ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางการแพทย์ Journal of the American College of Cardiology ระบุถึงการศึกษาใหม่ที่พบว่า ‘การผ่าตัดลดความอ้วน’ จะช่วยลดความดันโลหิตสูง ซึ่งจะไปลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ด้วย 

นพ.คาลอส ออร์เลโล เชียวอง ศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดลดความอ้วนที่โรงพยาบาลในเซาเปาโล บราซิล ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมนักวิจัย ได้ศึกษาผลกระทบของการรักษาโรคอ้วนเพื่อลดความดันโลหิตสูงในระยะยาว 

การศึกษาดังกล่าวเรียกว่า GATEWAY มีผู้เข้าร่วม 100 คน ทุกคนเป็นโรคอ้วนประเภท 2 ซึ่งมีค่าดัชนีมวลกาย BMI สูงกว่า 36.9 มีความดันโลหิตสูง และใช้ยาอย่างน้อย 2 ชนิดเพื่อควบคุม โดยแบ่งกลุ่มที่จะได้รับการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักแบบบายพาส (Gastric Bypass) และกลุ่มสุ่มให้รับยาลดความดันโลหิต 

เป้าหมายการศึกษาคือ การลดยาของผู้เข้าร่วมลงอย่างน้อย 30% ในขณะเดียวกันก็รักษาความดันโลหิตให้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ 140/90 mmHg 

การศึกษาดังกล่าวใช้เวลา 5 ปี พบว่าผู้ที่ได้รับการผ่าตัดลดความอ้วน มีค่าดัชนีมวลกาย BMI ลดลงอยู่ที่ 28.01 ในขณะที่ผู้ที่รับประทานยาเพียงอย่างเดียวมีค่าดัชนีมวลกายอยู่ที่ 36.40 

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่ได้รับการผ่าตัดมีปริมาณยาที่ใช้ยาลดลง 80.7% ในขณะที่ผู้ที่ได้รับยามีปริมาณยาลดลงเพียง 13.7% 

การศึกษานี้ยังระบุว่า 46.9% ของผู้ที่ได้รับการผ่าตัดสามารถบรรเทาอาการความดันโลหิตสูงได้อย่างสมบูรณ์ และไม่จำเป็นต้องใช้ยาใดๆ เพื่อควบคุมความดันโลหิตอีกต่อไป และมีเพียง 2.4% ของผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่ใช้ยาเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่เข้าสู่ระยะบรรเทาอาการ

ด้าน นพ.เมียร์ อาลี ศัลยแพทย์และผู้อำนวยการด้านการแพทย์ MemorialCare Surgical Weight Loss Center ในแคลิฟอร์เนีย อธิบายว่า การผ่าตัดลดความอ้วนให้ผลในระยะยาวที่ดีที่สุดสำหรับการลดน้ำหนัก เพราะทำให้สุขภาพดีขึ้น โดยเฉพาะการลดความดันโลหิต ลดความเสี่ยงเบาหวาน และโรคอื่นๆ 

อย่างไรก็ตาม พญ.นิโคล ไวน์เบิร์ก แพทย์ด้านหัวใจจากศูนย์สุขภาพ Providence Saint John's ในแคลิฟอร์เนีย ตั้งข้อสังเกตว่าหลายสิ่งที่ช่วยลดน้ำหนักได้ นอกเหนือไปจากการผ่าตัด และการใช้ยา สิ่งนั้นคือการออกกำลังกาย

“การออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่ดีจะช่วยเพิ่มไนโตรกลีเซอรีนตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นสารขยายหลอดเลือดได้ สิ่งนี้ทำให้หลอดเลือดของคุณขยายและลดความดันโลหิตของคุณ” ไวน์เบิร์ก อธิบาย พร้อมเสริมว่าการทำสวนก็ช่วยได้เช่นกัน โดยเฉพาะกับคนอายุ 60 ปี ทีงานทำสวนเล็กๆ น้อยๆ ครั้งละ 30 นาที จะช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจวายได้ 30% 

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่แพทย์แนะนำคือการตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี พร้อมกับให้ความสำคัญกับการกินอาหาร หากกินอาหารทอด เครื่องดื่มหวาน น้ำตาลเยอะ ก็เท่ากับเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวาน ซึ่งการหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ และลดการดื่มแอลกอฮอล์ เลิกสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยปรับสมดุลให้กับร่างกายเพื่อให้มีรูปร่างที่เหมาะสมได้ตามธรรมชาติ 

รวมไปถึงการทำสมาธิในแต่ละวัน ก็จะมีส่วนช่วยในการควบคุมความดันโลหิตในร่างกาย โดยเฉพาะการทำสมาธิประมาณ 2-3 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 30 นาที ซึ่งร่างกายจะตอบสนองทางกายภาพเมื่อทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งส่งผลช่วยให้ความดันโลหิตลดลง 

อ้างอิงจาก

https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0735109723082086?via%3Dihub

https://www.healthline.com/health-news/bariatric-surgery-lower-blood-pressure