ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ประยุกต์เทเลเมดิซีน สู่ระบบ ‘ทันตกรรมทางไกล’ นำร่องรักษา ‘ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง’ อุบลฯ ทำรากฟันเทียมจากรพ.ชุมชน ได้ผลช่วยลดค่าเดินทาง พร้อมเพิ่มศักยภาพหมอฟันในพื้นที่ 


ทพ.วุฒิชัย ตั้งสิริสุธีกุล ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี เปิดเผยกับ "The Coverage" ว่า กลุ่มงานทันตกรรมโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ร่วมกับเขตสุขภาพที่ 10 ขับเคลื่อนดำเนินการ 'โครงการทศวิถีเทิดไท้องค์ราชันต้นแบบ งานรากฟันเทียมทันตกรรมทางไกลเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 เขตสุขภาพที่ 10' โดยใช้ระบบทันตกรรมทางไกล ที่ประยุกต์มาจากระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine (เทเลเมดิซีน) รักษาผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง หรือบัตร 30 บาท) ให้ได้รักษาด้วยรากฟันเทียมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

นอกจากนี้ ด้วยระบบทันตกรรมทางไกล ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมายังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ที่อยู่ในตัวจังหวัดเพื่อทำการรักษารากฟันเทียม แต่สามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอได้เลย ซึ่งทันตแพทย์จากโรงพยาบาลชุมชน และจากกลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จะได้ปรึกษา วินิจฉัย และวางแผนการรักษาร่วมกันในทุกขั้นตอนแบบเรียลไทม์ผ่านระบบออนไลน์ได้เลย  

ทพ.วุฒิชัย กล่าวด้วยว่า รูปแบบการบริการทันตกรรมทางไกล สำหรับขั้นตอนการเตรียมผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษารากฟัน จะเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลชุมชนในการเตรียมสุขภาพช่องปากให้มีความพร้อมต่อการรักษา ซึ่งเมื่อถึงขั้นตอนที่ต้องใส่รากฟันเทียม โดยเฉพาะตัวยึดรากฟันกับฟันปลอม ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญของทันตแพทย์ ก็จะมีการส่งตัวผู้ป่วยเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งทันตแพทย์โรงพยาบาลชุมชนเจ้าของไข้ ก็จะเดินทางมาพร้อมด้วยเพื่อรับการอบรมการทำรากฟันเทียมไปพร้อมกันเลย 

"จากระบบทันตรรมทางไกล ช่วยให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่วินิจฉัยแล้วว่าต้องได้รับรากฟันเทียม ลดการเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลในตัวจังหวัด จาก 23 ครั้ง เหลือเพียงแค่ 3 ครั้ง ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยลงไปได้อย่างมาก และยังลดความแออัดของกลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ รวมไปถึงยังเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับทันตแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนให้มีประสิทธิภาพในการดูแลประชาชนในชุมชนได้มากขึ้น" ทพ.วุฒิชัย กล่าว 

ทพ.วุฒิชัย กล่าวว่า นอกจากการให้บริการรากฟันเทียมผ่านระบบทันตกรรมทางไกลแล้ว ในส่วนการให้บริการด้านอื่นๆ ประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพช่องปาก และสุขภาพฟันในต่างอำเภอ ก็สามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลชุมชน โดยหากทันตแพทย์วินิจฉัยและรักษาได้ก็จะทำการรักษาได้เลย แต่หากเกินกว่าศักยภาพ หรือเป็นเคสที่ซับซ้อนและมีความยุ่งยาก ก็จะเลือกใช้ระบบทันตกรรมทางไกลปรึกษากับทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โดยจะมีการแนะนำการทำงานให้กับทันตแพทย์ของโรงพยาบาลชุมชน และหากยังรักษาไม่ได้ก็จะให้ส่งตัวผู้ป่วยมารักษาต่อ 

"ระบบทันตกรรมทางไกล ในเขตสุขภาพที่ 10 เลือกพื้นที่จ.อุบลราชธานีนำร่องไปก่อน โดยคิกออฟไปเมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ล่าสุด เขตสุขภาพที่ 10 เห็นว่าจากโครงการนำร่องและได้ผลค่อนข้างดี ก็จะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ในเขตอีก 4 จังหวัดเพื่อให้ทดลองใช้ระบบทันตกรรมทางไกล คือศรีสะเกษ อำนาจเจริญ มุกดาหาร และยโสธร ซึ่งเชื่อว่ารูปแบบบริการรูปแบบใหม่ จะทำให้ประชาชนมีความสะดวกสบายในการไปพบหมอฟันได้ใกล้บ้าน ขณะเดียวกัน หมอฟันที่อยู่โรงพยาบาลอำเภอ ก็ได้ทำงานใกล้ชิดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่จะคอยให้คำแนะนำ และให้คำปรึกษา ซึ่งก็เป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรในพื้นที่ไปในตัวด้วย" ทพ.วุฒิชัย กล่าวตอนท้าย