ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บนความไม่แน่นอนของสถานการณ์อันยากลำบาก ผู้บริหารที่มี “กึ๋น” เท่านั้น ที่จะนำพาองค์กรข้ามผ่านความปั่นป่วนเหล่านี้ไปได้ นี่จึงนับเป็นความโชคดีของชาว อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ที่อย่างน้อย โควิด-19 ก็มาระบาดในช่วงที่ “ผู้อำนวยการโรงพยาบาล” มีกึ๋น โรงพยาบาลคลองหลวง จ.ปทุมธานี จึงเป็นโรงพยาบาลขนาดกลางที่สามารถจัดระบบ-ระเบียบ การดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (NCDs) ที่จำเป็นต้องได้รับการติดตามอาการและรับประทานยาต่อเนื่อง ทุกวันนี้ โรงพยาบาลคลองหลวง จ.ปทุมธานี มีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเข้ามารับการรักษา 6,966 ราย สิ่งที่ พญ.ชลนิสา รุ่งเรือง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคลองหลวง ทำก็คือ การบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ลดความหนาแน่นในโรงพยาบาล และลดระยะเวลาการรอคอยให้สั้นลง 1. กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังที่มีอาการ “คงที่” ไม่มีภาวะแทรกซ้อน จะมีทีมคลินิกพิเศษโทรไปประเมินอาการเบื้องต้น อาการทางคลินิก ความเสี่ยงเฉพาะโรค ฯลฯ หากอาการ “ปกติ” ก็จะเข้าสู่ระบบรับยา “ช่องทางด่วน” ตามความสมัครใจ 3 ช่องทาง ประกอบด้วย ... ก.จัดส่งยาถึงบ้านโดย รพ.สต. : กรณีนี้ให้ผู้ป่วยแจ้งชื่อไว้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากนั้นโรงพยาบาลคลองหลวงจะส่งยาไปยัง รพ.สต. เพื่อให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดส่งยาพร้อมใบนัดไปให้ ข.จัดส่งยาถึงบ้านโดยไปรษณีย์ : เป็นบริการของโรงพยาบาลคลองหลวงที่ดำเนินการอยู่แล้ว ค.รับยาแบบ Easy Pass ที่ห้องยาของโรงพยาบาล : กรณีนี้แพทย์จะสั่งยาให้เพียงพอในระยะเวลา 3-6 เดือน 2. กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังที่มีอาการ “ไม่คงที่” ยังพบภาวะแทรกซ้อนหรือมีนัดตรวจพิเศษ กรณีนี้ยังสามารถพบแพทย์ได้ตามระบบปกติ หรือใช้ระบบ Line Call โดยมีทีม รพ.สต. ทีม Home Health Care หรือ อสม. อยู่ร่วมกับผู้ป่วยด้วย เมื่อพบแพทย์แล้ว ก็จะจัดส่งยาตามความสมัครใจ 3 ช่องทางต่อไป การบริหารจัดการของ พญ.ชลนิสา ที่ได้ดำเนินการข้างต้น ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่ว่าจะสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว หากแต่ต้องมีภาคีร่วมทางที่เหนียวแน่น นอกจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่คอยช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบเพื่อดูแลประชาชนแล้ว อีกหนึ่งกลุ่มก้อนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จก็คือ สาธารณสุขอำเภอคลองหลวง (สสอ.) เชาวลิต ประเสริฐสุด สสอ.คลองหลวง เล่าว่า สสอ.ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นแกนกลางประสานงานระหว่างโรงพยาบาลคลองหลวงและชุมชน ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการแจกจ่ายยาให้ชาวบ้าน รวมทั้งประสานท้องถิ่นในเรื่องยานพาหนะ วัสดุ อุปกรณ์ งบประมาณต่างๆ มาสู่ รพ.สต. อสม. และ Care giver " จริงๆ แล้วเราส่งยาให้ถึงบ้านงแต่สมัยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ตอนนั้นเราพายเรือส่งยาตามบ้าน พอมีเรื่องโควิด-19 เข้ามา ก็ทำให้เรานำระบบนี้กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง” เชาวลิต ระบุ เชาวลิต เชื่อว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว สิ่งที่จะเป็น New normal ต่อไปคือเรื่องการนัดหมายล่วงหน้าก่อนรับการตรวจ ผ่านระบบคัดกรองหรือแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อลดความแออัดของหน่วยบริการและค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน หากเคสที่ไม่ต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลก็ใช้ระบบการส่งยาแบบนี้เป็น New normal ต่อไป ความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่เป็นของโรงพยาบาลหรือคนใน อ.คลองหลวง เท่านั้น หากแต่ยังเป็นโมเดลที่โรงพยาบาลอื่นสามารถนำไปประยุกต์ได้ เพราะความสำเร็จนี้เอง ถูกยกให้เป็น “New Normal การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชน” ของประเทศไทย นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข (สธ.) และด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงกับต้องลงไปชื่นชมและให้กำลังใจด้วยตัวเอง ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สธ. มีนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาลอยู่แล้ว ยิ่งเกิดสถานการณ์โควิด-19 ก็ยิ่งเห็นความจำเป็นในการปรับระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนของโรงพยาบาลคลองหลวงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีกระบวนการหลายๆ กระบวนการที่เป็นระบบ มีประสิทธิภาพ มีการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์โดยที่ยังรักษาระยะห่างได้ ที่สำคัญคือสามารถคงมาตรฐานการรักษาและมาตรฐานวิชาชีพในการส่งมอบยา หลังจากการส่งมอบยาแล้วยังมีการติดตามประเมินผลอีกด้วย “นโยบายนี้ไม่ใช่การเพิ่มภาระงานแก่บุคลากร แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีการทำงานโดยไม่ลดมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งจากการทำงานที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ทำให้โรงพยาบาลคลองหลวงสามารถลดความแออัดลงได้ 40-50% ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิด-19ผ่านไปแล้ว เราก็จะยังคงประสิทธิภาพแบบนี้ไว้ต่อไป” ดร.ภก.อนันต์ชัย ยืนยัน