ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบหลักการของบประมาณจำนวน 3.7 หมื่นล้านบาท สำหรับ ‘โครงการผลิตแพทย์-ทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัวตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย’ 9 วิชาชีพ 2568-2577 ตั้งเป้า 10 ปี 6.2 หมื่นคน


วันที่ 20 ก.พ. 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบในหลักการการของบประมาณจำนวน 37,234.48 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการผูกพันข้ามปี สำหรับ “โครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัวตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย” ภายใต้ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2568 – 2577 ที่ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ที่ยังปฏิบัติงานอยู่ 6.8 หมื่นคน ขณะที่ประชาชนทั่วประเทศมีราว 67 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ 1:1,000 คน ส่วนในระดับโลกได้กำหนดมาตรฐานจำนวนแพทย์ต่อประชากรที่จะมีประสิทธิภาพที่สุดคือ 1:333 คน ซึ่งตอนนี้ สธ. ก็ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้ไทยมีขยับสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรเป็น 1:650 คน 

“เพราะฉะนั้นถ้าประชากรของประเทศเราอยู่ประมาณนี้ไม่เพิ่มหรือไม่ลดจนเกินไป หรือแม้จะมีแนวโน้มลดลงนิดหน่อยแต่ยังอยู่ในระดับ 66-67 ล้านคน แพทย์ทั้งประเทศที่ควรจะปฏิบัติงานอยู่ควรจะมี 1 แสนคน ปัจจุบันเรามี 6.8 หมื่นคน สธ. ตามแผนที่จะจบในปี 2567-2570 คาดว่าจะมีการผลิตแพทย์เพิ่มได้ทั้งหมด 2.2 หมื่นคน เมื่อรวมกับของเดิมเท่ากับ 9 หมื่นคน ดังนั้นจึงขาดอีก 1 หมื่น” นายชัย ระบุ

นายชัย กล่าวต่อไปว่า ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว สธ. จึงได้เสนอโครงการดังกล่าวเข้าสู่ ครม. โดยให้สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ซึ่งเป็นส่วนราชการในสังกัด สธ. เป็นผู้รับผิดชอบในการผลิตกำลังคนด้านสาธารณสุขทั้งหมด 9 สาขา เพื่อสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยมีตั้งแต่แพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ช่วยพยาบาล ทันตแพทย์ ผู้ช่วยนักสาธารณสุข เภสัชกร นักฉุกเฉินการแพทย์  และแพทย์แผนไทย รวมทั้งหมด 6.2 หมื่นคน 

นายชัย กล่าวอีกว่า ในจำนวนดังกล่าว แบ่งเป็นการผลิตแพทย์ราวปีละ 1,000 คน โดยเมื่อครบปีสุดท้ายของการสนับสนุนคือ 2577 ปีการศึกษาสุดท้ายก็คือ 2583 ดังนั้นในปีดังกล่าว ไทยจะจำนวนแพทย์รวมทั้งหมดประมาณ 1 แสนคน ซึ่งจะเป็นอัตราที่ใกล้เคียงตามเป้าหมายที่ สธ. วางเอาไว้ 

“เป็นการเน้นเรื่องการแพทย์ที่ให้บริการปฐมภูมิ หรือก็คือ ปวดหัวตัวร้อนเหมือนไปคลินิกหรือโรงพยาบาลด่านแรก ฉะนั้นตรงนี้ สธ. บอกว่าสถานพยาบาลปฐมภูมิเป้าหมายคือ 6,500 แห่ง ปัจจุบันมีอยู่ 3,000 กว่าแห่ง อนาคตก็จะต้องเพิ่มให้ได้ตามเป้า ซึ่งจะมีแพทย์ประจำอยู่ทุกแห่ง ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นข่าวดีที่ประเทศไทยจะมีแพทย์เพิ่มขึ้น และจะบรรลุเป้าหมายในปี 2583” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว