ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภายหลังวันที่ 2 พ.ค. 2565 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติเห็นชอบ “ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และแผ่นรองซับการขับถ่าย” ให้กลายเป็นสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่ครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพ ผ่านกลไกที่เรียกว่า “กองทุนสุขภาพตำบล”

สำหรับสิทธิประโยชน์นี้ จะเป็นการเข้ามาช่วยดูแลผู้สูงอายุ ติดบ้าน ติดเตียง รวมถึงผู้พิการ และผู้มีปัญหากลั้นขับถ่าย ด้วยการให้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับในจำนวนคนละ 3 ชิ้นต่อวัน อันจะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปก่อนหน้าที่บอร์ด สปสช. จะบรรจุลงในชุดสิทธิประโยชน์ พบว่าท้องถิ่นหนึ่งกลับมีการดำเนินงานในประเด็นดังกล่าวมาอยู่ก่อนหน้า ผ่านนวัตกรรมที่เรียกว่า ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ซักได้ ในเรื่องนี้ “The Coverage” จึงขออาสาพาลงพื้นที่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อพูดคุยกับ ไพลิน ตั้งศรีวงศ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการด้านปฐมภูมิและองค์รวม โรงพยาบาลวังทอง ผู้ที่เป็นกำลังหลักในการดำเนินโครงการนี้

ปี 2560 เฟ้นหาวิธีให้ผู้สูงอายุมี ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ใช้

ไพลิน บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการดังกล่าว มาจากการทำงานดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ผ่านกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่แล้ว ทำให้ได้เห็นถึงกรณีของการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องของการขับถ่ายไม่สะดวก กลั้นอุจาระ ปัสสาวะ ไม่ได้

แน่นอนว่าหากผู้ป่วยต้องอยู่ในสภาพดังกล่าว ก็จะยิ่งทำให้สุขภาพย่ำแย่ลง เนื่องจากความสะอาด ยิ่งไปกว่านั้นผู้ป่วยเหล่านี้เองก็ไม่ได้มีฐานะการเงินที่ดีมากนัก อย่างไรก็ตาม ประเด็นแรกที่พบคืองบประมาณจากกองทุน LTC ที่ใช้ดูแลผู้สูงอายุนั้น ไม่ได้มีรายละเอียดสำหรับการจัดซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่เลย

เมื่อเงินไม่ค่อยจะมี ในขณะที่การซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่ก็ใช้เงินหลายบาท ก็เลยนึกย้อนไปถึงตอนลูกยังเด็ก ที่สมัยนั้นไม่ได้ใช้ผ้าอ้อมสำหรับเด็กให้กับลูก แต่เป็นกางเกงสำหรับเด็กที่สามารถกันปัสสาวะซึมได้ เลยมีไอเดียว่าน่าจะนำออกมาทำได้ เพียงแต่ขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น” เธอเล่าถึงหลักคิด

เมื่อได้ไอเดียที่ต้องการแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมากลายเป็นเรื่องของวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ในการผลิต ซึ่งในประเด็นนี้ยังมีความโชคดีที่เธอได้รู้จักกับช่างตับเย็บรายหนึ่ง ที่ยินดีจะช่วยผลิต “ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ซักได้” นี้ให้เกิดขึ้น

ภายหลังขั้นตอนของการเฟ้นหาวัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสมในระยะเวลาร่วมเดือนจบลง สิ่งที่ได้ออกมาคือผ้าร่มชนิดกันน้ำ (ลักษณะเดียวกันกับที่ใช้ทำร่มกันแสง UV) และผ้าขนขูดที่มีคุณสมบัติซับน้ำได้ดี เป็นตัวจบเกม

ถัดจากนั้นจึงเดินหน้าเข้าสู่ขั้นตอนของการตัดเย็บและทดลอง เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีของเหลวรั่วซึมออกมา แต่กลับพบปัญหาอีกว่าปริมาณปัสสาวะของผู้ใหญ่นั้นมีมากกว่าเด็ก ในขณะที่กางเกงสามารถรองรับได้เพียง 200 cc เท่านั้น ทางทีมผู้พัฒนาจึงนึกไปต่อถึงผ้าอนามัย ด้วยการปรับใช้แผนรองซับเพิ่มเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง จนสามารถรองรับของเหลวได้ถึง 300 cc แต่ไม่เพิ่มมากกว่านี้ด้วยเกรงว่าผู้ป่วยอาจเกิดความไม่สบายตัวระหว่างสวมใส่ เนื่องจากความหนาของผ้าอ้อมนี้

ไพลิน อธิบายต่อไปว่า เมื่อกระบวนการผลิตเสร็จสิ้นและผ่านการนำไปทดลองใช้ ก็ได้มีการปรับเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ป่วยมากที่สุด โดยที่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่แบบซักได้นี้จะมีทั้งรุ่นหนาและรุ่นบาง ใช้งานโดยดูจากปริมาณปัสสาวะผู้ป่วย หากผู้ป่วยปัสสาวะมากในช่วงกลางวันก็จะให้ใช้แบบหนา ขณะที่แบบบางอาจไว้ใช้ตอนกลางคืน หรือหากผู้ป่วยบางรายไม่ได้ปัสสาวะมากในช่วงกลางคืน ก็อาจจะใส่เฉพาะกางเกงได้

“เราก็เดินหน้าทำแจกคนไข้ โดยรายไหนที่มีความประสงค์ใช้ ก็ให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เลือกดูขนาดให้เหมาะสม เพราะเรามีขนาดตั้งแต่ S ถึง XL ซึ่งก็จะมีสายคาด และแผ่นตีนตุ๊กแกเพื่อให้ปรับใส่ได้สบาย และกระชับขึ้น โดยเราปรับไปกว่า 6-7 ครั้งจนได้ออกมาแบบนี้ และให้ช่างที่ออกแบบเป็นคนเย็บเลย ฉะนั้นหากมีหน่วยงานใดที่สนใจ ก็สามารถสั่งซื้อไปได้ และจำให้ช่างได้มีรายได้ด้วย” เธอ ระบุ

ปี 2562 ‘ผ้าอ้อมซักได้ถูกแจกจ่ายในอำเภอ

พยาบาลรายนี้อธิบายต่อถึงผ้าอ้อมผู้ใหญ่ซักได้ ซึ่งจะแจกให้ผู้ป่วยรายละ 4 ชุด เอาไว้สำหรับใช้สลับ โดยผ้าอ้อมผู้ใหญ่ซักได้นี้จะสามารถใช้งานได้ถึง 3 ปี แต่หากผู้ป่วยมีปริมาณปัสสาวะเพิ่มก็สามารถขอได้ ถ้ายังมีเหลือในคลัง ซึ่งหากมีงบประมาณเหลือก็จะมีการเตรียมเผื่อเอาไว้ โดยต้นทุนที่ใช้ในการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่ซักได้นี้ จะตกอยู่ที่ชุดละเกือบ 1,000 บาท มีอายุการใช้งานได้มากถึง 3 ปี

ไพลิน ระบุว่า การขอรับผ้าอ้อมผู้ป่วยแบบซักได้นั้น จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เช่น ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการขับถ่าย มีปัญหาเรื่องการกลั้นปัสสาวะ อุจาระ หรือเป็นผู้ที่ใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่อยู่แล้ว แต่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งงบประมาณจากกองทุน LTC ที่เขียนไว้ตามแผนก็ไม่สามารถสนับสนุนให้ได้ทั้งปี ตัวอย่างว่าบางรายต้องใช้วันละ 3 ชิ้น หรือตกเดือนละ 90 ชิ้น ก็จะกลายเป็นเงินจำนวนมาก ดังนั้นไพลินย้ำว่า หากญาติที่มีความประสงค์ก็สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ รพ.สต. หรือ Care Manager ในพื้นที่ได้ โดยจะมีการคัดเลือกผู้ป่วย หากตรงตามหลักเกณฑ์เจ้าหน้าที่ก็จะมาเบิกไป พร้อมทั้งสอนวิธีการใช้งาน และติดตามประเมินผล

“ต้องเข้าใจว่ามันเป็นงบประมาณที่จะนำไปซื้อ ซึ่งเราก็จะมีงบบางส่วนที่ไม่เยอะ ซื้อได้ทีละ 1-2 แสนบาท แต่คนไข้ทั้งอำเภอมีเป็นร้อยคน เราจึงไม่สามารถที่จะซื้อแจกให้ได้ทุกคน” เธอให้เหตุผล

ดังนั้นหากเปรียบเทียบกับผ้าอ้อมแบบใช้แล้วทิ้ง การใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่แบบซักได้จึงดูจะเป็นตัวเลือกที่ประหยัดกว่า โดยหากคำนวนจากราคาการซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูปทั่วไป แบบใช้แล้วทิ้ง ผืนละ 13 บาท ใช้วันละ 4 ชิ้น คิดเป็นเงิน 52บาท หรือเดือนละ 1,560 บาท ค่าใช้จ่ายต่อปีก็จะอยู่ที่ 18,720 บาท แต่หากใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่แบบซักได้ ก็จะประหยัดเงินค่าใช้จ่ายไปได้ถึง 15,512 บาท

มากไปกว่านั้นการใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ซักได้นี้ ยังจะช่วยลดปัญหาขยะไปได้มาก โดยไพลินเล่าว่า เธอได้มีโอกาสพูดคุยกับทางสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาจากขยะจากผ้าอ้อมทั่วไป ที่ถูกทิ้งกลายเป็นขยะตามริมคลองหรือในแม่น้ำ ซึ่งขยะเหล่านี้ไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการเผา

เมื่อเป็นเช่นนั้น ไพลินจึงได้เสนอนวัตกรรมผ้าอ้อมซักได้นี้ต่อนายอำเภอในช่วงเวลาดังกล่าว และได้รับคำตอบเป็นการอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมกว่าแสนบาท เพื่อใช้สำหรับจัดซื้อและจัดทำผ้าอ้อมผู้ใหญ่ซักได้นี้

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือการช่วยลดปริมาณขยะจากผ้าอ้อมสำเร็จรูป จากที่มีน้ำหนักชิ้นละประมาณ 1,200 กรัม จำนวน 1,440 ชิ้น ก็คิดเป็นน้ำหนักขยะที่ลดได้ถึง 1.7 ตันเลยทีเดียว

ในส่วนประเด็นของการบรรจุผ้าอ้อมผู้ใหญ่ลงในชุดสิทธิประโยชน์ ผ่านกองทุนสุขภาพตำบล เธอเชื่อว่าอาจต้องรอดูนโยบายที่ชัดเจนอีกครั้ง ว่าจะสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง และเมื่อมีข้อมูลออกมาแล้วจึงจะเกิดการขับเคลื่อนในเรื่องนี้อีกครั้ง ซึ่งทั้งหมดอยู่บนโจทย์ที่จะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วยด้วย ว่าจะเลือกใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่แบบใด