ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'รู้ไว ไตไม่วาย' ศูนย์นาโนเทค จับมือ มข. - สปสช.เขต 7 ขอนแก่น เลือกวันไตโลก คิกออฟเปิดตัว นวัตกรรมตรวจคัดกรองโรคไตด้วยตัวเอง 2 รูปแบบ 'AL-Strip' และ 'Go-Senser'แม่นยำรู้ผลเร็ว หวังผลักดันเป็นชุดสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนเข้าถึงได้ ด้านนักวิจัยชี้ถ้ารู้ตัวว่าเสี่ยง จะเพิ่มโอกาสรักษาไตให้คืนปกติได้


วันที่ 14 มี.ค.2567 ที่หองประชุมอำเภอกระนวน จ.ขอนแก่น ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ โครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (CKDNET) มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น (สปสช.เขต 7 ขอนแก่น) จัดงานมหกรรมป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังเนื่องในวันไตโลก ภายใต้แนวคิด ‘ครอบคลุมทุกสิทธิ พิชิตโรคไต ใส่ใจการใช้ยา’ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคไต และแนะนำแนวทางชะลอโรคไตเรื้อรังให้กับประชาชน

พร้อมกันนี้ ยังมีกิจกรรมตรวจคัดกรองด้วยนวัตกรรมชุดตรวจโรคไต ซึ่งจะเป็นอีกหนี่งนวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองและติดตามโรคไตเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวานเชิงคุณภาพ (AL-Strip) ที่นักวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ผลิตและคิดค้นขึ้นมา โดยเตรียมจะนำไปใช้ประโยชน์ในงานด้านสาธารณสุขของประเทศ และเชิงพาณิชญ์ในอนาคต

1

ผศ.ดร.ธนากร โอสถจันทร์ รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองติดตามโรคไตเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน เป็นหนึ่งในแผนงานหลักภายใต้การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ผ่านกลไก BCG Implementation ของ สวทช. เพื่อเป้าหมายการพึ่งตนเอง ลดภาระค่าใช้จ่าย ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางด้านการแพทย์ของประเทศ ช่วยเพิ่มการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขของประชาชน  

"เราส่งมอบชุดตรวจคัดกรองโรคไต นวัตกรรมภายใต้ BCG Implementation จำนวน 3,500 ชุด พร้อมด้วยชุดตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ จำนวน 10,000 ชุด ทั้งในงานนี้ และอีกหลายกิจกรรมที่ผ่านมา เพื่อขยายผลการใช้ประโยชน์นวัตกรรมให้กลุ่มผู้ใช้จริง ซึ่งเราคาดหวังให้งานนี้ เป็นการ Kick Off หรือเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายผลการใช้งานนวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองและติดตามโรคไตในพื้นที่ภาคอีสาน และพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ" ผศ.ดร.ธนากร กล่าว

ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน นาโนเทค สวทช. ในฐานะหัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่า ชุดตรวจคัดกรอง ติดตามโรคไตเรื้อรัง และภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน เป็นตัวช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตให้ประชาชน ที่เดิมไม่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ระยะต้น เพราะค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่ให้บริการตรวจยังมีไม่เพียงพอ เพราะต้องเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ และด้านเทคนิคการแพทย์ดำเนินการตรวจในห้องปฏิบัติการ

ทั้งนี้ ทีมวิจัย นาโนเทค สวทช. จึงได้พัฒนา 2 เทคโนโลยีที่ตอบความต้องการใช้งานที่แตกต่างกัน เทคโนโลยีแรกคือ ‘AL-Strip’ เป็นชุดตรวจโรคไตเชิงคุณภาพที่ประชาชนทั่วไปใช้ตรวจคัดกรองโรคได้ด้วยตัวเอง ทราบผลการตรวจได้ภายใน 5 นาที เพียงหยดปัสสาวะที่เก็บใหม่ลงบนแถบตรวจ แล้วอ่านผลจากแถบสีที่ปรากฏ ก็จะทราบผลการคัดกรองได้ทันที โดยหากมีปริมาณอัลบูมินซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นสารประกอบหลักของเลือดเจือปนอยู่ในปัสสาวะเกิน 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ชุดตรวจจะขึ้นแถบสี 1 ขีด หมายถึง ‘มีความเสี่ยงเป็นโรคไตสูง’ ผู้ตรวจควรเข้ารับการตรวจโดยละเอียดที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยความผิดปกติของร่างกาย และเข้ารับการรักษาตามระยะของความผิดปกติ

นอกจากนี้ ยังีอีกเทคโนโลยีคือ GO-Sensor Albumin Test ชุดตรวจโรคไตเชิงปริมาณ เพื่อการวิเคราะห์ผลทางการแพทย์ ที่มีเป้าหมายคือให้สถานพยาบาลของรัฐ ได้ใช้ตรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงโรคไตในพื้นที่ โดยไม่ต้องส่งตัวคนไข้หรือส่งปัสสาวะไปตรวจที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพกว่า อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยตรวจเจอในระยะเริ่มต้น จะเพิ่มโอกาสในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีผลต่อโรค เพื่อชะลอความเสื่อมของไตออกไป และช่วยทำให้ไตกลับมาทำงานได้ตามปกติ

ด้าน รศ.พญ.ศิริรัตน์  อนุตระกูลชัย ปฏิบัติการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น โครงการ CKDNET กับ สวทช. ที่มุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมที่คัดกรองโรคไตตั้งแต่ระยะแรกที่ต้นทุนต่ำ ใช้สะดวกและได้ผลคุ้มค่า โดยเป็นการนำนวัตกรรมไปใช้ในชุมชนและเปรียบเทียบผลลัพธ์ทางคลินิก รวมถึงศึกษาวิจัยโรคไตเรื้อรังชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุซึ่งสันนิษฐานว่ามีความเกี่ยวข้องกับมลภาวะสิ่งแวดล้อมในดิน แหล่งน้ำและอากาศ

อย่างไรก็ตาม สำหรับงานมหกรรมป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรัง เนื่องในวันไตโลก ปี 2567 จะขับเคลื่อนและขยายผลการใช้ประโยชน์นวัตกรรมชุดตรวจทางการแพทย์สำหรับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ร้อยแก่นสารสินธุ์ ประกอบด้วย ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด โดย CKDNET จะดำเนินการนำชุดตรวจคัดกรองโรคไต GO-sensor และ AL strip ใช้ตรวจวัดปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะ ส่งมอบชุดตรวจทดสอบใช้ในพื้นที่เป้าหมายพร้อมทั้งอบรมวิธีการใช้งาน และจะมีการประเมินผลลัพธ์ และประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์จากต่างประเทศ

ขณะที่ ดร.ภก.ณรงค์ อาสายุทธ รักษาการผู้อำนวยการ สปสช.เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันไตโลกในปีนี้ นับเป็นโอกาสดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้จัดการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตรายจากโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคที่นำความทุกข์ทรมาน กระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งของผู้ป่วยและครอบครัว ทั้งยังเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงกระทบต่อเศรษฐานะของครอบครัวและงบประมาณของภาครัฐในการจัดการทรัพยากรเพื่อดูแลรักษาพยาบาล

สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในส่วนของสปสช. ในปี 2566 มีจำนวนผู้ป่วยรับบริการรักษาบำบัดทดแทนไตรวมประมาณ 9.2 หมื่นคน แยกเป็นบริการล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (CAPD) สะสมรวมจำนวน 2.3 หมื่นคน บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) สะสมรวมจำนวน 6.2 หมื่นคน บริการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) สะสมรวมจำนวน 3,888 คน บริการผ่าตัดปลูกถ่ายไตรายใหม่จำนวน 284 คน และบริการรับยากดภูมิคุ้มกันหลังปลูกถ่ายไต ทั้งรายเก่าและรายใหม่จำนวน 2,852 คน ซึ่งใช้งบประมาณบำบัดทดแทนไตไปกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท

2

 

" แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในอนาคต มุ่งไปที่การบำบัดทดไตให้กับผู้ป่วยอย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ และมีความพร้อมในการปลูกถ่ายไตที่อาจได้รับบริจาคในอนาคต" ดร.ภก.ณรงค์ กล่าวในตอนท้าย

ทั้งนี้ นวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองติดตามโรคไตเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน เป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ สปสช.เขต 7 ขอนแก่น เพื่อร่วมกันสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เพื่อขยายผลการใช้ประโยชน์นวัตกรรมชุดตรวจทางการแพทย์ในหน่วยงานสาธารณสุขในอีสานในระยะ 3 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2569

ที่ผ่านมาเกิดโครงการเพื่อทดสอบการใช้ชุดตรวจอัลบูมินรั่วในปัสสาวะเชิงคุณภาพ (AL-Strip) สำหรับคัดกรองโรคไตเรื้อรังในประชาชน 2,000 ราย ปัจจุบัน นาโนเทคได้ผลิตชุดตรวจติดตามโรคไตเชิงคุณภาพ (AL-Strip) ตามมาตรฐาน ISO 13485 :2016 และผลิตในสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์ (กท. สผ. 53/2563 กท. Diagnostic test kits) ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และมีแผนที่จะนำชุดตรวจดังกล่าวมาขยายผลร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อสร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นในเรื่องประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์