ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะพาณิชย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ จับมือ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดหลักสูตรใหม่ "MDX: Mastering the Dynamic of Xcellence" ปลดล็อคศักยภาพการเป็นผู้บริหารธุรกิจสุขภาพ สู่ความเป็นเลิศอย่างเหนือชั้น


ปัจจุบันธุรกิจโรงพยาบาลเผชิญกับความท้าทายในหลายๆ ด้าน ทั้งในด้านเทคโนโลยี พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หรือแม้แต่จำนวนของบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อเทียบอัตราส่วนระหว่างจำนวนแพทย์ต่อจำนวนประชากรของประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณ 1 : 1,665 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ยังสูงเมื่อเทียบกับ 1 : 1,000 ที่เป็นตัวเลขมาตรฐานจากองค์การอนามัยโลก

ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงปริมาณงานที่มากเกินไป ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของความท้าทายที่สามารถใช้แนวทางการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ เข้ามาช่วยในการจัดการ การวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ จึงนำมาสู่ความร่วมมือของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในการร่วมกันเปิดตัวโครงการ "MDX: Mastering the Dynamic of Xcellence" ขึ้น

1

ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีแนวทางบริหารหลากหลายวิธีที่สามารถเข้ามาช่วยเสริมให้ธุรกิจโรงพยาบาลสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดภาระงานของบุคลากรได้มากขึ้น ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มการเติบโตของการใช้เทคโนโลยีในงานโรงพยาบาลสูงถึง 45.65% โดยอุตสาหกรรมต่างๆ และโรงพยาบาลในไทยได้มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในแผนปฏิบัติงานทั้งในภาครัฐและเอกชน

สำหรับการเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่พบเห็นกันได้มากเมื่อเร็วๆ นี้คือ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ไม่ว่าเป็นเรื่องของแพทย์ทางไกล ที่ช่วยในเรื่องวินิจฉัยโรคโดยสังเขปที่แม่นยำมากขึ้น และการให้บริการนัดพบแพทย์ที่สะดวกรวดเร็ว รวมไปถึงแนวโน้มสังคมผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นทุกปี ที่ได้รับผลประโยชน์เป็นอย่างมากในเวลาเดียวกัน ระบบปัญญาประดิษฐ์ยังได้ผนวกเข้ากับแผนปฏิบัติงานของแพทย์โดยตรง เช่น การจัดการงานธุรการ ซึ่งส่วนมากมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลามาก ทำให้แพทย์ได้ใส่ใจให้กับการดูแลวินิจฉัยคนไข้ได้มากขึ้น สามารถให้บริการที่ราบรื่นและรวดเร็วยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

3

ศ.ดร.นพ.เฉลิม ย้ำในประเด็นสำคัญอีกว่า หัวใจสำคัญคือทำอย่างไรเพื่อที่ปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้ในการปฏิบัติการในบริบทอุตสาหกรรมสุขภาพ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารเชิงโครงสร้าง จะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่แนวคิดของผู้นำในธุรกิจสมัยใหม่ การวางกลยุทธ์ ระบบการให้บริการและการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า จนไปถึงระบบงานสนับสนุน การจัดการทรัพยากรมนุษย์ การขยายขีดจำกัดและยกระดับการบริการที่ดียิ่งขึ้น เพื่อที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง มายกระดับการบริหารงานให้เป็นเลิศได้

"เรากำหนดสี่เสาหลักในการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย Digital Change, Economic Change, Generation change และ Climate change ที่ผู้บริหารรุ่นใหม่ต้องเผชิญ หลักสูตร MDX นี้จะเตรียมความพร้อมผู้บริหารที่มีความสมบูรณ์แบบ สามารถนำพาองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศในอนาคตได้" ศ.ดร.นพ.เฉลิม ระบุ

2

ขณะที่ รศ.ดร.สมชาย สุภัทรกุล คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทางคณะออกแบบโครงการพัฒนาผู้บริหาร Mastering the Dynamic of Xcellence (MDX) ให้เป็นหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารในกิจการด้านสุขภาพ ที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้บริหารโดยระบุปัญหา และใช้ทรัพยากรที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และคณะพาณิชย์ฯ เพื่อมุ่งสร้างผู้นำที่มีขีดความสามารถสูงในการจัดการสมัยใหม่ และสามารถประยุกต์โอกาสทางธุรกิจและเทคโนโลยีเพื่อสร้างความแตกต่างในธุรกิจสุขภาพและแข่งขันได้อย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน เพื่อที่จะรับมือกับการการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ออกแบบการพัฒนาผู้บริหารเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1. Concept of Success 2. Leading Forward 3. Best in Class Experience 4. Operational Excellency 5. Exclusive Business Mastery และ 6. Technical Visit

รศ.ดร.สมชาย ย้ำว่า ในหลักสูตร MDX จะครอบคลุมทุกมิติของธุรกิจที่ผู้บริหารจำเป็น ตั้งแต่การติดตามและคาดการณ์อนาคตของอุตสาหกรรม การพัฒนานวัตกรรมที่แตกต่าง การเป็นผู้นำแห่งอนาคต การตลาดที่มีพลวัต การปฏิบัติการที่เป็นเลิศ และการเงินที่ยั่งยืน โดยจะมีกิจกรรมที่สร้างประสบการณ์เรียนรู้เสมือนจริงในโลกธุรกิจจำลอง (Business Simulator) การศึกษาองค์กรชั้นนำในต่างประเทศ (Technical Visit)

"ดังนั้น MDX ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรที่เข้มข้นด้วยเนื้อหาความรู้ที่ได้ออกแบบพิเศษ ให้เหมาะสมกับการยกระดับองค์กรในธุรกิจสุขภาพโดยเฉพาะ สามารถนำแนวทางและแผนงานที่ฝึกทำไปใช้ได้จริง รวมถึงยังได้ใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายแขนงอุตสาหกรรม ทั้งผู้สอนและเพื่อนร่วมหลักสูตร ด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์แบบ Exclusive ผ่านกิจกรรมร่วมกันตลอดทั้งหลักสูตร" รศ.ดร.สมชาย กล่าว

4