ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสมาคมกายภาพบำบัดฯ เสนอ “ท้องถิ่น” จ้างงานนักกายภาพบำบัด แก้ปัญหารัฐไม่เปิดบรรจุข้าราชการ ชี้โรงพยาบาลเปิดตำแหน่งน้อย สธ.ไม่กระจายกำลังคน กระทบชุมชนเข้าไม่ถึงบริการกายภาพ ผู้ป่วย “บัตรทอง-ประกันสังคม” ไม่ได้รับการดูแล


ผศ.ดร.มัณฑนา วงศ์ศิรินวรัตน์ นายกสมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย และอาจารย์คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันมีหลากหลายวิชาชีพด้านสาธารณสุขเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดตำแหน่งเพิ่มเพื่อบรรจุข้าราชการ หนึ่งในนั้นคือนักกายภาพบำบัด แต่หากที่สุดแล้วมีตำแหน่งไม่เพียงพอจริงๆ ก็ควรหาวิธีการจ่ายเงินหรือซื้อบริการในแบบอื่น

ผศ.ดร.มัณฑนา กล่าวว่า ในกรณีนักกายภาพบำบัดทำงานในชุมชน อาจไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ด้วย ซึ่งในความเป็นจริงคือทุกวันนี้มีนักกายภาพบำบัดอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีการจ้าง ฉะนั้นหากท้องถิ่นใดมีวิสัยทัศน์ในการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยเพื่อไม่ให้กลายเป็นคนพิการและผู้ป่วยติดเตียง คิดว่าท้องถิ่นก็สามารถดำเนินการจ้างได้

“แม้แต่กองทุนฟื้นฟูสุขภาพที่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พยายามเข้าไปสนับสนุนท้องถิ่น ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่สามารถแก้ปัญหาได้” ผศ.ดร.มัณฑนา กล่าว

ผศ.ดร.มัณฑนา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันงานของนักกายภาพบำบัดและความต้องการมีความชัดเจนขึ้น แต่ตำแหน่งตามสายงานกลับยังไม่ชัด โดยกรอบอัตรากำลังในปี 2564 แทบจะไม่มีคำว่านักกายภาพบำบัด ขณะที่การผลักดันให้เกิดกลุ่มงานกายภาพบำบัดในโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาอาจต้องทำให้นักกายภาพบำบัดไปอยู่ในสังกัดอื่นเพื่อสร้างตำแหน่งงานขึ้นมา

“ส่วนตัวกังวลว่านักกายภาพบำบัดรุ่นใหม่ไหลเข้าไปในคลินิกเอกชนและออกไปทำอาชีพอื่น ซึ่งอาจทำให้การบริการไปไม่ถึงชาวบ้านที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) หรือแม้แต่ผู้ที่ใช้สิทธิประกันสังคม หากผู้ป่วยไปโรงพยาบาลแล้วไม่มีนักกายภาพฯก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะขาดสิทธิในการรักษาด้วยทักษะของนักกายภาพบำบัดวิชาชีพ ดังนั้นรัฐต้องจัดการให้มีการบรรจุนักกายภาพบำบัดเข้าไปสู่ปฐมภูมิ หรือชุมชน รวมไปถึงการจัดระบบอื่นๆ เป็นทางคู่ขนานให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชน อย่าให้คนคิดว่าต้องมีกำลังทรัพย์เท่านั้นถึงจะเข้าถึงบริการกายภาพบำบัดได้” ผศ.ดร.มัณฑนา กล่าว

ผศ.ดร.มัณฑนา กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้เมื่อนักกายภาพบำบัดในชุมชนมีจำนวนน้อย ก็ต้องมีการแบ่งหน้าที่ เช่น ถ้ามีนักกายภาพบำบัดเพียงหนึ่งคน นักกายภาพบำบัดจะต้องทำงานอยู่ในแผนกกายภาพบำบัดและวอร์ดเพื่อดูแลผู้ป่วยภายใน รวมไปถึงการเยี่ยมบ้านตามชุมชน นั่นหมายความว่า เมื่อมีกำลังคนน้อย ก็อาจจะไม่ทันในการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะในสังคมผู้สูงอายุ 

สำหรับนักกายภาพในระดับชุมชน งานนอกเหนือจากการฟื้นฟูผู้พิการ นักกายภาพบำบัดควรต้องทำหน้าที่วิเคราะห์ว่าในแต่ละชุมชนมีปัจจัยเสี่ยงในการเจ็บป่วย หรือสภาวะบางอย่างที่แตกต่างกัน โดยอาจจะทำงานร่วมกันกับทีมแพทย์หรือพยาบาล ในการทำงานดังกล่าวจะเป็นลักษณะการทำงานแบบปฐมภูมิ ซึ่งเป็นหน่วยที่ใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด ตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 มาตรา 15 ที่ระบุว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับได้รับบริการสุขภาพปฐมภูมิโดยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ  ซึ่งนักกายภาพบำบัดในงานปฐมภูมิจะมีทั้งงานเยี่ยมบ้านเพื่อรักษาและฟื้นฟูสภาพ ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 

“หน้าที่ของนักกายภาพบำบัดไม่ได้ทำให้โรคหายหรือรักษาโรค แต่นักกายภาพนั้นสามารถทำให้ใครคนใดคนหนึ่งสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เต็มศักยภาพเหมือนที่เขาเคยเป็นหรือควรจะเป็น ไม่ว่าเขาจะประสบอุบัติเหตุ หรือเป็นโรค ทำให้คนในสังคมไม่พิการ และลดภาวะพึ่งพิงได้” ผศ.ดร.มัณฑนา กล่าว

อย่างไรก็ตาม การที่คนในวิชาชีพใดๆ เรียกร้องอะไรในระบบราชการ จำเป็นต้องมีคนในวิชาชีพนั้นๆ เข้าไปร่วมนั่งคณะกรรมการ (บอร์ด) หรือร่วมคิดนโยบายด้วย แต่สำหรับนักกายภาพบำบัดกลับไม่มี ซึ่งทำให้การผลักดันหรือเรียกร้องอะไรเป็นไปได้ยากมาก