้นก่อนขึ้นทะเบียนก็จะต้องมีการประเมินก่อนว่าในแต่ละองค์กรนั้นสามารถผ่านมาตรฐานในแต่ละด้านได้มากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาในการให้บริการส่วนหนึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นการจ่ายแยกชุดบริการตามงบประมาณที่ได้รับ ซึ่งในบางครั้งผู้รับบริการ 1 คนอาจจะสามารถเบิกได้เพียง 2 ชุดบริการ

นอกจากนี้ การทำงานในรูปแบบเดิมจะเป็นการทำงานตามโครงการ ซึ่งจะมีระยะเวลากำหนด เช่น สามารถทำตัวชี้วัดได้ตั้งแต่เดือน พ.ย.-ก.ย. แต่การให้บริการจริงจะเริ่มทำตั้งแต่เดือน ต.ค. ที่เป็นช่วงต้นปีงบประมาณ ฉะนั้นช่องว่างในส่วนนี้ก็จะไม่สามารถเบิกจ่ายได้ แต่ถ้าหากขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ได้ก็อาจจะช่วยลดปัญหาได้ด้วยการเบิกได้ตามรายการที่ให้บริการครบปีงบประมาณ ส่งผลให้มีระยะเวลาการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อระยะเวลาการทำงานมีมากขึ้น และจำนวนเป้าหมายไม่ได้โดนจำกัดด้วยรูปแบบโครงการ ทำให้การเข้าถึงของผู้รับบริการมากขึ้น เมื่อสามารถให้บริการได้มากขึ้นก็จะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศได้ เพราะผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีจะสามารถทราบสถานะผลเลือดได้ และเมื่อรู้เร็วก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น

“อยากจะให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนองค์การต่างๆ ให้สามารถเข้าสู่ระบบการขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ให้ได้มากขึ้น เพราะลำพังฟ้าสีรุ้งเองทำงานในทั้ง 11 จังหวัดอาจจะไม่เพียงพอ เพราะกลุ่มเป้าหมายกระจายตัวอยู่ทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดหลักๆ ที่ยังพบอัตราการติดเชื้อค่อนข้างสูง ฉะนั้นถ้ากลไกองค์กรชุมชนเองสามารถเป็นส่วนหนึ่งในระบบสุขภาพของประเทศได้ และมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและองค์ชุมชนร่วมกัน ผมว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2573 ไม่ไกลแน่นอน” นายธีรศักดิ์ กล่าว