ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.จับมือ รพ.ปิยะเวท-เครือข่ายองค์กรภาคเอกชน จัดตั้ง "Community Isolation" แก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอเตียงกว่า 1,200 คน และผู้ป่วย PUI ใน 23 ชุมชน เริ่ม 2 ก.ค.เป็นต้นไป


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดการประชุมออนไลน์ร่วมกับโรงพยาบาลปิยะเวท และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2564 ในการจัดตั้ง Community Isolation หรือการดูแลตนเองในระบบชุมชนแก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงกว่า 1,200 คน ที่ยังอยู่ในระหว่างการรอเตียง และกลุ่มผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ในชุมชน 23 แห่ง

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการนำเสนอแนวทางการจัดการ โดยเริ่มจากให้แกนนำ 23 ชุมชนแจ้งข้อมูลผู้ติดเชื้อกับทีมคอมโควิด IHRI (Community COVID Team) เมื่อมีการยืนยันว่ามีการติดเชื้อแล้ว ก็จะมีการบันทึกข้อมูลแล้วส่งลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลปิยะเวท และนัดวันเอกซเรย์ปอด ขณะที่โรงพยาบาลปิยะเวทเมื่อรับผู้ป่วยแล้วก็จัดรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ไปตรวจผู้ป่วยในชุมชนเพื่อวินิจฉัยภาวะปอดอักเสบให้เร็วที่สุดและตรวจซ้ำทุก 3 วัน

ขณะเดียวกันยังมีการประสานศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีความพร้อมจัดหารถเอกซเรย์เพื่อเป็นทางเลือกในกรณีที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก จนทีมของโรงพยาบาลปิยะเวทให้บริการไม่ทัน หลังจากนั้นทีมแกนนำชุมชนและทีมคอมโควิด IHRI จะมีการติดตามประเมินอาการ วัดไข้ วัดระดับออกซิเจนวันละ 1 ครั้งแล้วส่งข้อมูลทุกวัน

นอกจากนี้ยังให้การดูแลเบื้องต้น เช่น ยาฟ้าทะลายโจร ยาลดไข้ จัดอาหาร 3 มื้อ และให้คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวต่างๆ ระหว่างอยู่ใน Community Isolation ส่วนโรงพยาบาลจะประเมินรายวันและทำ telehealth ทุก 3 วัน รวมถึงประสานงานต่างๆ หากมีการเปลี่ยนแผนการดูแล

นพ.วิทิต อรรถเวชกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โรงพยาบาลมีความพร้อมทำงานร่วมกับชุมชนและขอชื่นชมการออกแบบระบบการดูแล ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลปิยะเวทดูแลผู้ป่วยอยู่ประมาณกว่า 2,000 ราย และกำลังเตรียมขยายวอร์ดผู้ป่วยอาการปานกลาง (สีเหลือง) 200 เตียง ในเวลาไม่เกิน 10 วัน และวอร์ดผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) ซึ่งจะเพิ่มทีละโมดูล โมดูลละ 12 เตียง สูงสุด 120 เตียง

อย่างไรก็ดี ในการค้นหาผู้ป่วยจากในชุมชน บางรายอาจมีการไปตรวจด้วยตนเองมาแล้ว แต่โรงพยาบาลต้องขอตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าบางรายตรวจหาเชื้อจากแอนติเจนซึ่งได้ผลเป็น false positive หรือบางรายก็ตรวจจากคลินิกหรือห้องแล็บเอกชนที่ไม่ได้รับรองโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้ผลตรวจไม่มีความน่าเชื่อถือ แต่ถ้าตรวจจากโรงพยาบาลรัฐ ด้วยวิธี RT-PCR ก็จะรับเข้าเป็นผู้ป่วยในเลยโดยไม่ต้องตรวจซ้ำ

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การจัดตั้ง Community Isolation จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป โดยเบื้องต้นแกนนำชุมชนจะเริ่มสำรวจผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อหรือผู้ติดเชื้อในชุมชน และแจ้งให้รถตรวจหาเชื้อเคลื่อนที่ของโรงพยาบาลปิยะเวทมาดำเนินการตรวจให้ในชุมชน

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากกระบวนการทั้งหมด สปสช.จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยสนับสนุนค่าอาหารวันละ 1,000 บาทและค่าอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนตามจริงไม่เกิน 1,100 บาท/ราย รวมทั้งค่าบริหารจัดการอื่นๆและค่ารถ ค่าเอกซเรย์ ค่า SWOP และค่าตรวจ RT-PCR ตามหลักเกณฑ์