ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สป.สธ. ร่อนหนังสือถึง ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด แจ้งมติ อ.ก.พ.สป.สธ. อนุมัติหลักสูตร ‘แพทย์ประจำบ้าน’ 13 สาขา ลาเรียนเหมือนปฏิบัติราชการ – เลื่อนเงินเดือนได้ พร้อมเปิดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการดำเนินการ


นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปฏิบัติราชการแทนปลัด สธ. ลงนามในหนังสือเรื่อง “การกำหนดหลักสูตรลาศึกษาของแพทย์ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ถือว่าเป็นการไปปฏิบัติราชการ” ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ลงวันที่ 6 ก.พ. 2567 เพื่อแจ้งการอนุมัติหลักสูตรลาศึกษาแพทย์ประจำบ้านจำนวน 13 สาขา 

สำหรับใจความสำคัญของหนังสือระบุว่า ที่ประชุม อ.ก.พ.สป.สธ. ครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 ได้มีมติอนุมัติหลักสูตรลาศึกษาแพทย์ประจำบ้าน จำนวน 13 สาขา ที่มีสถาบันที่เป็นหน่วยฝึกในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สังกัด สป.สธ. ให้เป็นสาขาที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของ สป.สธ. และให้ถือว่าแพทย์ที่ลาศึกษาในหลักสูตรนั้นๆ ไปปฏิบัติราชการ ตลอดจนสามารถนำผลงานจากการลาศึกษามาประกอบการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนได้

ทั้งนี้ 13 สาขา ประกอบด้วย 1. เวชศาสตร์ครอบครัว 2. เวชศาสตร์ฉุกเฉิน 3. อาชีวเวชศาสตร์ 4. ศัลยศาสตร์ 5. วิสัญญีวิทยา 6. เวชศาสตร์ฟื้นฟู 7. สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา 8. กุมารเวชศาสตร์ 9. อายุรศาสตร์ 10. ออร์โธปิดิกส์ 11. อายุรศาสตร์โรคไต 12. อายุรศาสตร์โรคระบบหายใจและภาวะวิกฤตระบบหายใจ และ 13. อายุรศาสตร์โรคหัวใจ 

ในส่วนของหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ประกอบด้วย 1. แพทย์ที่ลาศึกษาเพิ่มเติมต้องมีคุณสมบัติ ได้แก่ พ้นจากการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการแล้ว ในกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ข้าราชการที่ยังอยู่ระหว่างการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการไปศึกษาเพิ่มเติม ให้กระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติเป็นการเฉพาะรายจากผู้มีอำนาจอนุมัติ

รวมถึงมีเวลากลับมาปฏิบัติราชการหลังการศึกษาเสร็จแล้ว เพียงพอที่จะชดใช้ได้ครบก่อนเกษียณอายุราชการ และผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ผู้อำนวยการหรือเทียบเท่าขึ้นไป รับรองว่าเป็นผู้มีความประพฤติดีและตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการ ส่วนในกรณีเคยได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาเพิ่มเติม จะต้องกลับมาปฏิบัติราชการแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี

2. ต้องทำสัญญาตามระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่กระทรวงการคลังกำหนด 3. จัดทำคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการทุกกรณี ดังนี้ กรณีภายในโรงพยาบาล เสนอผู้อำนวยการโรงพยาบาลลงนาม กรณีภายในจังหวัด เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดลงนาม กรณีข้ามจังหวัดภายในเขต เสนอผู้ตรวจราชการ สธ. ลงนาม กรณีข้ามเขตสุขภาพ จังหวัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ สป.สธ. ดำเนินการ

4. การขอลาออกระหว่างลาศึกษา/ขอลาออกจากราชการ กรณีลาออกระหว่างลาศึกษา เหตุเกิดจากเจ็บป่วยหรือพิการ หรือมีเหตุอันสมควรอื่นและหัวหน้าหน่วยงานที่ข้าราชการผู้นั้นปฏิบัติราชการพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สามารถที่จะศึกษาต่อไปได้ให้ดำเนินการส่งตัวกลับหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อดำเนินการตามแนวทางการจัดสรรพื้นที่เพื่อรองรับแพทย์พี่เลี้ยงประจำบ้านที่ลาออกจากโครงการ และกรณีอื่นๆ 

กรณีขอลาออกจากราชการ ในช่วงระหว่างลาศึกษาด้วยเหตุอื่นๆ ให้หัวหน้าหน่วยงานที่ข้าราชการผู้นั้นปฏิบัติราชการส่งตัวกลับและให้หัวหน้าส่วนราชการต้นสังกัดพิจารณาอนุญาตให้ออกจากราชการ

5. กรณีการถูกลงโทษทางวินัย กรณีอยู่ระหว่างลงศึกษาต้องไม่ถูกสั่งลงโทษทางวินัย ตั้งแต่ตัดเงินเดือนขึ้นไปในความผิดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ หากพบว่ามีการกระทำผิดวินัยให้ดำเนินการส่งตัวข้าราชการคนนั้นกลับหน่วยงานต้นสังกัดและให้หัวหน้าหน่วยงานต้นสังกัดเป็นผู้พิจารณาการดำเนินการมีคำสั่งลงโทษทางวินัยต่อไป

6. กรณีอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญไปศึกษาเพิ่มเติม ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัยในประเทศ 

7. กรณีที่มีปัญหาในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์นี้ ให้ดำเนินการหารือ สป.สธ. เป็นการเฉพาะกรณี     

อ่านหนังสือ และหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการดำเนินการฉบับเต็ม ได้ที่นี่ : หนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ สธ 0208.05/ว 1366 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 เรื่อง การกำหนดหลักสูตรลาศึกษาของแพทย์ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ถือว่าเป็นการไปปฏิบัติราชการ, หลักเกณฑ์ วิธีการ ให้ขรก. ลาศึกษา