ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองเลขาฯ สปสช. เผยแม้จะมีสิทธิประโยชน์มาก แต่ยังต้องการ “เทคโนโลยี” ช่วยบริหารจัดการ-ดูความคุ้มค่า-เฝ้าระวังบริการซ้ำซ้อน พร้อมขยาย 7 หน่วยบริการวิถีใหม่ ลดแออัดโรงพยาบาล ย้ำอยากมุ่งเน้นการดูแลตัวเอง “Self Care - Self Test - Self Treat”


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยภายในงานเสวนา “แนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาแพลตฟอร์มบริการทางการแพทย์ดิจิทัลระดับปฐมภูมิ” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 ตอนหนึ่งว่า หน่วยบริการสุขภาพในประเทศไทยมีหลายระดับ ได้แก่ ระดับปฐมภูมิ ระดับทุติยภูมิ และระดับตติยภูมิ ฉะนั้นจึงต้องมีการกระจายผู้ป่วยลงไปในแต่ละระดับตามอาการเจ็บป่วย โดยเริ่มต้นจากหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิ

ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนกลับไปก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ได้มีความพยายามใช้ระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) แต่ก็ยังไม่เป็นผล กระทั่งมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นขับเคลื่อนการใช้ระบบ Telemedicine เนื่องจากในช่วงนั้นประชาชนอาจจะไม่สะดวกใจในการไปโรงพยาบาล แต่จำเป็นต้องพบแพทย์ และต้องได้รับการรักษา ซึ่งตอนนั้น สปสช. มีแนวคิดที่จะทำให้ประชาชนที่กังวลทราบสถานะของตัวเองว่าติดเชื้อหรือไม่ จนเกิดเครื่องมือตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตนเอง (Antigen Test Kit: ATK)

“ตอนนั้นหาซื้อ ATK ได้แล้ว แต่ประชาชนจะรับได้ที่ไหน จนได้รับความกรุณาจากสภาเภสัชกรรม ที่บอกว่าเรามีร้านยาในประเทศ 1.7 หมื่นร้าน แต่การจะแจกชุดตรวจให้ประชาชนก็ต้องมีการบันทึกข้อมูล ตอนนั้นก็ร่วมมือกับแอปพลิเคชันเป๋าตัง นำไปสู่การดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) และเจ็บป่วยเล็กน้อยมารับยาที่ร้านยา และมีการใช้แพลตฟอร์ม A-MED ที่เหมือนเป็นเวชระเบียนของโรงพยาบาล เพื่อใช้ในการบันทึกข้อมูลสำหรับการเบิกจ่ายของ สปสช.” ทพ.อรรถพร ระบุ

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า หลังจบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สปสช. ก็มีแนวคิดอยากจะลดความแออัดของหน่วยบริการ เกิดเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ 7 บริการ ซึ่งเป็นการเชิญชวนหน่วยบริการภาคเอกชนที่มีทรัพยากรอยู่แล้วร่วมให้บริการประชาชน ที่นอกเหนือจากจะช่วยลดปริมาณผู้ป่วยในหน่วยบริการแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยสามารถลดค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ จากการเดินไปโรงพยาบาลได้ ซึ่ง สปสช. จะจ่ายเป็นรายครั้ง (Per Visit) ในราคาตามที่ตกลงกัน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ สปสช. ยังต้องการคือระบบเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการ แม้ว่าจะมีสิทธิประโยชน์แล้ว แต่ก็ต้องดูว่าเงินที่ได้ลงทุนไปนั้นมีความคุ้มค่าหรือไม่ มีประชาชนรับบริการมากน้อยเพียงใด ซึ่งก็อยากจะมีแดชบอร์ดเพื่อให้เห็นสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที รวมถึงสามารถประเมินงบประมาณว่าเพียงพอหรือไม่ ได้ด้วยเช่นกัน

“สิ่งที่ สปสช. ต้องการ นอกจากเรื่องของระบบเทคโนโลยีสนับสนุนการติดตามประมินผลแล้ว ก็ยังอยากได้เทคโนโลยีที่จะประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว ว่าข้อมูลที่เข้ามาจากทั่วประเทศนั้น เป็นข้อมูลที่ตอบสนองต่อความต้องการประชาชนจริงหรือไม่ มีการใช้บริการซ้ำหรือไม่” ทพ.อรรถพร ระบุ

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวมองว่าคนไทยมีความรอบรู้ และความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) พอสมควร และสิ่งที่อยากจะเน้นคือ “3S” ได้แก่ 1. Self-Care คือการดูแลตัวเอง ซึ่งในไลน์ @nhso ของ สปสช. ก็มี “doctor at Home” ที่สามารถให้ประชาชนสามารถสอบถามอาการเบื้องต้นด้วยตัวเองได้

2. Self-Test การตรวจคัดกรองด้วยตัวเอง เช่น การตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง ซึ่งในอนาคตก็จะมีการขยายไปยังร้านขายยา ซึ่งส่วนนี้ถือว่าเป็นการแพทย์ในเชิงป้องกันด้วย และ 3. Self-Treat คือการดูแลรักษาอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง เช่น เมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย และเข้าข่าย 16 กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย (Common Illness) ก็สามารถรับบริการได้ที่ร้านยาใกล้บ้าน