ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โครงการ "ฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567” เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ต้องการให้คนไทยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท ทั่วประเทศ ได้มีฟันที่ดี สุขภาพช่องปากที่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อมายังคุณภาพชีวิตที่ดีตามมาด้วย

บนเป้าหมายที่คนไทยสิทธิบัตรทอง 30 บาททั่วประเทศ จะต้องได้รับฟันเทียมรวมทั้งหมด 7.2 หมื่นคน และได้รับการฝังรากฟันเทียมอีก 7,200 คน โดยมุ่งเน้นเป้าหมายมายังกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันทั้งปาก หรือเกือบหมดทั้งปากให้ได้รับการบริการนี้

The Coverage มีโอกาสไปที่ จ.อุบลราชธานี และได้ร่วมพูดคุยกับ ทพญ.อุมาพร รุ่งรัศมีทวีมานะ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี (รอง นพ.สสจ.อุบลราชธานี) ซึ่งยิ่งทำให้เห็นภาพว่าโครงการนี้นับเป็น ‘โอกาสทอง’ ของประชาชนที่จะมีโอกาสได้รับฟันเทียม รวมถึงรากฟันเทียม เพราะสิ่งนี้ถือเป็นสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าในกองทุนสุขภาพใดก็ตาม แต่สำหรับสิทธิบัตรทอง 30 บาท นี่กำลังจะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนได้เข้าถึงบริการครั้งสำคัญนี้ 'โดยไม่มีค่าใช้จ่าย'

1

ยิ่งไปกว่านั้น ทีม สสจ.อุบลราชธานี ยังเล็งเห็นว่านี่เป็นโอกาสสำคัญที่จะฝึกฝนบุคลากรทางด้านทันตกรรมในพื้นที่ โดยเฉพาะกับหมอฟันที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ได้ให้พัฒนาศักยภาพ ได้เรียนรู้การทำรากฟันเทียม ในแบบ 'พี่สอนน้อง' ด้วยการฝึกปฏิบัติจริง กับผู้ป่วยจริง ที่เป็นเคสของตัวเอง

ในส่วนของวิธีการทำงานก็สะดวกด้วยการใช้ระบบการแพทย์ทางไกล หรือที่เราคุ้นกันดีในชื่อ ‘Telemedicine’ เข้ามาหนุนเสริมการทำงาน และพลิกแพลงเป็นระบบทันตกรรมทางไกล หรือ 'Teledentistry' เพื่อใช้ตรวจสุขภาพช่องปาก รวมถึงติดตามอาการของผู้ป่วย

สำหรับระบบ Teledentistry จะเป็นการใช้งานระหว่างทีมทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ของ จ.อุบลราชธานี ที่มีหมอฟันเชี่ยวชาญระดับอาจารย์ กับตัวผู้ป่วย หรือไว้ติดต่อกับทีมทันตแพทย์ของ รพช. เพื่อลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น และไม่ต้องพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาล

ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อลดภาระงานของโรงพยาบาลศูนย์ออกไป และลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเดินทาง ที่อาจตีออกมาได้นับหมื่นบาท !! 

2

ทพญ.อุมาพร ให้ภาพถึงรายละเอียดว่า ทาง สสจ.อุบลราชธานี จะเข้าไปวางแนวทางการทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ โดยเริ่มจากเข้าไปร่วมวางแผนหากลุ่มเป้าหมาย คือประชาชนสิทธิบัตรทอง และต้องไม่มีฟันหน้า ผ่านความร่วมมือของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ออกค้นหาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ที่จะได้รับจากรากฟันเทียม มากไปกว่าน้ัน การค้นหายังกระจายไปถึงกลุ่มเปราะบาง คือกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำกลางอุบลฯ ให้ได้รับสิทธินี้ด้วย

ทั้งนี้ เมื่อได้ตัวเลขที่ชัดเจนว่าประชาชนใน จ.อุบลราชธานี ต้องได้รับรากฟันเทียมจำนวน 250 คน จากการค้นหาและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันภายในจังหวัด ก็จะมี รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ทำหน้าที่จัดระบบคิวผู้ป่วยทุกเคส พร้อมนัดหมายประสานงานกับทีมทันตแพทย์ของ รพช. ผู้เป็นเจ้าของเคส

ขณะเดียวกันก็จะกระจายเคสไปยัง 'โรงพยาบาลพี่น้อง' ของเครือข่าย รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ที่มีศักยภาพในการทำรากฟันเทียม ซึ่งมีอยู่ 8 โรงพยาบาล หรือเรียกว่า ‘8 พี่น้อง’ ของ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ประกอบด้วย 1. รพ.50 พรรษาฯ 2. รพ.วารินชำราบ 3. รพ.สมเด็จพระยุพราชเดชอุดม 4. รพ.ม่วงสามสิบ 5. ศูนย์อนามัยที่ 10 6. รพ.ตระการพืชผล 7. รพ.เขื่องใน และ 8. รพ.มะเร็ง ทั้งหมดเพื่อลดความแออัดของรพ.สรรพสิทธิประสงค์ และเพิ่มศักยภาพให้กับโรงพยาบาลที่สามารถทำเคสรากฟันเทียมได้ทำหน้าที่ของตนเอง

3

ทพ.อุมาพร ระบุว่า ภายหลังเมื่อมีเป้าหมาย มีเจ้าของเคสที่จะทำรากฟันเทียมแล้ว ก็จะใช้ระบบ Teledentistry เข้ามาช่วยในการทำงาน ทั้งการใช้เพื่อปรึกษาเคสระหว่างทีมหมอฟันจาก รพช. กับทีมอาจารย์หมอจาก รพ.สรรพสิทธิประสงค์ เช่น แนะนำการจัดเตรียมช่องปากก่อนเข้ามาทำรากฟัน (Pre-operation) รวมไปถึงเมื่อใส่รากฟันเทียมไปแล้ว ก็จะใช้ระบบนี้ติดตามอาการของผู้ป่วย (Follow up) อีกด้วย

“เพราะแม้ว่าโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ จะไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับประชาชนทั้ง 250 คนของอุบลฯ เพราะมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้ามาดูแลสิทธิบัตรทอง 30 บาท ให้รับบริการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายก็ตาม แต่เราพบว่าการที่ผู้ป่วยต้องเข้ามาทำฟัน จะต้องมีค่าใช้จ่ายแฝงด้วย และการทำรากฟันเทียมไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วจบ แต่อย่างน้อยต้องมีถึง 8 ครั้ง ที่คนไข้และหมอฟันจะต้องเจอกัน คิดดูว่าหากคนไข้อยู่อำเภอน้ำยืน แล้วต้องมาหาหมอที่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งระยะทางห่างกัน 120 กิโลเมตร ค่าเดินทางแต่ละครั้งมันเป็นเงินมากทีเดียว แต่ด้วยระบบทันตกรรมทางไกล เราตัดปัญหานี้ออกไปได้เลย” ทพ.อุมาพร กล่าว

รอง นพ.สสจ.อุบลราชธานี ขยายความว่า เมื่อผู้ป่วยผ่านการค้นหาและคัดกรองจาก รพช. ว่าจะได้รับรากฟันเทียม ก็จะใช้ระบบ Teledentistry เข้ามาเสริมการทำงาน เพื่อให้ทางทีมทันตกรรมของ รพช. ได้เตรียมช่องปากของเคสให้พร้อม ผ่านการแนะนำทางไกลโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้สุขภาพช่องปากพร้อมที่สุดจากที่ รพช. ก่อนที่จะมาใส่รากฟันเทียมที่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ หรือในโรงพยาบาลพี่น้องที่มีความพร้อม

4

นั่นจึงเท่ากับว่า จากที่คนไข้ต้องมาเจอหมอฟัน 8 ครั้ง จะเหลือที่จำเป็นต้องมาเจอหมอฟันจริงๆ เพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น ซึ่งนั่นช่วยลดค่าใช้จ่ายที่คิดเป็นค่าเดินทางได้สูงถึงรายละ 1.3 หมื่นบาท 

“แต่ค่าเดินทางก็ต้องไม่มีจริงๆ ทาง สสจ.อุบลฯ จึงมีแนวทางว่าหากต้องส่งเคสเข้ามาใส่รากฟันเทียม ก็ให้รถของ รพช. มาส่งคนไข้และมารอรับกลับ โดยต้องมาพร้อมกับทันตแพทย์เจ้าของเคสด้วย เพื่อให้มาเรียนรู้การใส่รากฟันเทียมกับอาจารย์หมอที่เชี่ยวชาญ ตรงนี้เขาจะได้รู้ถึงการใส่รากฟันเทียมในทุกขั้นตอน เป็นการเพิ่มทักษะ ประสบการณ์ให้กับน้องๆ หมอฟันที่ประจำอยู่ใน รพช. จากพวกเขาก็จะกลับไปพร้อมกัน เราใช้วิธีนี้ดูแลคนไข้ ทำให้คนไข้ได้ประโยชน์สูงสุด และบุคลากรของเราก็ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ด้วยเหมือนกัน เรียกว่าถ้าจะทำ ก็ทำมันให้ดีที่สุดไปเลย” ทพ.อุมาพร ให้หลักการ

สำหรับความรุดหน้าในโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ ของ จ.อุบลราชธานี ในปัจจุบัน สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย โดยในส่วนฟันเทียมขณะนี้มีประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาทได้รับฟันเทียมไปแล้ว 2,124 คน คิดเป็น 93% ของเป้าหมาย ขณะที่การทำรากฟันเทียม ก็ดำเนินการไปแล้ว 124 คน และยังอยู่ระหว่างการใส่รากฟันเทียมให้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับขยายโครงการไปถึงเรือนจำกลางอุบลราชธานี เพื่อให้สิทธิกับผู้ต้องขังที่เป็นผู้สูงอายุ ได้เข้าถึงการทำฟันเทียม และรากฟันเทียมด้วยเช่นกัน

“โครงการนี้ทำให้ สสจ.อุบลราชธานี ได้ยกระดับศักยภาพการวางแผนการให้บริการทันตกรรมรูปแบบใหม่ขึ้นมาได้ และทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร เกิดการสร้างเครือข่ายทันตกรรมร่วมกันในจังหวัด มีการแบ่งปันทรัพยากรเครื่องมือร่วมกัน บนเป้าหมายเดียวกัน คือ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการบริการทันตกรรมที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม เพราะมันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนต่อไป” ทพญ.อุมาพร ย้ำในตอนท้าย