ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ฯ สปสช. ลงพื้นที่ไปยัง รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ติดตามการดำเนินงานภายใต้นโยบาย ‘มะเร็งรักษาทุกที่’ พบ ‘ระบบการให้บริการมีประสิทธิภาพ – ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษามากขึ้น’ ปี 66 เบิกจ่ายดูแลผู้ป่วยกว่า 160 ล้านบาท


เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2567 คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่นำโดย ดร.ดวงตา ตันโช ประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วย พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประกันสุขภาพ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ บอร์ด สปสช. นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการ สปสช. และ นายธงชัย สิทธิยุโณ รักษาการผู้อำนวยการ สปสช. เขต 11 สุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ไปยัง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อติดตามการดำเนินงาน “ระบบการคัดกรอง ระบบส่งต่อ และการดูแลผู้ป่วยภายใต้นโยบายมะเร็งรักษาทุกที่” ที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช โดยมี นพ.พงษ์พจน์ ธีรานันตชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และคณะสหวิชาชีพ ให้ข้อมูลและร่วมแลกเปลี่ยนการดำเนินงาน

1

นพ.พงษ์พจน์ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ได้เข้าร่วมให้บริการภายใต้นโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ (Cancer Anywhere) ของ สปสช. มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้ป่วยมะเร็งในจังหวัดและพื้นที่ข้างเคียงในเขตสุขภาพที่ 11 (ชุมพร ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี) ตลอดจนผู้ที่มีความประสงค์มารักษาที่โรงพยาบาลโดยตรง เนื่องจากศักยภาพและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ทำให้สามารถให้การรักษาได้ค่อนข้างครบวงจร ทั้งการตรวจคัดกรอง การรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีรักษา ผ่าตัดรักษา ไปจนถึงเวชศาสตร์นิวเคลียร์ 

ทั้งนี้ ปัจจุบันจากการดำเนินงานผ่านนโยบายดังกล่าวมากว่า 3 ปี พบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2566 มีการเบิกจ่ายชดเชยจาก สปสช. ไปกว่า 160 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นผู้ป่วยภายใน จ.นครศรีธรรมราช 85% และนอกจังหวัดอีก 15% นอกจากนี้ยังทำให้โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ติด 1 ใน 10 อันดับโรงพยาบาลที่มีการให้บริการด้านดูแลรักษามะเร็งสูงสุดในประเทศด้วย 

“ในอนาคตเราจะมีเครื่องมือชนิดหนึ่งเรียกว่า PET-CT scan สำหรับวินิจฉัยมะเร็งระยะลุกลามโดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งเมื่อนำไปตรวจผู้ป่วยจะทำให้รู้ได้เลยว่าเป็นมะเร็งระยะลุกลามตรงไหน ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลจังหวัดแห่งแรกที่จะมีเครื่องดังกล่าว และน่าจะเป็นเครื่องที่ 15 ของประเทศไทย โดยวันนี้เราก็ได้มีการปรึกษาในเรื่องค่าใช้จ่ายกับทางคณะอนุกรรมการฯ สปสช. ซึ่งท่านประธานก็ได้รับเรื่องเพื่อไปดำเนินการต่อ” นพ.พงษ์พจน์ ระบุ

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่พบนั้นมีอยู่ 4 ข้อ ได้แก่ 1. รายการเบิกจ่ายตามรายการบริการ (Fee schedule) ของ สปสช. ยังไม่ครอบคลุมบางรายการบริการ 2. ระบบการตรวจสอบก่อนจ่ายและหลังจ่ายของ สปสช. ทำให้เกิดขั้นตอนมากขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน 3. การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ด้านมะเร็ง ที่ควรจะมีการดูแลที่ครอบคลุม รวมถึงการเบิกจ่ายที่สะดวกขึ้น และ 4. การอัปเดตรายการให้มีสามารถเบิกจ่ายด้วยวิธีการตรวจรักษาใหม่ๆ มากขึ้น

ด้าน นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ บอร์ด สปสช. กล่าวว่า โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ถือว่ามีการให้บริการภายใต้นโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ เห็นได้จากอัตราการให้บริการและการเบิกจ่ายกับ สปสช. ซึ่งเทียบเคียงได้กับโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนว่าทางโรงพยาบาลสามารถเป็นที่พึ่งในด้านนี้ให้กับผู้ป่วยมะเร็งในประเทศได้เป็นอย่างดี 

2

“ต่อไปที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชจะมี PET CT scan ซึ่ง สปสช. เราก็มีอัตราจ่ายกำหนดไว้แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ให้ทุกโรค แต่อย่างน้อยๆ 4 -5 โรคที่มีความสำคัญเรากำหนดไว้แล้ว ซึ่งในส่วนนี้ก็จะทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งดียิ่งขึ้น” นพ.สุวิทย์ กล่าว

นพ.สุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่อง Fee schedule ที่ยังไม่ครอบคลุมรายการบริการนั้น เนื่องจากการปรับครั้งใหม่ที่ได้มีการประกาศไปเมื่อ 3 มี.ค. 2567 นอกจากได้มีการเพิ่มบางรายการให้มีความครอบคลุมมากขึ้นแล้ว ยังได้พิจารณานำบางรายการออกเช่นกัน เพราะพบว่ายาบางกลุ่มแม้จะอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ไม่มีข้อมูลการใช้งานมาหลายปีแล้ว ซึ่งวันนี้ทางโรงพยาบาลฯ ก็ได้สะท้อนขึ้นมาว่ามีผู้ป่วยบางรายที่จำเป็นต้องใช้ยากลุ่มดังกล่าวอยู่ ดังนั้นหลังจากนี้ สปสช. ก็จะมีการปรับรายการ Fee schedule อีกครั้งหนึ่ง โดยจะรวมเอายาที่ก่อนหน้านี้ไม่มีประวัติการใช้งาน แต่อยู่ในบัญชียาหลักเข้ามาทั้งหมด

นอกจากนี้ ประเด็นการเบิกจ่ายติดขัด เพราะมีขั้นตอนเพิ่มขึ้น ทาง สปสช. ก็จะไปดูว่าจะสามารถทำให้ขั้นตอนน้อยลง และง่ายลงได้อีกหรือไม่ รวมถึงจะมีทีมจาก สปสช. ไปช่วยประจำที่โรงพยาบาล เพื่อช่วยดูว่ายังมีส่วนไหนที่ต้องปรับหรือต้องเปลี่ยนเพิ่มเติม เพราะแท้จริงแล้วนโยบายของบอร์ด สปสช. คือ ไม่ต้องการให้ขั้นตอนการเบิกจ่ายที่ซับซ้อนและมีเยอะ ซึ่งพอสะดุดหนึ่งหรือสองขั้นตอนก็อาจกระทบกับการบริหารงบประมาณของโรงพยาบาลไปด้วย อันเป็นสิ่งสำคัญมากโดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่เช่นที่นี่