ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดินหน้าขยาย “ดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวในชุมชน” วางระบบการดูแลที่เป็นมาตรฐาน-ต้องไม่ต่างจาก Hospitel เตรียมเสนอพิจารณาให้มีกฎหมายรองรับ ด้าน "สปสช." พร้อมหนุนกลไกเบิกจ่าย แยกค่าบริการเพื่อความคล่องตัว


นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เนื่องจากขณะนี้เราเจอผู้ป่วยโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยอัตราผู้ป่วยครองเตียงเพิ่มสูงขึ้นหนึ่งหมื่นรายภายใน 1 เดือน ขณะที่ผู้ป่วยวิกฤตมีจำนวนถึง 400 รายแล้ว ทำให้เตียงผู้ป่วยไม่พอ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแล ซึ่งตั้งแต่เดือนเมษายนที่มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่แต่ละวันเริ่มขยับขึ้นเป็นหลักพัน จึงต้องมีการจัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่บ้าน (Home Isolation) และการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชน (Community Isolation)

ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้เตรียมแนวทางและจัดทำเกณฑ์การดูแล Home Isolation ไว้แล้ว ซึ่งโรงพยาบาลราชวิถีนำร่องดูแลผู้ป่วยด้วยแนวทางนี้ 18 ราย โดยความยินยอมของผู้ป่วย ซึ่ง รพ.ได้มอบที่วัดไข้ วัดค่าออซิเจนปอดด้วยการออกกำลังกาย เอกซ์เรย์ปอดในรายที่จำเป็น และมีระบบติดตาม ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่กลับเข้ารักษาที่ รพ.เพียง 2 ราย ขณะที่ปัจจุบันใน รพ.สังกัดกรมการแพทย์มีผู้ป่วยในระบบ Home Isolation แล้วเกือบ 100 ราย

สำหรับคนไข้กลุ่มนี้นอกจากเป็นผู้ป่วยที่รอการรับเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแล้ว ยังเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาที่ รพ.มาแล้ว 10 วัน จนมีอาการดีขึ้น ไม่ต้องใช้ออกซิเจน และสามารถกลับไปดูแลต่อที่บ้านจนครบ 14 วันได้ โดยในส่วนผู้ป่วยที่รอเข้ารักษาที่โรงพยาบาลนั้น เรายอมรับว่ามีความเสี่ยงอยู่ ทั้งกับผู้ป่วยและชุมชน เพราะผู้ป่วยที่อยู่บ้านอาจมีอาการแย่ลงได้หากไม่ได้รับการดูแลที่ดี ขณะเดียวกันหากไม่มีการแยกผู้ป่วยดูแลได้จริงก็อาจทำให้เชื่อแพร่กระจายเชื้อได้ แต่ด้วยสถานการณ์เตียงเต็ม หมอ พยาบาล ที่เหนื่อยแล้ว ทำให้ต้องนำระบบนี้มาช่วย

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ในการดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว ในส่วนของ Home Isolation ในทางกฎหมายรองรับไม่เป็นปัญหา เนื่องจากเป็นการดูแลที่ผู้ป่วยลงทะเบียนกับ รพ. โดยตรง แต่ในส่วนของ Community Isolation ทราบว่าทาง กทม. เตรียมออกประกาศเพื่อเปิดช่องทางนี้อยู่ อย่างไรก็ตามในวันที่ 12 กรกรฏาคม 2564 กรมควบคุมโรค จะนำการจัดระบบ Community Isolation เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติเพื่อพิจารณาเห็นชอบและให้มีกฎหมายรองรับในการดำเนินการ

พญ.นิตยา ภานุภาค กรรมการและเลขานุการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมเอชไอวี (IHRI) กล่าวว่า ช่วงเริ่มต้นสถานการณ์โควิด-19 เราอาจเคยได้ยินตัวเลข 80 : 15 : 5 นั่นคือสัดส่วนกลุ่มผู้ป่วยโควิดสีเขียว สีเหลือ และสีแดง และปัจจุบันตัวเลขก็ยังเป็นแบบนั้น แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนเตียงรองรับใน รพ.ไม่เพียงพอ ดังนั้นจำเป็นที่เราต้องแยกผู้ป่วยสีเขียวออก เพื่อให้มีเตียงเพียงพอสำหรับผู้ป่วยสีเหลือและสีแดงโดยไม่ต้องรอ จึงต้องมีการจัดทำระบบ Home Isolation และ Community Isolation โดยการสนับสนุนทั้งจากกรมการแพทย์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาต (สปสช.) จะทำให้ระบบมีความพร้อมและเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน ช่วยลดอัตราเสียชีวิตและติดเชื้อได้

ในส่วนของการดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวในชุมชน เป้าหมายคือทำอย่างไรให้มาตรฐานการดูแลไม่ด้อยกว่าที่ Hospitel เพราะโรคนี้ทำให้เกิดภาวะปอดบวมเงียบได้ จึงต้องไม่ใช่แค่การวัดไข้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องวัดค่าออกซิเจน และการเอกซเรย์ปอดที่เป็นการแยกอาการเพื่อดูแล เพราะแต่เดิมผู้ป่วยใช้เวลารอเตียงเพียง 2-3 วัน แต่ปัจจุบันต้องใช้ระยะเวลารอที่นาน อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าต้องทำทั้งหมด แต่เป้าหมายคือให้มีการคัดกรองที่ดี รวมถึงให้มีการนำส่งยารักษามาไว้ในชุมชน เพราะระบบนี้จะเดินหน้าได้เราต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ให้เห็นว่าเราตั้งใจทำระบบนี้ขึ้นเพื่อดูแล ไม่ใช่ทำเพราะไม่มีทางเลือกอื่น ซึ่งจากสายด่วน สปสช. 1330 ที่ได้รับประสานหาเตียง ในจำนวนนี้ 50 รายยินดีเข้าสู่ระบบ Home Isolation และ Community Isolation      

“ผู้ป่วยโควิด-19 ร้อยคน 80 คน เป็นกลุ่มสีเขียวที่อาการไม่รุนแรงและหายเอง แต่ข้อมูลนี้เราคงบอกปากเปล่าไม่ได้ แต่ต้องมีระบบรองรับที่ให้มั่นใจ โดยที่ไม่ต้องเข้ารับบริการที่ดรงพยาบาล เพื่อเก็บกำลังบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยหนัก และจากการทำงานร่วมกับ รพ.ปิยะเวท ที่จับคู่กับ 23 ชุมชน เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิดสีเขียวในชุมชน ทุกคนเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร ซึ่งการเอกซเรย์ปอดเป็นสิ่งจำเป็นในกลุ่ม Community Isolation ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มีไม่มาก รพ.ปียะเวทจึงนำรถมารับผู้ป่วยเพื่อเอกซเรย์ที่ รพ. แทนการใช้รถเอกซเรย์” พญ.นิตยา กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในการสนับสนุนการบริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ตามระบบการดูแลของกรมการแพทย์และกระทรวงสาธารณสุข สปสช.ได้ออกแบบกลไกเบิกจ่ายตาม เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งการจัดระบบ Home Isolation และ Community Isolation สปสช.ได้แยกรายการเบิกจ่ายที่ทำให้เกิดความสะดวก และไม่เป็นภาระโรงพยาบาลที่ต้องทำทั้งหมด เช่น เอกซเรย์ก็แยกจ่ายต่างหาก ในกรณีที่ รพ.ไม่มีรถโมบายยูนิตเข้าไปบริการ ก็สามารถดึงเอกชนร่วมได้ แยกค่าอาหารผู้ป่วย 3 มื้อ เพื่อให้จับมือกับฟู๊เดลิเวอรี่ส่งอาหารผู้ป่วย โดยที่โรงพยาบาลไม่ต้องนำอาหารไปส่งเอง เป็นต้น เพื่อให้ รพ.เน้นที่การรักษาดุแลผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทาง รพ.ปิยะเวท ได้วางแผนระบบบริการ Home Isolation และ Community Isolation ที่เป็นรูปธรรมแล้ว โดยเชื่อมต่อระบบกับชุมชน ซึ่งในโรงพยาบาลแพทย์และพยาบาลจะคอยดูแลผู้ป่วยสีเหลือและสีแดง ส่วนกลุ่มสีเขียวจะดูแลโดยชุมชน ขณะเดียวกัน รพ.ก็ได้เริ่มคัดกรองผู้ป่วยที่รับการรักษาที่ รพ.มา 10 วัน เพื่อให้รับดูแลต่อเนื่องด้วยระบบใหม่นี้ และมีเตียงว่าง ทั้งหมดนี้เพื่อให้ระบบสามารถรอบรับผู้ป่วยได้

“Community Isolation ต้องเกิดจากคนในชุมชน ส่วนเรื่องจะเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลหรือหน่วยงานใดมองว่าไม่ใช่เป็นประเด็น แต่เรื่องนี้คนในชุมชนจะต้องตื่นตัว ซึ่งการสนับสนุนค่าบริการนี้ กองทุนบัตรทองไม่เป็นปัญหา เพียงแต่เราต้องใช้ทุกกลไกที่มีเพื่อทำให้มีระบบที่มีรอบรับดูแลผู้ป่วยโควิดในภาวะวิกฤตนี้ได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว