ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิจัย HITAP เผยผลการศึกษาหลังมี พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ปี 60 พบโรงพยาบาลเริ่มคุ้นเคยกับการจัดซื้อยาตามกฎหมายใหม่ แต่ยังติดขัดการนำระบบไอทีมาช่วยลดภาระงาน


ภญ.วราวัลย์ จึงศิวะพรพงษ์ นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เปิดเผยว่า หนึ่งในประเด็นปัญหาการจัดซื้อยาของโรงพยาบาล ที่จะต้องผลักดันในระดับนโยบายทั้งจากกรมบัญชีกลาง และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คือการนำระบบสารสนเทศเข้ามาช่วยในกระบวนการจัดซื้อ ซึ่งในบางขั้นตอนไม่สามารถเอาระบบไอทีเข้ามาช่วยได้

ทั้งนี้ หนึ่งในประเด็นปัญหาดังกล่าวคือ การลงรายมือชื่อของเอกสารสัญญา ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้กรรมการต้องลงนามในเอกสารทุกแผ่น แต่ในทางปฏิบัติแล้วมีเอกสารปริมาณมากมายหลายร้อยหน้า ดังนั้นการที่กรรมการจะต้องลงนามทุกแผ่นจึงเป็นภาระอย่างมาก และไม่สามารถนำระบบไอทีมาช่วยในขั้นตอนนี้ได้

"แม้ขณะนี้กรมบัญชีกลางจะรับทราบปัญหา และมีการพูดถึงการลงลายมือชื่อแบบดิจิตัล แต่การแก้ไขกฎหมายใดๆ ก็ยังต้องใช้เวลา ดังนั้นกว่าสถานการณ์ในอนาคตอาจจะดีขึ้น ขณะนี้ก็ยังคงต้องให้กรรมการลงนามในเอกสารทุกๆ แผ่นเหมือนเดิมต่อไป" ภญ.วราวัลย์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นของการเชื่อมต่อระบบไอที ระหว่างโรงพยาบาลกับกรมบัญชีกลาง เพื่อลดภาระงานให้แก่เจ้าหน้าที่ เนื่องจากปัจจุบันนอกจากเจ้าหน้าที่ต้องจัดซื้อผ่านโปรแกรมของโรงพยาบาลแล้ว ยังจะต้องเข้าไปทำในระบบ e-GP ของกรมบัญชีกลาง จึงเหมือนกับต้องทำงานเดียว 2 รอบ ดังนั้นหากสามารถเชื่อมต่อกันได้ก็จะช่วยลดภาระงานด้านเอกสารได้อย่างมาก 

สำหรับประเด็นปัญหาเหล่านี้ เป็นการค้นพบจากการวิจัยในประเด็น "การจัดซื้อยาของโรงพยาบาลภายหลังการบังคับใช้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560: การเปลี่ยนแปลงและการปรับตัว" ซึ่งเป็นการศึกษาผลกระทบและการเปลี่ยนแปลง หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แทนระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535

การศึกษาดังกล่าวยังพบว่า ในช่วงต้นของการบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติมีภาระงานเพิ่มขึ้นทั้งด้านเอกสารและค่าใช้จ่าย ด้วยขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างที่เพิ่มมากขึ้นจาก 13 เป็น 17 ขั้นตอน ทำให้เกิดความไม่มั่นใจ ความกังวลในเรื่องความผิดตามกฎหมายฉบับใหม่ที่รุนแรงมากขึ้น จึงทำให้ไม่ผู้ปฏิบัติงานไม่คุ้นเคย ไม่กล้า และยิ่งทำให้การจัดซื้อยาล่าช้า เสี่ยงที่จะขาดยาชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านไป 1 ปีจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีการอบรมชี้แจงการปฏิบัติจากหลายหน่วยงาน จนผู้ปฏิบัติงานลดความกังวล มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น พร้อมทั้งมีประสบการณ์การจัดซื้อจากปีที่ผ่านมา จึงสามารถปฏิบัติได้รวดเร็วขึ้น และทำให้จัดซื้อยาได้ทันความต้องการมากขึ้น แต่ยังเหลือประเด็นปัญหาในเรื่องของระบบสารสนเทศดังกล่าว