ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ประเทศไทย" ติดอันดับ 27 ของโลก"มีความคุ้มค่าด้านระบบดูแลสุขภาพ"จาก 56 ประเทศ ดีขึ้นจากปีก่อน 14 อันดับ ชี้พัฒนาก้าวกระโดดมากที่สุดด้าน "บิ๊กตู่" สุดปลื้มไทยถูกเลื่อนอันดับ ระบุ "องค์การอนามัยโลก" ชื่นชมประเทศไทย เป็นต้นแบบ-แหล่งเรียนรู้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างเข้มแข็ง

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 61 ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าสำนักข่าวบลูมเบิร์กได้จัดทำดัชนีประสิทธิภาพระบบสุขภาพ (Health Care Efficiency Index) เพื่อจัดอันดับประเทศที่มีความคุ้มค่าด้านระบบดูแลสุขภาพ โดยคำนวณเปรียบเทียบระหว่างค่าใช้จ่ายกับอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนในประเทศล่าสุดปี พ.ศ.2561 พบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลกจาก 56 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2560 ซึ่งอยู่ในอันดับ 41 หรืออันดับดีขึ้นมากถึง 14 อันดับ นับเป็นประเทศที่สามารถพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมากที่สุดในดัชนีนี้โดยค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพต่อประชากร 1 คนนั้น ลดลงอยู่ที่ 219 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7,086 บาทและอายุเฉลี่ยของประชากรไทยในปีนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็น 75.1 ปี

นอกจากนี้ในรายงานยังระบุด้วยว่าเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก ทั้งนี้หากจัดอันดับภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ตามหลังฮ่องกงสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียไต้หวัน นิวซีแลนด์ และจีน สำหรับประเทศที่มีดัชนีประสิทธิภาพระบบสุขภาพปัจจุบันที่ดีที่สุด 5 อันดับ คือ ฮ่องกง รองลงมาคือ สิงคโปร์ สเปน อิตาลี และเกาหลีใต้ โดยฮ่องกงมีค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพต่อประชากร 1 คนที่ 2,222 ดอลลาร์ หรือประมาณ 71,900 บาท และมีอายุคาดเฉลี่ยที่ 84.3 ปี

ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิดโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานแล้วว่า สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้เปิดเผยข้อมูลดัชนีความมีประสิทธิภาพด้านระบบดูแลสุขภาพของโลกปี 2018 โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 จากทั้งหมด 56 ประเทศ ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในอันดับ 41 ถึง 14 อันดับและนับเป็นประเทศที่เลื่อนอันดับมากที่สุดในครั้งนี้

"นายกฯ พึงพอใจการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของไทย จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพต่อคนลดลงถึงร้อยละ 40 คิดเป็น 219 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7,086 บาท ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 75.1 ปี จากเดิมที่ 74.6 เมื่อปีที่ผ่านมา"

ทั้งนี้ การจัดอันดับดังกล่าวพิจารณาจาก 1) ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพเช่น การรักษาพยาบาล การป้องกันโรคการวางแผนครอบครัว กิจกรรมด้านโภชนาการ การรักษาฉุกเฉิน เป็นต้น 2)อายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากรในประเทศที่ไม่ต่ำกว่า 70 ปี 3) GDP ต่อหัวมากกว่า 5,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 162,000 บาทต่อปี และ 4) ประเทศที่มีประชากรไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน

นายกฯ ยังกล่าวด้วยว่า องค์การอนามัยโลกชื่นชม ประเทศไทยว่า เป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเห็นว่าเป็นระบบที่ยั่งยืนเพราะสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าจะยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2559-2568) ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) การบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) การศึกษา วิชาการ และงานวิจัย (Academic Hub) ที่เกี่ยวกับสุขภาพ และการเป็นศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) ขณะเดียวกันประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีผู้ใช้บริการทางการแพทย์จำนวนมาก เพราะไทยมีจุดแข็งหลายประการ เช่น ค่ารักษาพยาบาลไม่สูงมาก การบริการดี มีจำนวนโรงพยาบาลมาตรฐานมาก และการสนับสนุนอย่างจริงจังของภาครัฐ เป็นต้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้รับรายงานด้วยว่า Wall Street Journal สื่อสายเศรษฐกิจที่นักลงทุนทั่วโลกสนใจติดตามข้อมูลจำนวนมาก ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับประเทศไทย โดยระบุว่าแม้ในช่วง 20 ปีก่อน ไทยจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตลาดหุ้น และเงินบาทไทย มีแนวโน้มสดใส รวมทั้งกำลังกลายเป็นประเทศที่มีสถานะเป็นผู้ให้ทุน มากกว่าที่จะขอรับทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 24 กันยายน 2561