ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. ผนึกกำลัง ก.วัฒนธรรม-มหาดไทย-สคอ. ขับเคลื่อนลดอุบัติเหตุ-สร้างความปลอดภัยในช่วง "เทศกาลสงกรานต์" พบสงกรานต์ปี 66 ตาย 264 ศพ - กทม.สูงสุด ขณะที่มีเด็ก-เยาวชนดื่มแล้วขับต่ำกว่า 20 ปีถึง 502 คน เน้นย้ำมาตรการตรวจแอลกอฮอล์ทุกเคสอุบัติเหตุ-ไม่ขายน้ำเมาให้กับเด็ก-เยาวชน ดื่มไม่ขับ-ไม่ขับเร็ว-สวมหมวกนิรภัย


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงข่าว “สงกรานต์วิถีไทย ดื่มไม่ขับ 2567” เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2567 ที่วัดพุทธปัญญา อ.เมือง จ.นนทบุรี เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ร่วมรักษาประเพณีอันดีงามของสงกรานต์แบบไทย สนุกสนานอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน

นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดอันดับความปลอดภัยทางถนนซึ่งล่าสุดประเทศไทยสามารถลดอันดับลงจากอันดับที่ 9 มาอยู่อันดับที่ 18 ของโลก ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายลดเจ็บ-ตายจากอุบัติเหตุบนถนนให้เหลือ 12 คนต่อประชากรแสนคนในปี 2570 โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ที่ต้องเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยทางถนน ดื่มไม่ขับ

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบผู้ดื่มแล้วขับ 4,340 ราย และเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 502 ราย ซึ่ง สสส. ได้สานพลังภาคีเครือข่ายลดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ โดยร่วมกับเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ 100 เครือข่ายทั่วประเทศ รณรงค์ “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” ในจังหวัดต่างๆ เน้นย้ำมาตรการดูแลความปลอดภัยทางถนน ตรวจแอลกอฮอล์ในอุบัติเหตุที่เกิดทุกครั้ง ไม่ขายแอลกอฮอล์ให้กับเด็กและเยาวชน หากพบเด็กเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วขับให้มีการสอบสวนไปถึงร้านค้า และรายงานพฤติกรรมการกระทำความผิดผ่าน “Facebook มูลนิธิเมาไม่ขับ” เพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการลงโทษตามกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืน

"สสส. สนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ขับเคลื่อนป้องกันอุบัติเหตุในพื้นที่อำเภอเสี่ยง 222 อำเภอ เน้นมาตรการ ดื่มไม่ขับ-ไม่ขับเร็ว-สวมหมวกนิรภัย เพราะอุบัติเหตุส่วนใหญ่ เกิดในพื้นที่ชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนตั้งด่านตรวจเตือนในชุมชน ตรวจเตือนพี่น้องในชุมชนไม่ให้ดื่มแล้วขับขี่ สอดคล้องกับข้อมูลของ บ.กลางฯ ที่พบว่า 56% ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ เสียชีวิตใกล้บ้าน รัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร"

"สสส. ได้ผลิตสปอตรณรงค์สื่อสารภายใต้แคมเปญ ‘ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย ดื่มเหล้า เมาถึงสมอง’ สื่อสารถึงแอลกอฮอล์ที่ดูดซึมเข้าร่างกายแม้เพียงไม่นาน ก็ส่งผลต่อสมอง การตัดสินใจ กล้าทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เกิดการคึกคะนอง ใจร้อน ขาดสติ จนนำไปสู่อุบัติเหตุ และการสูญเสีย สงกรานต์ปีนี้ขอฝากถึงประชาชน ผู้ขับขี่ยานพาหนะต้องดื่มไม่ขับ ก่อนออกเดินทางควรวางแผนการเดินทาง พักผ่อนให้เพียงพอ สวมหมวกนิรภัย และคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ร่วมกันลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลให้เป็นศูนย์" นางก่องกาญจน์ กล่าว

น.ส.ปราณิสา เตียวพิพิธพร ผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายและชุมชน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ที่สาธารณรัฐบอตสวานา ได้ประกาศรับรองให้ “สงกรานต์เป็นมรดกโลก” กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้ร่วมกับภาคส่วน ขับเคลื่อนยกระดับวัฒนธรรมไทยให้เป็น Soft Power เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ

พร้อมกันนี้ได้จัดทำแผนรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาร่วมงานถึงด้านความปลอดภัย ดูแลนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน เช่น การไม่คุกคามทางเพศ การเคารพและให้เกียรติ ผู้ที่ไม่ประสงค์จะเล่นสาดน้ำสงกรานต์ ไม่สร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่น ไม่สร้างความวุ่นวายในที่สาธารณะ รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะ และใช้ถนนให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมถึงช่วยสอดส่อง หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ในกรณีพบเห็นผู้ที่ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม

นายวิทยา จันทน์เสนะ ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-17 เม.ย. 2566 พบว่าเกิดอุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 2,208 คน ผู้เสียชีวิต 264 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดคือ จ.เชียงราย 68 ครั้ง ผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดคือ กรุงเทพฯ 22 ราย สาเหตุจากขับรถเร็ว 38.22% ดื่มแล้วขับ 23.97% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 80.46%

สำหรับนโยบายและมาตรการคุมเข้มเตรียมพร้อมรับมืออุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ 2567 ภายใต้การรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย  เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” มีแนวทาง และมาตรการ แบ่งการดำเนินงานเป็น 4 ช่วง 1. ช่วงรณรงค์และประชาสัมพันธ์ 2. ช่วงดำเนินการก่อนควบคุมเข้มข้น 3. ช่วงควบคุมเข้มข้น 4. หลังควบคุมเข้มข้น จึงได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพื่อควบคุมและลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งด้านคน ถนน ยานพาหนะ และสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด เกิดความปลอดภัยในการเดินทางทุกมิติ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด และกรุงเทพฯ บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนนำมาตรการไปเป็นแนวทางดำเนินงานอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง

ด้าน นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า การสื่อสารประชาสัมพันธ์ และรณรงค์ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้มีการเตรียมความพร้อมและเพิ่มความระมัดระวัง มีสติในการขับขี่ พร้อมประเมินความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งความเสี่ยงที่จะพบเจอ ได้แก่ รถไม่พร้อม คนไม่พร้อม สภาพล้อ-ยางไม่สมบูรณ์ ขาดประสิทธิภาพยึดเกาะถนน หากมีการเล่นน้ำก็จะทำให้คนขับมองไม่เห็นทาง ถนนลื่น ความเสี่ยงนั่งท้ายกระบะ ไม่สวมหมวกนิรภัย ดื่มแล้วขับ ขับเร็ว หลับใน ฯลฯ

"ทาง สคอ. ได้เร่งประสานสื่อมวลชนทุกฝ่ายพร้อมทั้งส่งข้อมูลผ่านหอกระจายข่าว จัดทำสื่อรณรงค์ส่งตรงไปยังหน่วยงานและท้องถิ่นในพื้นที่ ให้มีการกระจายข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนและผู้ขับขี่ เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนที่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาล" นายพรหมมินทร์ ระบุ