ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดข้อเสนอแพทย์จุฬาฯ วางระบบลงทะเบียนเตียงไว้ส่วนกลาง จัดตั้งเป็น "ศูนย์แอดมิท" ติดตามผู้ป่วยได้ว่าอยู่จุดใด เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเตียง ตรวจสอบค่าใช้จ่ายได้ในภายหลัง


รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ The Coverage ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาระบบการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นระบบที่ให้โรงพยาบาลรายงานเข้ามาในแต่ละวัน เช่น มีอยู่กี่เตียง ว่างแล้วกี่เตียง เป็นต้น หากแต่ส่วนกลางจะไม่รู้ว่าผู้ป่วยรายไหนอยู่ที่เตียงใด หรือผู้ป่วยรายนั้นมีการขยับไปอยู่ที่จุดไหนแล้ว

รศ.นพ.จิรุตม์ เสนอว่า ควรจัดให้มีการลงทะเบียนเตียงหรือคล้ายกับเป็น "ศูนย์แอดมิท" โดยให้มีหมายเลขเตียงจากแต่ละโรงพยาบาลมาลงทะเบียนไว้กับส่วนกลาง เมื่อมีผู้ป่วยเข้ามาก็จะลงทะเบียนจับคู่เข้ากับเตียง เพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยรายนั้นอยู่ที่เตียงเบอร์อะไร หรือถ้ามีการขยับเตียงผู้ป่วย เช่น จากเตียงสีเขียวไปเป็นสีเหลืองหรือสีแดง ทางโรงพยาบาลก็แจ้งมาที่ศูนย์ว่ามีการขยับไปอยู่จุดใด

"เราจะรู้ความเคลื่อนไหวของคนไข้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนจัดการเตียงช่วงวิกฤต เมื่อคนไข้ตรวจเจอเชื้อวันแรกก็ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ และเราจะติดตามคนไข้ได้ตลอดว่าอยู่ Home Isolation หรือถูกส่งไปโรงพยาบาลสนาม ย้ายเข้าโรงพยาบาลใหญ่ หรือถูกส่งต่อข้ามโรงพยาบาล เราจะเห็นเส้นทางต่อเนื่องของคนไข้" รศ.นพ.จิรุตม์ ระบุ

รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวอีกว่า แนวคิดนี้ได้เสนอขึ้นมาภายหลังจากที่ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการตอบสนองของระบบสุขภาพต่อโควิด-19 ให้กับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งได้ศึกษาข้อมูลจากหลายแห่งและนำมาวิเคราะห์ถึงช่องว่างที่ควรจะต้องดำเนินการ เป็นที่มาในการเสนอระบบลงทะเบียนเตียงไว้คู่กับระบบการลงทะเบียนผู้ป่วย โดยใช้เลขบัตรประชาชนเป็นตัวติดตาม

"ระบบนี้เป็นระบบเดียวกันกับที่ในโรงพยาบาลทำกันอยู่แล้ว ติดตามข้อมูลว่าคนไข้เข้ามาแล้วไปอยู่ที่วอร์ดไหน เตียงไหน รวมถึงย้ายหรือส่งต่อไปไหน เพียงแต่เราขยายแทนที่จะเป็นการทำของ 1 โรงพยาบาล กลายเป็นการรวมใน 1 โซน เช่น โรงพยาบาลทั้งหมดใน กทม. ที่ให้ระบบข้อมูลเป็นแบบเดียวกัน เพื่อติดตามประสิทธิภาพการใช้เตียง" รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าว

รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวอีกว่า การลงทะเบียนและติดตามตั้งแต่ต้นนี้ ยังจะมีประโยชน์ในการตรวจสอบค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นตามมาทีหลัง เนื่องจากผู้ป่วยรายหนึ่งจะอยู่หลายที่พร้อมกันไม่ได้ แต่หากใช้วิธีเดิมที่เพียงแค่รายงานจำนวนเตียง ก็จะมีข้อจำกัดว่าตกลงแล้วผู้ป่วยอยู่จุดใด ดังนั้นเราควรที่จะมาออกแบบระบบฐานข้อมูลในการติดตามผู้ป่วยระยะยาว (tracing)

รศ.นพ.จิรุตม์ ยังกล่าวด้วยว่า ความจริงแล้วการเริ่มทำนั้นไม่ได้ยาก และความสามารถด้านไอทีปัจจุบันก็สามารถทำระบบข้อมูลนี้ได้อยู่แล้ว เพียงแต่อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่ ซึ่งความท้าทายจะอยู่ที่การบูรณาการ เพราะหน่วยงานที่จะเข้ามาทำในแต่ละจุดนั้นอยู่กันคนละที่คนละทาง อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญที่สุดจะอยู่ที่ระบบจ่ายเงิน นั่นก็คือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมบัญชีกลาง รวมถึงสำนักงานประกันสังคม

"เชื่อว่าสามารถทำได้ถ้าเราไปผูกเรื่องนี้ไว้กับระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล กับอีกส่วนหนึ่งคือต้องทำให้ข้อมูลมันกระชับด้วย เพราะปกติหน่วยงานภาครัฐชอบขอข้อมูลเยอะเกินจำเป็น ทำให้โรงพยาบาลไม่อยากให้ความร่วมมือเพราะเป็นภาระเขามากเกินไป ดังนั้นก็ควรขอข้อมูลเฉพาะเท่าที่จำเป็น ก็เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้" รศ.นพ.จิรุตม์ ระบุ