ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

The Coverage กางข้อมูลคาดการณ์พยากรณ์ 'โรคที่ต้องเฝ้าระวัง' ในปี 2567 ซึ่งเป็นสถานการณ์สุขภาพที่สำคัญ จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญให้กับประชาชน สถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับ ที่จะต้องจับตา และเตรียมตัวดูแลสุขภาพตัวเอง รวมถึงสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้เตรียมตัวรับมือป้องกัน และวางแผนดูแลสุขภาพให้กับประชาชน

สำหรับโรคที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2567 ซึ่งกรมควบคุมโรคระบุว่ามีทั้งหมด 12 โรค โดยแต่ละโรคมีรายละเอียด ดังนี้

1. โรคมือเท้าปาก ในปี 2567 กรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่ารูปแบบของการระบาด และจำนวนผู้ป่วยจะไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีผู้ป่วยติดเชื้อโรคมือเท้าปาก ประมาณ 61,470 คน ซึ่งปี 2566 มีผู้ป่วยจำนวน 64,115 คน มีผู้เสียชีวิต 1 คน

คำแนะนำ - ผู้ป่วยส่วนใหญ่ของโรคมือเท้าปาก คือ เด็กเล็กที่อยู่ในชั้นวัยเรียนในระดับอนุบาล ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็มีโอกาสป่วยได้เช่นกัน ซึ่งกรมควบคุมโรค แนะนำการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลจะช่วยได้ โดยให้หมั่นล้างมือ ไม่คลุกคลีหรือใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น รวมถึงหลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัด คนพลุกพล่าน

ขณะเดียวกัน ครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และครูโรงเรียนอนุบาล ควรคัดกรองเด็กทุกคนในทุกวัน หากพบมีเด็กป่วยให้แยกเด็กออกจากกลุ่ม และแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ทันที ซึ่งผู้ปกครองก็ควรคัดกรองบุตรหลานด้วยเช่นกัน 

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก (เฉพาะสายพันธุ์ EV71) ซึ่งรับบริการฉีดวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลเอกชน และต้องชำระเงินเอง


2. โรคหัด ในปี 2567 คาดการณ์ผู้ป่วยจำนวน 1,089 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีผู้ป่ว 611 คน และไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่กลุ่มผู้ป่วยยังคงเป็นเด็กวัยเรียน รวมถึงผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน

คำแนะนำ - หากมีไข้ ผื่น ร่วมกับอาการไอ มีน้ำมูก หรือตาแดง ให้รีบไปพบแพทย์ หากวินิจฉัยแล้วเป็นโรคหัด ให้หยุดเรียน หยุดทำงาน หลีกเลี่ยงการเดินทางไปที่สาธารณะ และสถานที่แออัดอย่างน้อย 4 วัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ นอกจากนี้ ให้สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคหัด (MMR) ซึ่งเป็นวัคซีนที่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเข็มแรกควรได้รับเมื่ออายุตั้งแต่ 9-12 เดือน เข็มที่สอง เมื่อเด็กอายุ 1 ปีครึ่ง หรือหากไม่เคยรับวัคซีนเลย สามารถขอรับวัคซีนได้เช่นกันที่สถานพยาบาลของรัฐ


3. โรคฝีดาษวานร ปี 2567 คาดว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสูงสุดในช่วงเดือน ต.ค.นี้ โดยจะมีผู้ป่วยประมาณ 394 คน ซึ่งลดลงจากปีที่ผ่านมาที่พบผู้ป่วย 689 คน มีผู้เสียชีวิต 4 ราย

คำแนะนำ - หลีกเลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับคนแปลกหน้า และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง เช่น เปลี่ยนคู่นอนหลายคน เป็นต้น

หากมีผื่น ตุ่ม เกิดขึ้นบริเวณร่างกาย ควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะประชาชนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ


4. โรคไข้ดิน ในปี 2567 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 3,400 คน ซึ่งลดลงจากปี 2566 ที่มีผู้ป่วย 4,092 คน

คำแนะนำ - กลุ่มเสี่ยงคือเกษตรกร ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากทำการเกษตรควรสวมรองเท้าบู๊ท ถุงมือยางโดยเฉพาะเมื่อต้องสัมผัสดินและน้ำ ทั้งการย่ำน้ำ ลุยโคลน ทำสวน ทำไร่ หรือแม้แต่ปลูกผัก ควบคู่ไปกับการดื่มน้ำสะอาดบรรจุขวด

เมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น ไม่ไข้ หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาในทันที


5. โรคฉี่หนู ปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วย 2,800 คน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศ หากไม่เกิดเป็นวงกว้างและไม่กระทบเป็นเวลานาน โอกาสแนวโน้มผู้ป่วยจะลดลง แต่ยังคงพบผู้ป่วยได้ในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือน พ.ค.-ต.ค.นี้

คำแนะนำ - หากย่ำน้ำ ลุยโคลน ต้องสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ท ถุงมือยาง เมื่อกลับถึงบ้านให้รีบล้างมือ อาบน้ำ หรือทำความสะอาดร่างกาย

หากมีไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่บริเวณน่องขา หรือโคนขา หลังลุยน้ำ 1-2 สัปดาห์ ให้รีบพบแพทย์ทันที


6. โรคไข้หูดับ ปี 2567 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 432 คน ซึ่งแนวโน้มจะลดลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่งพบผู้ป่วย 581 คน เสียชีวิต 29 คน อย่างไรก็ตาม โรคไข้หูดับจะระบาดมากขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.นี้

คำแนะนำ – หากทำงานเกี่ยวข้องกับหมู หรือชิ้นส่วนหมูสด ต้องสวมถุงมือยาง รองเท้าบู๊ท และต้องทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังสัมผัสหมู

ขณะเดียวกัน ให้รับประทานเฉพาะเนื้อหมูที่ปรุงสุก และเลือกซื้อหาจากแหล่งที่เชื่อถือได้

หากมีไข้ มีอาการสับสน คอแข็ง หูหนวกฉับพลันหรือแม้แต่การได้ยินลดลงเฉียบพลัน ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที


7. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ปี 2567 คาดว่าโรคจะระบาดอย่างหนัก และจะพบผู้ป่วยเพิ่มสูงสุดในช่วงเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งปี 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยสะสม 758 คน จำนวนนี้เป็นหญิงตั้งครรภ์ 41 คน ส่งผลให้ลูกที่คลอดมามีศีรษะเล็กมากถึง 13 คน

คำแนะนำ – ไวรัสซิกามียุงเป็นพาหะนำโรค แนะนำให้ผู้ป่วยทายากันยุง จุดยาไล่ยุง นอนในมุ้งหรือในห้องที่มีมุ้ง หลีกเลี่ยงแหล่งยุงชุกชุม

ให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้าน ชุมชน เป็นประจำทุกสัปดาห์ เช่น คว่ำหรือทำลายภาชนะขังน้ำ แก้ว ยางรถยนต์ กะลามะพร้าว แจกัน รวมถึงภาชนะอื่นๆ


8. โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา ปี 2567 สถานการณ์การะบาด ยังขึ้นอยู่กับการป้องกันตนเองของประชาชนในภาพรวมทั้งประเทศ โดยพาะการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยในปี 2566 มีผู้ป่วยสะสม 1,389 คน อัตราเฉลี่ยจะพบผู้ป่วย 2.1 คนต่อแสนประชากร และเพศหญิงมีโอกาสป่วยมากกว่าเพศชาย

คำแนะนำ – สำหรับโรคชิคุนกุนยา มีคำแนะนำเหมือนกับโรคติดเชื้อไวรัสซิกา คือ แนะนำให้ผู้ป่วยทายากันยุง จุดยาไล่ยุง นอนในมุ้งหรือในห้องที่มีมุ้ง หลีกเลี่ยงแหล่งยุงชุกชุม

รวมไปถึงยังให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้าน ชุมชน เป็นประจำทุกสัปดาห์ เช่น คว่ำหรือทำลายภาชนะขังน้ำ แก้ว ยางรถยนต์ กะลามะพร้าว แจกัน รวมถึงภาชนะอื่นๆ ด้วยเช่นกัน


9. โรคซิฟิลิส ในปี 2567 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 17,273 คน สูงกว่าปี 2566 ที่พบผู้ป่วย 11,631 คน

คำแนะนำ – ลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์หรือมีคู่นอนมากกว่า 1 คนขึ้นไป มีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า เปลี่ยนคู่นอนบ่อย เป็นต้น

หากพบว่าตนเอง หรือคู่นอนมีแผลบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ลักษณะแผลสะอาด ไม่มีอาการเจ็บ ก้นแผลแข็งคล้ายกระดุม หรือมีอาการอื่น เช่น ผื่นแดงที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ขึ้นเป็นรอยนูนมีสะเก็ดแต่ไม่คัน ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองและรับการรักษา

นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ทุกราย ที่ฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ ควรพาสามี หรือคู่ครอง ไปตรวจคัดกรองหาเชื้อซิฟิลิส เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปสู่ทารกในครรภ์


10. โรคหนองใน ปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วย ประมาณ 7,254 คน ซึ่งลดลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่งพบผู้ป่วย 11,631 คน ซึ่งการระบาดคาดว่าจะเพิ่มสูงในช่วงเดือน ม.ค. นี้ จากนั้นจะลดลงไปเรื่อยๆ

คำแนะนำ – หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

หากพบว่ามีอาการโรคหนองในให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อทานยาจนครบตามแผนการรักษา และป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อ ขณะที่คนที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยหนองในภายใน 60 วันก่อนที่จะพบว่าคู่นอนมีอาการ ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจและรักษาแบบเดียวกัน

ทั้งนี้ หลังครบตามแผนการรักษาของแพทย์แล้ว ให้งดการมีเพศสัมพันธ์ต่อไปอีกอย่างน้อย 7 วัน


11. โรคเอชไอวี/เอดส์ สำหรับสถานการณ์โรคพบว่าประเทศไทยมีแนวโน้มผู้ป่วยที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ยังพบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตอยู่อีกจำนวนมาก โดยคาดว่าจะมีผู้ป่วย 9,366 คนที่เพิ่มขึ้น และยังจะมีผู้ป่วยสะสมเสียชีวิตอีกประมาณ 10,014 คน

คำแนะนำ – แม้ว่าคู่นอนจะมีความเสี่ยงติดเชื้อ แต่หากใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งจะลดความเสี่ยงและป้องกันการติดเชื้อได้

สำหรับยาป้องกันการติดเชื้อ ควรได้รับคำแนะนำการใช้อย่างถูกต้องจากแพทย์ หรือขอรับคำปรึกษาในการใช้จากสถานพยาบาลทั้งของรัฐ และของภาคประชาสังคมได้ทุกแห่ง ซึ่งยาป้องกันการติดเชื้อควรใช้อย่างเคร่งครัด

หากมีความเสี่ยง สามารถขอรับการตรวจหาเชื้อได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ปีละ 2 ครั้ง หากพบว่าติดเชื้อจะได้รับการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ในส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ฝากครรภ์ จะได้รับการตรวจหาเชื้อทุกราย ซึ่งหากพบว่าติดเชื้อจะได้รับยาป้องกันการแพร่เชื้อสู่ทารกในครรภ์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเช่นกัน


12. โรควัณโรค ปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วย ประมาณ 82,759 คน ซึ่งแนวโน้มจะพบผู้ป่วยรายใหม่ และผู้ป่วยกลับมาป่วยซ้ำเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่พบผู้ป่วยวัณโรค จำนวน 78,824 คน

คำแนะนำ – สำหรับผู้ที่มีอาการไอติดต่อกันนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ รวมถึงไอแบบมีเสมหะปนเลือด และน้ำหนักลดลง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยด่วน และต้องกินยาอย่างสม่ำเสมออย่างเคร่งครัด

หากพบว่ามีผู้ป่วย สมาชิกในครอบครัวที่พักอาศัยร่วมกัน หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู่ป่วย ควรได้รับการตรวจโดยแพทย์ด้วยเช่นกัน

ขณะที่ประชาชนทั่วไป ควรตรวจร่างกายด้วยการเอกซเรย์ปอด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง